วันพุธ, เมษายน 04, 2561

เปิดคำพิพากษา: คดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติ ภูเขียว ครั้งแรกที่ศาลชี้ เนื้อหาในเอกสารไม่ผิด ! - "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย"





"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" และในส่วนมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นบทที่มีโทษทางอาญา จึงต้องตีความตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันแจกเอกสาร "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดตามฟ้อง "

"จึงยกฟ้องจำเลยทั้งสอง และคืนของกลางทั้งหมด"


เปิดคำพิพากษา: คดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติ ภูเขียว ครั้งแรกที่ศาลชี้ เนื้อหาในเอกสารไม่ผิด !

หลังคำพูดสุดท้ายในห้องพิจารณาคดีที่ 5 ของศาลจังหวัดภูเขียว เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561ความแช่มชื่นก็ปรากฎขึ้นบนใบหน้าของฟากฝั่งจำเลย ทั้งทนาย ตัวจำเลย ไผ่ ดาวดิน และวศิน ตลอดจนครอบครัวและประชาชนร่วม 30 ชีวิตที่รอฟังผลการตัดสินคดีนี้อย่างจดจ่อ หลังสู้คดีมาปีกว่าๆ นี่คือคำพิพากษาจากศาลจังหวัดภูเขียว มากบ้างน้อยบ้างภายใต้ความยินดีลึกๆแล้วพวกเขาปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกสิ่งน่ายินดีที่ซุกซ่อนอยู่นอกเหนือผลตัดสิน คือ ถ้อยความในคำพิพากษา

นี่คือคำพิพากษาโดยย่อที่ ไอลอว์ขอนำมาเผยแพร่ไว้เป็นอีกตัวอย่าง บรรทัดฐานคดีอันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพการแสดงออกกันอีกครั้ง

----

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 จำเลยทั้งสอง คือ จตุรภัทร์ และ วศิน ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความและภาพในสื่อสิ่งพิมพ์แก่ประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อันเป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นด้วยความเรียบร้อย และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 จำเลยทั้งสองคนได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานสอบสวนโดยการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบการต้องโทษทางอาญา จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ถอนคำให้การและให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออันเป็นการฝ่าฝืนขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน

โดยคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยท้้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง วรรคสาม ตามฟ้องหรือไม่

พยานโจทก์ประกอบด้วยพันตำรวจเอกอร่าม ประจิตร อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูเขียวและประเสิรฐ วชิรญานุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 กับ บุญน่วม ฤาชา อดีตกำนันตำบลผักปัง และหมู่ตรีสุขสันต์ ผาจันทร์ อาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นผู้ร่วมจับจำเลยที่ 1 พยานโจทก์ได้เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุคือวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 11 ถึง 12 นาฬิกา พันตำรวจเอกอร่ามและประเสริฐ ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีบุคคลมาแจกจ่ายใบปลิวและเอกสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงร่วมกันตรวจสอบ และเมื่อเวลา 16.40 น. พยานทั้งสองได้พบวศิน กำลังเดินแจกใบปลิวให้แก่ประชาชนอยู่บริเวณใกล้กับอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยมีผู้หญิงถือกล้องลักษณะบันทึกภาพ จึงได้ควบคุมตัววศิน ไปที่สถานีตำรวจภูเขียว ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น.

หมู่ตรีสุขสันต์และบุญน่วม ได้พบจตุรภัทร์ กำลังเดินแจกเอกสารให้แก่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดเทศบาลภูเขียว จึงควบคุมตัวไปที่ สภ.ภูเขียว และทำการตรวจค้นตัวทั้งสองคนพบเอกสารที่อยู่ในมือคือ เอกสาร "7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" และภายในกระเป๋ามีหนังสือแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติและหนังสือความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่ต้องรู้ โดยลักษณะของเอกสารเป็นการเผยแพร่ชี้นำให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง น่ากลัว และเป็นการก่อความวุ่นวาย โดยพันตำรวจเอกอร่ามและประเสริฐ เป็นประจักษ์พยานในการพบเห็นจำเลยที่สองคือวศินกำลังแจกใบปลิว 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนและมีเอกสารอยู่ในมือ ถือว่ามีการแจกจริง

จากการที่ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง แสดงให้เห็นว่า เอกสารที่จำเลยทั้งสองแจกมีลักษณะเนื้อหารุนแรง ข่มขู่ คุกคามไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นการสร้างความแตกแยก และก่อความวุ่นวาย ทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้นล้วนแต่มีลักษณะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพยานเอง เมื่อพิจารณาข้อความในเอกสาร "7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ว่าเป็นการปลุกระดมหรือไม่ คำว่า "ปลุกระดม" ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ไม่ได้ให้คำอธิบายหรือให้คำจำกัดความไว้ จึงต้องแปลความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งคำว่า "ปลุกระดม" หมายถึง "เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือ" ซึ่งต้องเป็นการกระทำที่เร้าใจประชาชนและต้องยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น

ประกอบกับตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 9204-9207/2559 ระบุว่าการปลุกระดมต้องเร้าใจให้ประชาชนลุกฮือขึ้นในทางที่ไม่สุจริตผิดกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงข้อความในเอกสาร "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ"แล้วก็มีลักษณะเป็นการแสดงความเห็นว่าตามร่าง รธน. พ.ศ.2559 มีข้อกำหนดอย่างไรบ้างที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและข้อความ "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ล้วนเอามาจากที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กรณีนี้จึงเป็นการแสดงความเห็นว่าบุคคลนั้นไม่เห็นด้วยและยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการ "ปลุกระดม" แต่อย่างใด

อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" และในส่วนมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นบทที่มีโทษทางอาญา จึงต้องตีความตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันแจกเอกสาร "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดตามฟ้อง ส่วนเอกสารที่ตรวจพบในกระเป๋าทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีพยานพบเห็นการแจกจ่ายจึงไม่เข้าองค์ประกอบการกระทำความผิด "เผยแพร่" ตามมาตรา 61 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นเพียงการตระเตรียมเท่านั้นและกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเนื้อหาของเอกสารเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลียนไป

ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้งสองทำการสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับคนละ 500 บาท ในส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง และคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ


iLaw
Page Liked · Yesterday ·