วันศุกร์, ตุลาคม 26, 2561

คนรุ่นใหม่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก สำคัญไฉน? (มากกว่าที่คุณคิด การเลือกตั้ง 1 ครั้งจะมีผลต่ออนาคตไปหลายปี คนที่จะได้รับผลกระทบจากอนาคตมากที่สุดก็คือคุณนี่แหละ จงออกไปลงเสียงเลือกตั้ง!)





จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter) สามารถกำหนดที่นั่ง ส.ส. ได้ถึง 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ
.
จากกระแสการกำหนดวันสอบ GAT/PAT ตรงกับวันเลือกตั้ง (24 กุมภาพันธ์ 2562) ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ได้นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า กลุ่มผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) นั้นมีความสำคัญแค่ไหนต่อการเมืองไทย
.
-1-
.
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ คือผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง หากวันเลือกตั้งคือ วันที่ 24 ก.พ. 62 จริง หรือ ผู้ที่เกิดวันที่ 23 ก.พ.2544 หรือก่อนหน้านั้น ก็จะมีสิทธิเลือกตั้ง
.
โดยกลุ่มผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) หมายถึง กลุ่มผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่ยังไม่เคยได้เลือกตั้ง และกลุ่มที่จะมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2562
.
จาก ข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ผู้เกิดระหว่างปี 2537-2544 มีจำนวนไม่น้อยกว่า 6,426,014 คน
.
-2-
.
รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน โดยวิธีการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ให้คำนวณจากการนำคะแนนเสียงเลือกตั้งรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของ ส.ส.ทั้งสภา
.
แต่เนื่องจากยังไม่มีการเลือกตั้ง เราจึงตั้งฐานจากฐานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 52,457,500 คน เมื่อนำมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของ ส.ส.ทั้งสภา จะได้ 104,915
.
หรือหมายความว่า ต้องใช้คะแนนเสียงเลือกตั้ง 104,915 เสียง จึงจะได้ ที่นั่ง ส.ส. 1 คน
.
-3-
.
จากจำนวนผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก เราสามารถคำนวณที่นั่ง ส.ส. ได้จาก สมการ "จำนวนคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หารด้วย จำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งสำหรับ ส.ส. 1 คน"
.
หรือ 6,426,014 คน / 104,915 เสียง เท่ากับ 61.25 ที่นั่ง
.
หรือ หมายความว่า คนรุ่นใหม่สามารถเลือกตัวแทนของตัวเองไปนั่งในสภาผู้แทนฯ ได้ถึง 61 คน หรือ คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด หรือ 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ
.
-4-
.
จำนวน ส.ส. ตามจำนวนของผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) เพียงพอต่อ #การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี #การเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย #การเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรี และ #การยื่นถอดถอน ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลัษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญได้


iLaw


Pakpoom Khamchuai การเลือกตั้ง 1 ครั้งจะมีผลต่ออนาคตไปหลายปี คนที่จะได้รับผลกระทบจากอนาคตมากที่สุดก็คือคนรุ่นใหม่นี่แหละ ดังนั้นจะเลือกพรรคไหน คิดให้ดีๆนะครับ ส่วนผู้ใหญ่ จะดูว่าเขารักคนรุ่นใหม่แค่ไหน ดูได้ว่าเขาเลือกพรรคไหน พรรคที่สร้างอนาคตหรือทำลายอนาคต