วันอังคาร, เมษายน 03, 2561

ในสงครามอธรรม "ตุลาการภิวัตน์" ศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน อคตินำหลักการ อภินิหารกฎหมาย ไม่อยู่ค้ำฟ้า





“วรเจตน์” ในสงครามอธรรม อคตินำหลักการ อภินิหารกฎหมาย ไม่อยู่ค้ำฟ้า


2 เมษายน 2561
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ


สัมภาษณ์พิเศษ ประชาชาติธุรกิจ

หลังจากรัฐประหาร 2557 “ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” นักนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ต้องขึ้นศาลทหาร เพราะไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เขาทำเรื่องขอมหาวิทยาลัย ลาการสอนเพื่อไป “เพิ่มพูนความรู้” 1 ปี และกลับมาพร้อมกับตำราเล่มใหม่ ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา” รวบรวมแนวคิด-นิติปรัชญา จากนักนิติศาสตร์ระดับโลกทั้งยุคเก่า-ยุคใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ศ.ดร.วรเจตน์” ในวันที่กลไกทางนิติศาสตร์ถูก “เนติบริกร” ไปใช้ขับเคลื่อนอำนาจของคณะรัฐประหาร โดยที่เขาเชื่อว่าวงการนิติศาสตร์กำลังถึงจุดต่ำสุด

เป็นครั้งแรกที่เขาบอกว่ากำลังสู้อยู่ในสงครามแบบไหนและเพื่ออะไร

Q : เหตุใดมองว่าวงการนิติศาสตร์ และวงการกฎหมายถึงยุคที่ตกต่ำที่สุด

มองความขัดแย้งที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน 10 กว่าปี กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟาดฟัน ทำลายกันทางการเมือง คนที่อยู่ในวงการกฎหมายเข้าไปร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วย

วิชาชีพกฎหมายหรือการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติถูกเรียกร้องว่าประสาทความยุติธรรมให้ ไม่เลือกปฏิบัติ ให้รัฐตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่ถูกใช้เป็นอะไรบางอย่างเป็นไปตามอำนาจในทางการเมือง

แต่บ้านเรา 10 กว่าปี มีคำ 2 คำบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี ว่ามีความตกต่ำอย่างไร คือ ตุลาการภิวัตน์ กับคำว่าอภินิหารทางกฎหมาย ไม่เพียงพอที่จะบอกหรือว่า การใช้กฎหมายในทางปฏิบัติมันเสียหายอย่างไรใน 10 กว่าปี

Q : ตุลาการภิวัตน์ อภินิหารทางกฎหมายส่งผลอย่างไรต่อการเมือง


การใช้กำลังทหารเข้าแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อย่างน้อยคนเห็นว่าเป็นเรื่องของอาวุธ พอถึงจุดหนึ่งคนก็เห็นว่ามันไม่ถูก แก้ความขัดแย้งไม่ได้ แต่เมื่อใช้กฎหมายเข้ามาร่วมวงด้วย ปัญหาจะยิ่งแก้ยากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะทำผ่านกระบวนการกฎหมาย การตัดสินคดี จะแบ่งคนออกเป็นสองข้าง

คือคนที่เชื่อในผลคำพิพากษา กับคนที่เห็นว่ามีคำพิพากษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูเนื้อหาของเรื่องด้วย คนกลุ่มหลังก็จะไม่เชื่อถือศรัทธาต่อกระบวนการทางกฎหมาย และทำให้การแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือยากมากขึ้น

Q : จุดเริ่มต้นการเกิดตุลาการภิวัตน์


มันผิดตั้งแต่เรียกร้องให้ศาลขยายบทบาทเข้ามาทางการเมืองจนเกินกว่ากำลังกฎหมายที่จะรับได้ คนที่เสนอตุลาการภิวัตน์เมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาเห็นนักการเมืองคนหนึ่งมีพลานุภาพทางการเมืองสูงมาก เห็นว่าประชาชนจำนวนมากสนับสนุนเขา และเอาออกโดยกลไกทางการเมืองไม่ได้

