ไม่ค่อยจะน่ายินดีนักนะกะ ว.วชิรเมธี
ที่ได้เป็น อุปถัมภกของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
เพราะมันมาพร้อมกับรอยเปื้อนทางมโนธรรมในอดีตของท่าน
แต่ที่ยินดีแน่ๆ ก็จดหมายตอบจากแผนกกิจการภายนอกของสหภาพยุโรปต่อองค์กรปฏิบัติการเพื่อประชาธิปไตยของประชาชน
ว่า อียู ต้องการเห็นประเทศไทยมีเลือกตั้ง ยกเลิกข้อจำกัดต่อกิจกรรมทางการเมือง
เปิดให้มีเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ทั้งทางด้านสิทธิมนุษยชนและการแสดงความคิดเห็น
(ต่าง)
จดหมายลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน จากนายเดวิด
เดลี่ ในนามประธานสมัชชายุโรป ดอแนลด์ ทัสค์ ถึง น.ส.จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ในฐานะตัวแทนองค์กร Action for People’s Democracy ระบุว่า
ทั้งในการประชุม ASEM
12 Summit และในที่ประชุมผู้นำยุโรป-อาเซียน ประธานฯ ทัสค์
เน้นการปกป้องหลักการและคุณค่าอันเป็นกุญแจสำคัญ ดังเช่นการเคารพต่อประชาธิปไตย
สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม พร้อมทั้งการร่วมอยู่ในสังคมที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ
จดหมายยังยกเอาข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการต่างประเทศอียูเมื่อปลายปี
๒๕๖๐ มาย้ำอีกครั้งว่า ประเทศไทยต้องรื้อฟื้นคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย ผ่านทางการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเปิดกว้าง
โดยเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน
ในครั้งนั้นสมัชชาแจ้งต่อประเทศไทยอย่างเจาะจงว่าจะคอยจับตาดูความประพฤติในเรื่อง
ยกเลิกข้อจำกัดในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น การสื่อสาร
เช่นเดียวกับเสรีภาพในการชุมนุมและการมีส่วนร่วม
ทั้งยังขอให้ยกเลิกข้อจำกัดต่อพรรคการเมือง การจัดตั้งองค์กรประชาสังคม
กับให้เกียรติและสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน
จดหมายทางการของอียูเผยด้วยว่าในการพบปะระหว่างนางเฟรเดอริกา
โมเกอรินี รองประธานด้านสิทธิมนุษยชนของอียูกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย เมื่อวันที่ ๕
มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยอีกครั้งให้เร่งจัดการเลือกตั้งและยุติการตั้งข้อจำกัดควบคุมต่อพรรคการเมือง
(ซึ่งสาธารณชนไทยไม่เคยได้ทราบเรื่องนี้จากปากของ
รมว.ต่างประเทศเลย มีแต่คำโฆษณาชวนเชื่อของกระทรวงต่างประเทศว่า
นานาชาติล้วนกระตือรือล้นจะร่วมมือกับรัฐบาลทหารไทยในโครงการระเบียงตะวันออก หรือ
อีอีซี)
อีกครั้งในการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกับอียูในกรุงเทพฯ
เมื่อ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
ทางฝ่ายอียูกระตุกไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดเลือกตั้งที่โปร่งใสและเปิดกว้าง
เพื่อจะได้กลับไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสียที
เช่นกัน ในครั้งนี้ทางฝ่ายอียูได้ย้ำว่าควรที่จะยกเลิกข้อจำกัดต่อพรรคการเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่
ซึ่ง คสช.คงยื้อไว้ไม่ปล่อย (ดังเช่นการปลดล็อคพรรคการเมือง)
กับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่มชุมนุม
แต่สิ่งที่ประชาชนไทยได้รับทราบจากปากของ
รมว.ต่างประเทศมีแต่การโกหกว่านานาประเทศเรียงหน้าจากจะพบกับหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้ารัฐบาลมาแล้วเกือบห้าปี
มิหนำซ้ำล่าสุดในการประชุมร่วมของประเทศยุโรป
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายปณิธาน วัฒนายากร กลับโฆษณาชวนเชื่อให้แก่
คสช.อย่างเกินจริงด้วยข้อมูลผิดๆ อีกว่าประเทศยุโรปเกือบร้อยชื่นชมรัฐบาลคณะรัฐประหารไทย
ทั้งที่ประเทศในยุโรปมีเพียงจำนวน ๕๐
กระนั้นก็ดี
เกียรติที่บุคคลากรไทยได้รับจากองค์การระหว่างประเทศ
เช่นสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ
ยังพอมีให้ได้แสดงการชื่นชมกันบ้าง เมื่อมีข่าวว่าจะมีการถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ
และเมตตาธรรม แก่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)
จะมีการจัดงานมุทิตาจิตพร้อมสัมภาษณ์พิเศษที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
กรุงเทพ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายนนี้ สดุดีผลงาน “ในการสร้างการรับรู้ ระดมทุน
และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักคำสอนทางพุทธศาสนาต่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย”
การนี้จะ
“มีนักแสดงสาว ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทย
ร่วมแสดงความยินดี” อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์
ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน (ประเทศไทย) สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
เปิดเผย
เป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับผู้รับตำแหน่ง
แต่จะน่าชื่นชมแค่ไหนสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบ ว.วชิรเมธี เป็นอีกเรื่อง
ในเมื่อมีรายงานพฤติกรรมในอดีตของพระสงฆ์นักกิจกรรมเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์
และโลกสวยท่านนี้ ที่อาจทำให้แปดเปื้อนต่อภาพลักษณ์นักสิทธิมนุษยชนของท่านไม่มากก็น้อย
ในปี
พ.ศ.๒๕๕๓ ระหว่างมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง
รัฐบาลขณะนั้นได้ใช้กำลังทหารและกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมของฝ่าย นปช.
ว.วชิรเมธี ได้แสดงตนเข้ากับฝ่ายกำลังของรัฐด้วยการทวี้ตข้อความว่า “@vajiramedhi ว่า ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน”
แนวคิดเดียวกันที่ว่าการฆ่าคนยังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่สุดนี้
ปรากฏในหนังสือ ‘หนึ่งคนตาย ล้านคนตื่น’ ของ ว.วชิรเมธี
ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๕ ด้วยว่า “เราเคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า
การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่อาตมาอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า”
ข้ออ้างของท่านอยู่ที่เมื่อฆ่าสัตว์แล้ว
“ไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ” ได้ แต่ฆ่าเวลาไม่สามารถย้อนกลับให้เวลาหวนคืนมาได้อีก
ทำให้ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อยงุนงงต่อการใช้ตรรกะเช่นนี้ที่ว่า
การปล่อยสัตว์สามารถลบล้างบาปจากการฆ่าสัตว์ได้
ไม่เพียงเท่านั้นรายงานข่าวระบุด้วยว่า “ช่วงใกล้จะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม
๑๐ เม.ย.๒๕๕๓ ที่มีคนตาย ๒๑ คน และในช่วงพฤษภา ๒๕๕๓”
รัฐบาลขณะนั้นเรียกปฏิบัติการนี้ว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับพื้นที่”
ว.วชิรเมธี
ก็ไม่วายมีวาทกรรมเสริมการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.
ว่าการบังคับใช้กฎหมายต้องให้ศักดิ์สิทธิ์
โดย
“กระชับพื้นที่คนเลว ขยายพื้นที่คนดี”