วันศุกร์, ตุลาคม 05, 2561

‘พลังดูด’ อาจจะทน ‘แรงเด้ง’ ไม่ไหว มิน่า ‘พี่ใหญ่ป้อม’ ถึงได้ปัดสวะอย่างไม่ใยดี

ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่แค่สี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ไม่ยอมลาออกเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งของพรรคแล้วเต็มตัว ซึ่งจะเป็นความผิดตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ได้แล้ว

ยังเจอปัญหาหนักกว่า ที่บรรดาสมาชิกในขณะนี้ไม่มีภูมิพอสำหรับได้รับเลือกตั้ง ไม่พอที่จะเป็นสุ้มเสียงใช้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างชนิดเชิดหน้าชูตาได้

ข่าวว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำ สามมิตร ชักเครียด “เนื่องจากการจัดพื้นที่ให้ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ลงตัว” ในเมื่อผู้สมัครมาจากสามกลุ่ม คือส่วนที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไปดูดมา ส่วนที่ทหารจัดให้ และส่วนคนใกล้ชิด

นอกจากเกิดการทับซ้อนของหลายสายแล้ว “ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังเป็นคนที่ไม่มีคะแนนนิยม ทำให้การจัดตัวเป็นไปด้วยความยากลำบาก”


ไพร่พลจาก สามมิตรที่นายสุริยะจัดให้ แจ้งผ่านทางโฆษกของกลุ่มว่าจะเกณฑ์มาเข้า พปชร. อาทิตย์หน้า แม้จะอ้างจำนวนถึง ๗๐ ก็ล้วนเป็นบุคคลากรคุณภาพทางการเมืองต่ำ ในบรรดาอดีต ส.ส. ราว ๓๐ คน จำนวนมากสอบตกในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไม่เช่นนั้นก็เป็นประเภท น้ำยาเหือด ไปกันเสียแล้ว

เวลานี้ทำท่าว่า พลังดูด อาจจะทน แรงเด้ง ไม่ไหว มิน่า พี่ใหญ่ป้อม ถึงได้ปัดสวะอย่างไม่ใยดี กรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อยากพบเพื่อเคลียร์อะไรบางอย่าง

“จะมาพบผมเรื่องอะไร ทำไมจะต้องมาเคลียร์กับเราวะ เขาพูดไปเองล่ะสิ” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกอาการ “ไปเจอกันข้างนอกเจอกันตามงานต่างๆ อย่างนี้ได้ แต่ไม่มีนัดกินข้าว” ข่าว Wassana Nanuam เพิ่มเติมด้วยว่าประวิตร “ยืนยันอีกครั้ง ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคพลังประชารัฐ”
 
กระนั้นพวกสี่รัฐมนตรีในพลังประชารัฐก็ยังปากกล้าโต้เสียงครหาเรื่อง มารยาท ที่สวมหมวกสองใบพร้อมกัน เป็นทั้งรัฐบาลผู้จัดเลือกตั้งและนักการเมืองที่เข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง คงจะเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เองพยายามกะเตงสุดฤทธิ์

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรค พปชร.เพิ่งไปยื่นหนังสือขอจดทะเบียนตั้งพรรคเมื่อ ๔ ตุลา แต่มั่นใจว่าจะได้รับการรับรองจาก กกต. อย่างรวดเร็วทันเวลา (ไม่เหมือนพรรค เกียนที่ต้องรอนานหน่อยเพราะไหนชื่อเดิมจะก๊วน กวน แล้วยังแต่งกายไม่สุภาพ)

ต่อข้อครหา โดยเฉพาะจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยข้ออ้างเป็นเพียงผู้บริหารพรรคไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. “เป็นการหลีกเลี่ยงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่จุดเสื่อมทางการเมือง” นั้น
 
นายอุตตมไม่ยี่หระ อ้างขณะนี้การเลือกตั้งยังไม่เกิด ก็จะทำงานต่อเนื่อง “ไม่ลาออก...ใครอยากสอดส่องหรือตรวจสอบก็สามารถทำได้เลย” เช่นกันกับอีกสองรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าที่โฆษกพรรค

ทั้งคู่ยันอย่างเดิม “เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเอง” โดยกอบศักดิ์เติมหัวกะทิให้ด้วยว่า “อย่ากังวลใจ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะลาออกพร้อมกันทั้งสี่คน” เลย


เรื่องมารยาท ใครว่าอย่างไรไม่ฟังตามอย่างนาย คสช. แต่กับการละเมิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญที่ คสช. เขียนไว้เอง ทำไม่รู้ไม่ชี้ได้อย่างไร ดังระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๓ มาตรา ๒๖๔ และมาตรา ๒๖๕ ชัดเจน

“คือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปฏิบัติดังนี้...

จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”


หมายความว่า ถ้าใครก็ตามในแม่น้ำสี่สาย รวมทั้งสี่รัฐมนตรี จะลงรับเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  ทั้งแบบ ส.ส.เขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เท่านั้น

แม้นว่ารัฐมนตรีทั้งสี่จะไม่ตั้งใจลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอนในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ แต่การเข้าไปดำเนินงานการเมืองในพรรคการเมืองพร้อมๆ กับทำหน้าที่ในรัฐบาลที่จัดการเลือกตั้ง ย่อมเข้าข่ายขาดธรรมาภิบาลแน่ๆ

จับพลัดจับผลูหลังเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้เสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่สนับสนุนให้ผ่าน ย่อมหนีไม่พ้นได้เป็นนายกฯ ที่ อัปยศด้วยความหน้าด้านโดยแท้