ให้ศาลขยายแดนออกไปทางการเมือง จึงเกิดตุลาการภิวัตน์ในบริบทสังคมไทย บอกตั้งแต่แรกแล้วมันผิด ไม่มีใครเชื่อผม กลายเป็นเส้นด้ายที่พันกันยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีก ปัญหานี้นับ 10 ปีกว่าจะแก้ได้

Q : ถ้าจะเริ่มแก้ควรกลับมาที่จุดไหน

กลับมาตามหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือฟาดฟันกันทางการเมือง ศาลก็เป็นศาลว่ากันตามเกณฑ์กฎหมาย ตรงไปตรงมา

Q : อำนาจศาลจะถูกขยายมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560

จะยิ่งหนักขึ้น การถอดถอนแต่เดิมเป็นอำนาจของวุฒิสภา บัดนี้เอาไปให้ศาลฎีกาตัดสิน เท่ากับว่าเป็นกลไกทางกฎหมาย เวลาสภาถอดถอนก็ต่อสู้วิจารณ์กันทางการเมือง แต่ตอนนี้จะกลายเป็นศาลแล้ว จะเกิดสภาวะความอึดอัดของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทางการเมือง มากขึ้น ๆ แม้กระบวนการยุติธรรมจะอ้างว่าเป็นกลาง แต่จะถูกใช้ให้เข้ามาพัวพันในทางการเมืองมากขึ้น

การคิดกระบวนการทางกฎหมายคิดไม่ละเอียด แล้วเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการเมืองเฉพาะหน้ามาทำเป็นกฎหมายบังคับใช้เป็นการทั่วไป ยิ่งกัดเซาะความน่าเชื่อถือกระบวนการทางกฎหมายมากขึ้นไปอีก

Q : รัฐธรรมนูญ 2560 จะพาวงการนิติศาสตร์ไปสู่จุดไหน

จุดที่หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม และจะเกิดอภินิหารทางกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม อภินิหารคือสิ่งที่เหนือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีถูกผิด ถ้าเราบอกมีอภินิหารทางกฎหมายแล้วเราจะเรียนกฎหมายทำไม เราไปเรียนวิชาอภินิหารกฎหมายดีไหม ถ้าคิดว่าเรียนวิชานี้เราจะมีหลักมีฐานให้กับสังคมได้เหรอ คนที่หวังจะได้ความยุติธรรมจากนิติรัฐ เจออภินิหารไปจะไม่งงหรือ

Q : ใครเป็นผู้ใช้อภินิหาร

นักกฎหมายที่มีอำนาจ สามารถทำให้เกิดอภินิหารทางกฎหมายได้ และอภินิหารทางกฎหมายไม่ใช่อะไรอื่น มันคืออะไรที่ผูกกับอำนาจ ผมไม่มีอภินิหารทางกฎหมาย พูดอะไรไปก็ผิดหมด

Q : อภินิหารทางกฎหมายจะยั่งยืนไหม


ก็คงใช้ไปแหละ แต่ทุกอย่างมีเวลาของมัน ทุกอย่างตกอยู่ภายใต้กฎความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่เซตเอาไว้ทุกอย่างหรอก คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

Q : ถูกมองว่าเป็นนักวิชาการหัวสี่เหลี่ยม


ไม่เป็นไร ไม่ฟังก็คือไม่ฟัง สังคมต้องไปเรียนรู้เอาเอง ผมก็อาจตายไปทั้ง ๆ ที่ความจริงสิ่งที่ผมอยากเห็นในวงการกฎหมายไม่เกิดขึ้นก็ได้ คือการเปลี่ยนอุดมการณ์หลักที่ครอบวงการกฎหมายไทยอยู่ ให้เป็นอุดมการณ์นิติรัฐประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อย่างน้อยผมได้หว่านเมล็ดอันนี้เอาไว้ ไม่งอกงามในช่วงชีวิตผมก็ไม่เป็นไร ผมมีลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจสิ่งที่ผมทำ เป็นพลังสำคัญอันดีที่ทำให้นิติรัฐประชาธิปไตยงอกงามขึ้นในวงสังคมในอนาคต เป็นสิ่งที่สังคมจะต้องเดินไปถึงแน่ ๆ ผมทำมาเป็น 10 ปีก็ยังทำต่อไป แต่เชื่อว่าในทางการเมืองผมจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของผม

