คนอยากเลือกตั้งทำไม –
ทำไมคนอยากเลือกตั้ง
ชำนาญ จันทร์เรือง
สิ่งที่เยาวชนคนหนุ่มสาวและคนหลากหลายอายุได้รวมตัวกันขึ้นมาเป็นกลุ่ม
'คนอยากเลือกตั้ง' แล้วพากันชุมนุมแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน
2561 และเรียกร้องให้ คสช.ลาออกจากตำแหน่ง คงเหลือเพียงการเป็นรัฐบาลรักษาการ จนถูกดำเนินคดีกันเป็นจำนวนถึง 143 คน (คดีหน้ามาบุญครอง 39 คน, คดีที่ถนนราชดำเนิน
50 คน, คดีหน้ากองทัพบก 47 คน และคดีที่พัทยา 7 คน)
ได้สร้างข้อสงสัยว่า
เหตุใดคนเหล่านี้จึงพากันออกมาเรียกร้อง ทั้งๆ ที่รู้ว่าในที่สุดจะต้องถูกดำเนินคดี
หรือทั้งๆ ที่รัฐบาลบอกแล้วว่าอย่างไรเสียก็จะต้องมีการเลือกตั้งภายในกุมภาพันธ์
2562 อยู่แล้ว
1.การเลือกตั้งคืออะไรและสำคัญอย่างไร
การเลือกตั้งเป็นวิธีการคัดสรรคนเพื่อเข้าไปทำกิจกรรมทางการเมือง
การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative
democracy)
เพราะเราไม่สามารถให้ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยในสถาบันนิติบัญญัติ
บริหารและตุลาการได้ ฉะนั้น จึงต้องมีกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลเพื่อเข้าไปใช้อำนาจแทนตนเอง
ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ก็คือ การเลือกตั้ง (election)
และหลักของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็น
การทั่วไป (in general), เป็นอิสระ (free
voting), มีระยะเวลาที่แน่นอน (periodic election), เป็นการลงคะแนนลับ (secret voting), หนึ่งคน
หนึ่งเสียง (one man one vote) และต้องมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
(fair election)
เพราะประทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีการเลือกตั้งเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้หลัก 6
ประการที่ว่านี้ โดยเป็น “การบังคับเลือก”ว่าจะเอาหรือไม่เอา หรือเลือกตั้งในกติกาที่ไม่เป็นธรรม
เป็นต้น
2.ทำไมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน
2561 ทั้งๆ ที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่แล้ว
เพราะตลอดการมีอำนาจของ คสช. 4
ปี มีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1: จากปลายปี 2558
สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอก
ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี
2559
ครั้งที่ 2: จากกลางปี 2560 สู่ปลายปี 2560 เมื่อพลเอกประยุทธ์กล่าวกับนายบันคีมูน
เลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างการประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก
สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2558 ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี
2560 แต่ก็ไม่เกิดขึ้น
ครั้งที่ 3: จากปลายปี 2560 สู่ปลายปี 2561 การเลือกตั้งก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี
2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น
กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8
เดือนจึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้
ตามโรดแมปนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านร่างกฎหมายลูกครบ
10 ฉบับภายในเดือนมกราคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561
ครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน 2561 สู่กุมภาพันธ์
2562 และสู่ความไม่แน่นอน โดยโรดแมปการเลือกตั้งของ คสช.
ที่ชัดเจนที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 หลังจากพลเอกประยุทธ์บินไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
พลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา ซึ่งดำรงทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ประกาศกลางทำเนียบรัฐบาลว่าในเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง
ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป
แต่ในที่สุดสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนขึ้นจนได้
เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
ส.ส. มีมติเสียงข้างมากปรับแก้ในมาตรา 2
เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
90 วัน (ซึ่งไม่มีใครไม่เชื่อว่าไม่ได้รับสัญญาณจาก คสช.) จึงตีขลุมเอาว่าต้องยืดระยะเวลาไปอีก
3 เดือน จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ฉะนั้น จึงไม่มีความแน่นอนใดๆ ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์
2562 ทั้งๆ ที่หากกระทำโดยเร่งรัดแล้วก็ยังสามารถเลือกตั้งได้ภายในเดือนพฤศจิกายน
2561 อยู่ดี แม้ว่าจะมีการยืดการบังคับใช้ พรป.ส.ส.ออกไปอีก 90 วันและส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยก็ตาม
เพราะฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศไว้อยู่แล้วว่าไม่กระทบต่อโรดแมปเดิมแต่อย่างใด
3.เหตุใดจึงเรียกร้องให้ คสช.ยุติหน้าที่หรือลาออกทั้งๆ
ที่สมัยรัฐบาลปกติก็ยังรักษาการจนมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่
กอรปกับรัฐธรรมนูญฯ ปัจจุบันก็บัญญัติให้ คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
เป็นการเรียกร้องให้ยุติการทำหน้าที่ คสช.
ไม่ได้เรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด
จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญฯ
มาตรา 265 บัญญัติให้
คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
แต่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ใดที่บัญญัติห้ามมิให้ คสช.ลาออก
ฉะนั้น หากจะอ้างว่าทีรัฐบาลปกติยังรักษาการใด้
แต่นั่นเป็นคณะรัฐบาลซึงไมใช่ คสช.ที่มีอำนาจล้นฟ้าด้วยมาตรา 44 เช่นนี้
ข้อเรียกร้องฯ ทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนว่าจะปฏิบัติได้ยาก
แต่ก็สามารถปฏิบัติได้ หาก คสช.ตั้งใจที่จะทำในฐานะที่เป็นคนกลาง
และหากปฏิบัติได้เช่นนี้บ้านเมืองก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและสันติ
แต่หากยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีต่อผู้ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง (อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฯ
ปัจจุบันที่ผ่านประชามติรับรองไว้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่เราไปให้สัตยาบันไว้
ก็บัญญัติรับรองไว้เช่นกัน)
การกระทำเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ
ผลกระทบที่ตามมาย่อมตกแก่ประเทศไทยและคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หมดยุคสมัยที่จะใช้คำว่าข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวแล้วครับ