พวก ‘ลิ่วล้อ’ คสช. ยื้อกันใหญ่ ‘กฎหมาย’
ไม่มียอ ไหนจะประธาน ปปช. ยืดเวลาประกาศให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปอีก
๖๐ วัน ส่วนทั่นเลขาฯ แนะเลือกตั้งไม่ต้อง ๒๔ ก.พ.ก็ได้
เลยเข้าทาง ‘ลูกไล่’
ที่ไปตั้งพรรคการเมืองรอเสริมบารมีหัวหน้ารัฐประหาร อย่างไพบูลย์
นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป “เด้งรับเลื่อนเลือกตั้ง
ด้วยเหตุผลความไม่พร้อมของพรรคการเมืองบางพรรค”
เป็นอันว่าเรื่องให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องแจ้งรายการทรัพย์สิน
ที่มีนักบริหารสถานศึกษาประกาศลาออกกันมากมาย ทำให้ ปปช. ผู้ออกประกาศระส่ำนั้น พล.ต.อ.วัชรพล
ประสารราชกิจ สรุปแล้ว
“เบื้องต้นจะขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายที่จะมีผลในวันที่
๒ ธ.ค.นี้ ออกไปอีกอย่างน้อย ๖๐ วัน
จะได้มีเวลาเหลือเฟือให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์จะลาออกได้เตรียมตัว”
และ “ได้มีเวลาคิดว่าจะอยู่ต่อหรือไม่”
ว่าไปเรื่อยเปื่อย
ในเมื่อไอ้การจะลาออกไม่เห็นมีอะไรต้องเตรียมตัวนักหนา แท้จริงเป็นเรื่องมั่วซั่วของ
ปปช. ที่ คสช.ตั้งนั่นเองต่างหาก สำคัญตนผิดว่าเป็นลูกมือเผด็จการแล้วกลายเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์วิเศษกันไปด้วย
(เหมือนที่ ปณิธาน วัฒนายากร อวดกึ๋นปล่อยไก่ว่าประเทศยุโรปที่เจ้านายของเขาไปร่วมประชุมครั้งนี้มีจำนวนเกือบร้อย
ทั้งที่ในยุโรปมีเพียง ๕๐ ประเทศ และการประชุมคราวนี้มีอีก ๒๐ประเทศจากอาฟริกามาร่วม)
ประธาน ปปช.อ้างว่าตามกฎหมาย ปปช.ใหม่ไม่เหมือนฉบับปี
๒๕๔๒ เดิมที่เคยใช้ คราวนี้ ปปช.ไม่มีอำนาจระบุว่าจะให้ใครบ้างแสดงบัญชีทรัพย์สิน
จึงเพียง “ประกาศให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดมาแสดงบัญชีทรัพย์สิน”
แต่กับกรณีสมเด็จพระสังฆราช ปปช.
กลับสามารถวินิจฉัยได้เองเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า “ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ
ป.ป.ช. เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์”
ถึงอย่างนั้นก็ตาม มีคนเสนอความเห็นไว้น่าฟังว่า
“ควรให้ท่านยื่นครับ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม
ผมเชื่อว่าหากคนไทยได้เห็นบัญชีทรัพย์สินของท่าน
จะมีความศรัทธาในตัวท่านมากยิ่งขึ้นครับ” (จากทวี้ต Wiroj @wirojlak)
เว้นแต่ถ้า
ปปช.บอกว่าศรัทธาในองค์สมเด็จพระสังฆราชมีมากพอแล้ว ไม่ต้องเพิ่มก็ได้ ก็คงโอเคเนอะ
ตานี้ถึงทีทั่นเลขาฯ บ้าง พูดถึงกำหนดวันเลือกตั้งที่
กกต.คำนวณตามโร้ดแม็พไว้ว่า จะสามารถจัดขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์
ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ แล้วตลอดจะสองเดือนที่ผ่านมาใครๆ
ก็หวังว่าจะเป็นวันที่ ๒๔ กุมภาแน่
ถึงวันนี้ไม่แน่เสียแล้ว พ.ต.อ.จรุงวิทย์
ภุมมา บอกว่า “วันที่ 24 ก.พ.62 ไม่ใช่วันเลือกตั้ง แต่เป็นวันที่สำนักงาน
กกต.มีความพร้อมที่จะจัดเลือกตั้ง ส่วนจะเลือกตั้งวันไหนต้องรอ กกต.หารือกับ คสช.”
อ๊ะ ไหงย้อนแย้งวกวนเสียอีกล่ะ ในเมื่อ
กกต.คำนวณเอาไว้แล้ว ยังจะดันให้ไปหารือกับ คสช.อีก ในเมื่อนายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมาย
คสช. เองแย้มแล้วว่าคนกำหนดวันเลือกตั้งคือ กกต.
“เมื่อวันนี้ กกต.บอกว่าพร้อม* แต่หากคนอื่นบอกว่าไม่พร้อมก็ต้องไปพิจารณา โดยไม่ใช่เป็นเรื่อง คสช.” (แต่กับประเด็นแจ้งบัญชีทรัพย์สิน
นายวิษณุดันว่า “เป็นเรื่องจุกจิกน่ารำคาญ” เสียนี่)
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ก็พูดไว้ชัด
(เมื่อ ๑๑ พ.ย.) เรื่องการรับรองพรรคการเมืองขณะนี้เหลือเพียง ๑๒ พรรค กกต.จะเร่งทำงานอย่างเต็มที่
“ขอยืนยันด้วยว่าสำนักงาน กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ อย่างแน่นอน”
(https://www.prachachat.net/politics/news-248467D8hYQLm8 และ *https://www.matichon.co.th/politics/news_1221941)
กระนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยังดันทุรังเก็บเอาคำของเลขาฯ กกต.ที่เคยชี้ว่าวันที่
๒๔ กุมภาเป็นเพียงไทม์ไลน์ว่า กกต.จะพร้อมจัดการเลือกตั้งในวันนั้น มากวนกระแส ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ว่า
“ไม่เป็นปัญหา...ที่ผ่านมาทราบข่าวอย่างต่อเนื่องว่าวันที่
๒๔ ก.พ. จะไม่มีการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลของความไม่พร้อมของพรรคการเมือง”
ไหนว่าพรรคของตนเองพร้อมแล้ว
เตรียมส่งผู้สมัครครบ ๓๕๐ เขต ก็ไม่จำเป็นต้องห่วงพรรคอื่นๆ ฤๅว่านายไพบูลย์รู้อะไรดี
ได้เบาะแสมาจากวงในของคนที่ตนเตรียมสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อีก หลังเลือกตั้ง
จึงได้ตั้งข้อสังเกตุเหมือนนายจตุพร พรหมพันธุ์