Q : จะเห็นปรากฏการณ์อะไร

แม้มองไม่เห็นทางออก แต่คนในสังคมส่วนใหญ่จะสามารถอยู่กันอย่างนี้ไปได้เรื่อย ๆ อีกเป็น 10-20 ปี อยู่ภายใต้ความขัดแย้งโดยไม่มีการกลับมาหาหลักการสิ่งที่ถูกต้อง หรือสังคมไม่พยายามค้นหาสิ่งที่เป็นคุณค่ารากฐานของการอยู่ด้วยกันได้ ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ตลอดรอดฝั่ง

Q : อะไรที่จะเป็นจุดสำคัญที่ให้สังคมหันมาหาหลักการ

ผมยังไม่เห็น เพียงแค่มองโลกในแง่ดีที่ว่า ทุกสังคมในโลกนี้มนุษย์มีสติปัญญา และมีเหตุผลบางอย่างอยู่ในใจของเรา เมื่อเวลาผ่านไป เราผ่านอะไรมากขึ้น ม่านเมฆอคติที่อยู่ในใจของคนส่วนใหญ่ค่อย ๆ จางลง คนก็จะค่อย ๆ เห็น

เด็กที่อายุ 10 ขวบในวันนี้ 20 ปีเขาอายุ 30 เมื่อถึงจุดนั้นเขาเห็นอะไรมาก ถึงจุดหนึ่งคนอีกรุ่นหนึ่งก็จะเห็นการกระทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งคนต้องคิดได้สิว่ามันไม่ใช่

คนที่เป็นปรปักษ์อาฆาตกันก็จะตายไป ไม่มีใครไม่ตายหรอก จะมีคนใหม่เกิดขึ้น เพียงแต่น่าเศร้าว่าเราไม่สามารถส่งมอบสังคมที่มีหลักการหรือมีเรื่องที่ดีงามให้คนรุ่นหลังได้อย่างที่ควรจะเป็น

Q : ในทางการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย อะไรที่ยังเป็นอุปสรรค

คนส่วนใหญ่ในวงการกฎหมายไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไหร่ ผมอยู่ในท่ามกลางเพื่อนร่วมวิชาชีพจำนวนมากที่ผมรู้สึกว่าความเที่ยงธรรมและความละอายหายไปจากใจของเขาจนหมด พูดจาก 10 ปีมานี้ คือเอาอคตินำหลักการ หมดเลย แล้วยังไม่รู้สึกเลย รู้สึกว่าทำสงครามกับความอธรรม

Q : นักกฎหมายประเภทนี้ อาจมองแค่ตัวบทกฎหมาย และคำสั่งรัฏฐาธิปัตย์

ไม่ใช่ ผมพยายามแก้ความเข้าใจผิด และเป็นความพยายามของผมในวงการกฎหมาย และหวังว่าผมจะได้เห็นก่อนที่ผมจะเกษียณอายุใน 11 ปีข้างหน้า วงการกฎหมายบ้านเรา มักกล่าวโทษนักกฎหมาย เพราะนักกฎหมายเชื่อว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อยึดอำนาจมาสำเร็จเขาก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกคำสั่งอะไรมาก็เป็นกฎหมาย ทำให้นักกฎหมายแบบนี้สามารถเข้าไปรับใช้อำนาจได้โดยไม่กระดากใจ ตะขิดตะขวงใจ

เราเห็นว่าจริง ๆ นักกฎหมายที่เข้าไปรับใช้อำนาจ พวกเนติบริกร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็รับใช้ รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเขาก็รับใช้ เขาอยู่ในระดับแบบนั้นทุกยุคทุกสมัย เขาหาช่องทางในการเข้าสู่อำนาจตลอดเวลา คนที่เป็นอย่างนี้เขาสมาทานความคิดแบบกฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์หรือ… ไม่ใช่หรอก

