ตายห่ สปริงนิวส์ ‘ข่าวจริงเช็กแล้ว’ เค้าบอกว่า “ส่งออกไทยทรุด
ติดลบครั้งแรกในรอบ ๑๙ เดือน” คือในช่วง ๙ เดือนที่ผ่านมายังดีอยู่ ส่งออกโต ๘
เปอร์เซ็นต์ เพิ่งมาทรุดเดือนนี้ ตกไป ๕ เปอร์เซ็นต์กว่าๆ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์อ้างว่า
เหตุที่ตัวเลขไม่ดีเดือนนี้เพราะฐานข้อมูลเดือนก่อนๆ สูง (ไปหน่อยมั้ง) แถมด้วย ‘สงครามการค้า’ (การแข่งขันหนักไป อีกมั้ง) “รวมทั้งตลาดเกิดใหม่มีปัญหา”
เรื่องฝีมงฝีมือบริหารจัดการไม่เกี่ยว
ละท่า ส่วนที่นายกฯ ไปนั่งเซ่อเด๋อด๋าในการประชุมเอเซ็มที่เบลเยี่ยม
ก็ไม่น่าจะเกี่ยวเช่นกัน เพราะทั่นมัวแต่สาละวนรอผู้นำ ๑๑ ชาติที่ ‘บักดอน’ จัดให้ ต่อคิวเข้าพบ ละมัง
พอกลับถึงบ้านมัวแต่ทักหมา
ไม่ทันได้ดูเรื่องราคาปาล์มน้ำมัน ชาวไร่เขาเตรียมจะยื่นร้องเรียนกันวันสองวันนี้แล้ว
ไหนจะปัญหาองค์การค้าฯ กระทรวงศึกษาหนี้บานเบอะเป็นพันล้าน ค้างค่าพิมพ์ค่ากระดาษ
ต้องปิดศึกษาภัณฑ์ระนาว ยังโดนสหภาพฯ จี้ตรวจสอบ เชื่อไม่โปร่งใสเสียอีก
แน่ๆ แช่น้ำปลา ตอนนี้ทั้งตราปลาหมึกและทิพรส
ถูกสหรัฐแบน “เนื่องจากต้องการให้ไทยตรวจสอบพิสูจน์สารปนเปื้อนจากการหมักน้ำปลา ว่าไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง”
แต่ข่าวว่า “ทางผู้ประกอบการไทยเองมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่”
เพียงแค่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศห่วงว่า
“จะส่งผลต่อร้านไทยในสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าร้าน”
ซึ่งใช้น้ำปลาในการปรุงอาหารเป็นหลัก “ทำให้ตอนนี้หลายแห่งหันไปใช้เกลือแทน
ก็จะเกิดปัญหารสชาติอาหารตามมา”
ตรงนี้เห็นที
สคร.จะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงไปนิดละนะ
เพราะน้ำปลาที่มีจำหน่ายในตลาดปลีกและส่งในสหรัฐ โดยเฉพาะเมืองหลักที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก
รวมทั้ง “จากกัมพูชา เวียดนาม” ดังที่
สคร.อ้าง (แต่ขาดชาวฟิลิปปีนส์ตลาดใหญ่ไปหนึ่งรายนั้น)
ยกตัวอย่างนครลอส แองเจลีส มีน้ำปลาของฟิลิปปีนส์และเวียตนามวางจำหน่ายเกร่อ
ดูจะมีรายการมากกว่าน้ำปลาไทยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะน้ำปลาของเวียตนามยี่ห้อหนึ่งโด่งดังมาก
‘Viet Huong’ นัยว่าเป็น ‘crème’ สุดยอดของน้ำปลา ราคาแพงกว่าใครเพื่อน
ย้อนไปดูข้อมูลของ สคร. ต่อการที่สำนักงาน FDA
สหรัฐ “จัดให้บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จํากัด
เข้าในบัญชี Import Alert # 16-120 และกักกันการนําเข้า”
ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม อ้างว่า
“ละเมิดกฎระเบียบ HACCP
สําหรับสินค้าอาหารทะเล
โดยระบุว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาอาจจะก่อให้เกิดสาร Histamine และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย
clostridium butolinum ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค”
นอกจากนั้นยังมีบริษัทผู้ส่งออกอื่นๆ
อีกหลายรายติดในร่างแห Import Alert ที่ว่านี้ด้วย
ได้แก่ Saigon International (เมื่อปี ๒๕๔๗) Tang
Sang Hah (ผู้ผลิตทิพรส) เมื่อปี ๕๗ สองครั้ง ล่าสุดเป็นบริษัท Thai
Fishsauce Factory ตราปลาหมึก เมื่อ ๒๐ พฤษภา ๖๑
อย่างไรก็ดีนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแสดงความมั่นใจว่าปัญหาจิ๊บจ้อย “อยู่ระหว่างการแก้ไข”