Q : นักกฎหมายแบบนี้สมาทานอะไร

นักกฎหมายไทยที่เข้าไปทำงานรับใช้อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจที่ไม่ชอบธรรมแล้วยังทำให้ แล้วใช้โครงสร้างทำให้เกิดกฎเกณฑ์ที่ไม่ถูกต้องในทางเหตุผลไม่เป็นผลดีต่อสังคมระยะยาวขึ้นมา เขาไม่ใช่นักกฎหมายในสำนักคิดไหนเลย เพราะความคิดของนักกฎหมายเหล่านี้คือ การวิ่งเข้าหาอำนาจ หาประโยชน์ หาชื่อเสียง หาตำแหน่ง แล้วบอกว่าทำเพื่อประเทศชาติเพื่อความถูกต้องดีงาม

นักกฎหมายที่ดีไม่น่าเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ทำให้ทุกอย่างเป็นกฎหมายได้หมด ไม่เช่นนั้นก็เขียนกฎหมายให้คนเอามาเดินแทนเท้า เอาหัวลงดิน เอาเท้าชี้ขึ้นฟ้า ถ้าคิดว่ากฎหมายไม่ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักเหตุผลอะไรเลย

Q : มองนักกฎหมายที่เข้าไปออกแบบรัฐธรรมนูญ ขับเคลื่อน คสช.อย่างไร

ผมไม่มองอะไรเลย ไม่อยากไปวินิจฉัยบุคคลแบบนี้ ถ้าพูดจากตัวผมเอง ทำแบบนี้ผมไม่ทำ โลกนี้คิดได้สองอย่าง มนุษย์พวกหนึ่งคิดว่าทำอะไรก็ได้หมด เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย กับมนุษย์อีกพวกหนึ่งคิดว่ามันมีบางอย่างที่ทำไม่ได้ ผมเป็นพวกหลัง เป็นเรื่องมนุษย์แต่ละคน

Q : นักกฎหมายบางส่วนวิ่งเข้าหาอำนาจ ทำไมอาจารย์ยังวิ่งเข้าหาหลักการ

เพราะหลักการสำคัญ วิชานิติศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับอำนาจ คนที่เรียนกฎหมายเป็นนักกฎหมายทรงอำนาจในการตีความ เวลาผมสอนหนังสือผมพูดเสมอว่าอำนาจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ต้องเรียนกฎหมายให้ถึงขนาด ต้องมีหลัก เวลาตีความไม่ได้ตีความโดยความท่องมนต์หรือมีอภินิหาร ไม่เช่นนั้นวิชากฎหมายแก้ปัญหาสังคมไม่ได้หรอก

ความขัดแย้งที่อยู่ในวิชาชีพกฎหมายตอนนี้มันละเอียดอ่อน ซึ่งกำลังสู้กันและผมเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ในเวลานี้ นักกฎหมายในจำนวนหนึ่ง คิดว่าเขาทำถูกหลักวิชาชีพ เป็นหลักธรรมะ เป็นความถูกต้อง ขจัดคนชั่ว คิดแบบนั้นไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองที่มาเกี่ยวพันกับวิชา คล้าย ๆ กับว่า ตั้งเป้าว่าคนนี้เป็นคนเลว คุณสามารถใช้กฎหมายเป็นทิศทางในการทำลายคนเลวคนนี้ คุณตีความออกไปนิดนึงก็ได้ ผิดหลักวิชาหน่อยก็ได้เพื่อให้จัดการได้ ผมกำลังจะต่อสู้ว่าทำอย่างนี้ไม่ได้

Q : ไม่ได้อยู่ในอำนาจรัฐ จะมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ก็ยาก… มันไม่ใช่ของง่ายหรอก แต่มันก็ต้องทำ ในระยะยาวต้องมีใครสักคนทำ หรือใครสักหลายคนทำ ลองนึกภาพดูในวงการกฎหมายถ้าไม่มีผม ไม่มีนิติราษฎร์ ใน 10 ปีมานี้จะเกิดอะไรขึ้น บางคนบอกว่าจะดี เพราะมีทิศทางเดียวเลย แต่จะดีอย่างนี้จริง ๆ เหรอ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะดีจริง ๆ

...

Somchi Zandara การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย
หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยส่วนตัวของท่าน "กีรติ กาญจนรินทร์" ผู้พิพากษาศาลฎีกา