และ “จะสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำปลา” เชื่อว่าในปี
๒๕๖๒ การส่งออกสินค้าประเภทปรุงรสจะขยายตัวที่อัตรา ๕ เปอร์เซ็นต์
โล่งอกไปเปราะ ลุงตู้บหายห่วง
รวมทั้งเรื่องปาล์มน้ำมันราคาตกลิบลิ่วเหลือกิโลละไม่ถึง ๓ บาท ที่ตัวแทนสมาคมชาวสวนปาล์มตรังและกระบี่กำลัง
“จะออกแถลงการณ์ร่วมกันในนามสมาพันธ์ฯ
เพื่อเรียกร้องไปยังพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาแต่เพียงผู้เดียว” คนอื่นไม่เอาสินะ
ว้า แล้วที่หมอวรงค์ (เดชกิจวิกรม
ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) คุยว่า “หากตนได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ก็จะเร่งแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาสินค้าการเกษตร ตกต่ำ เช่น
ยางพาราและปาล์มนำมัน จะต้องดีขึ้น ภายในระยะเวลา ๓ เดือน” นั่นไม่รอเขากันเหรอ
ทั้งที่ นพ.วรงค์ อวดสรรพคุณว่า “ผมมีความซื้อสัตย์สุจริต
ไม่ใช้อำนาจในทางมิชอบ และที่สำคัญผมจงรักภัคดี” เสียด้วยสิ ชาวสวนปาล์มไม่ยักฟัง
เอาแต่บอกว่า
“สาเหตุปัญหาราคาตกต่ำ เชื่อว่าเกิดจากที่รัฐปล่อยมีการทุจริต
ให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มทั้งที่ถูกกฎหมายเพื่อการส่งออก
แต่เชื่อว่าไม่มีการส่งออกจริง และปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มผิดกฎหมาย
ทำให้สต๊อกปาล์มน้ำมันล้นตลาดอยู่ตลอดเวลา”
(https://www.prachachat.net/local-economy/news-237842 และ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1189606)
เช่นเดียวกับกรณีที่สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา
“จะเดินหน้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และ
สกสค.ให้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง
ว่าในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๑ เหตุใดถึงจัดพิมพ์หนังสือล่าช้า
และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบที่ทำให้องค์การค้าฯ สูญเสียรายได้” อันเป็นสาเหตุหนึ่งต่อการที่นายอรรถพล
ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
ออกมาปูดเรื่องหนี้สินขององค์การค้าท่วมหัว
เฉพาะค่าพิมพ์หนังสือและค่ากระดาษทั้งสิ้น
๑,๓๐๐ ล้านบาท ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเดือนละ ๕ ล้านบาท ยังมีรายจ่ายพนักงานทุกเดือนๆ
ละ ๔๐ ล้านบาท ทำให้ต้องหาวิธีแก้ไขด้วยการ “ตัดโควต้าการจัดพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯ
เหลือ ๗๐%”
อีก ๓๐%
ย้ายไปพิมพ์กับจุฬาฯ นอกจากนั้นก็มีการ “ยกเลิกสัญญากับร้านค้าตัวแทน ๑๐๐ แห่งเพื่อเปิดซื้อขายเสรีแทน”
อีกทั้ง “สั่งสำรวจทรัพย์สิน ที่ดิน เพื่อขายลดหนี้
และยุบร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ที่ขาดทุนทั่วประเทศ”
ข้อสำคัญอันทำให้สหภาพฯ เต้น
เนื่องจากความเป็นไปได้ที่จะลดขนาดจำนวนพนักงาน จากที่มีอยู่ ๑,๒๐๐ คน
ดดยคำพูดของผู้ตรวจฯ ว่า “วันนี้องค์การค้าฯ ต้องยึดหลักเอาองค์กรให้รอด
ถ้าเรายึดเอาคนเป็นหลักจนองค์กรล้ม สุดท้ายคนก็ล้ม
ต้องร่วมแรงกายแรงใจกันเพื่อพาองค์กรให้อยู่รอด
ถ้าคิดถึงตัวเองอย่างเดียวองค์กรก็ล้ม”
(https://www.matichon.co.th/education/news_1188453 และ https://www.matichon.co.th/education/news_1189466)