วันพฤหัสบดี, เมษายน 12, 2561

#ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ : การคัดค้านจากชาวเชียงใหม่ ไม่ใช่เพิ่งมาค้านตอนใกล้จะสร้างเสร็จ





#ไม่ใช่เพิ่งมาค้านตอนใกล้จะสร้างเสร็จ เพียงแต่ท่านไม่ฟัง อ้างว่าถูกกฎหมายอย่างเดียว ! (ภาพประกอบคือตอนก่อสร้างหมู่บ้านป่าแหว่งใหม่ๆ) #ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

# ที่มาของโครงการ “หมู่บ้านป่าแหว่ง”

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ ได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ราชพัสดุที่ดูแลโดย มทบ. ๓๓ ใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. เลขที่ ๓๙๔/๒๕๐๐ จำนวน ๒๓,๗๘๗ ไร่ เพื่อให้ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม (ผสมม้า) ) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งเบื้องต้นกองทัพบกไม่ได้อนุมัติ และมีการทำเรื่องขอใช้อีกครั้งในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กองทัพบก จึงอนุมัติไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๑ ตร.ว.

# การเริ่มต้นโครงการ

สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และเข้าไปทำการก่อสร้างบ้านพักและสำนักงาน โดยเริ่มดำเนินการโครงการในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ แบ่งเป็น ๔ ระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ปี ๒๕๕๖ วงเงิน ๖๖๕ ล้านบาทเป็นการก่อสร้างบ้านพัก ๔๘ หลังอาคารชุด ๑๓ หลัง ระยะที่ ๓ เดือนมกราคม ๒๕๕๗ เป็นการก่อสร้างสำนักงานที่ทำงาน อาคาร ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ จำนวน ๒๙๐ ล้านและระยะที่ ๔ ปี ๒๕๕๙ วงเงิน ๖๑ ล้าน เป็นอาคารสำนักงานของอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ ทั้งหมด

# การคัดค้านจากชาวเชียงใหม่

คนเชียงใหม่ค้านการก่อสร้างหมู่บ้านตุลาการ ตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการเอารถแบคโฮเข้าไปถากดอย กลางป่า โดย นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานชมรมร่มบินเชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากกลุ่มนักจักรยานเสือภูเขา ที่ขี่จักรยานไปตามเส้นทางจักรยานเสือภูเขาเป็นปกติ แต่ไปพบว่า มีเครื่องจักรกำลังทำลายป่าจำนวนมาก นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ จึงทำหนังสือถึง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ให้มาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบก็พบว่า การก่อสร้างอยู่นอกเขตอุทยานฯ และทุกอย่างก็เงียบไป แต่ก็มีการดำเนินการอย่างเงียบๆ จนมีกลุ่มคนเชียงใหม่ทำหนังสือขอคัดค้านไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์ในปี ๒๕๕๘ ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างยังไม่เห็นเป็นโครงสร้างชัดเจน กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านจึงยังมีไม่มาก จึงไม่มีใครเห็นความสำคัญ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ ประเทศไทยอยู่ในช่วงพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ คนไทยเศร้าโศก ทำให้ไม่มีการสนใจเรื่องนี้จนกระทั่งมีการแชร์ภาพการก่อสร้างในมุมสูง ทั้งจากคนที่นั่งเครื่องบินผ่าน และจากชมรมร่มบินเชียงใหม่ที่ถ่ายภาพทางอากาศต่อๆ ไปในโลกออนไลน์จึงเริ่มเป็นกระแส เนื่องจากภาพที่เห็นประจักษ์ชัดว่ามันกินพื้นที่ป่าเข้าไปลึก เช่นhttps://pantip.com/topic/35291695
จึงไม่ใช่เพิ่งมาค้านตอนใกล้จะสร้างเสร็จ เพียงแต่ท่านไม่ฟัง อ้างว่าถูกกฎหมายอย่างเดียว !

# การคัดค้านที่เริ่มได้ผล

กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ดร.ทนง ทองภูเบศร์ ได้เปิดแคมเปญ “ขอให้ศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๑ ตร.ว.” https://goo.gl/N2cnns และเปิดเฟสบุ๊คเพจ “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”https://goo.gl/drKZ7v มีการชี้แจงเหตุผลและข้อเรียกร้อง ขณะเดียวกัน ดร.ทนง ทองภูเบศร์ ได้ลงพื้นที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อพบและหารือกับตัวแทนภาคีชาวเชียงใหม่ อาทิ ชมรมร่มบินเชียงใหม่ ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคีคนฮักเจียงใหม่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กลุ่มเขียวสวยหอม กลุ่มมือเย็นเมืองเย็น เป็นต้น เกิดเป็นเครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ประกอบด้วย ๑๖ ภาคี โดยมี นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ทำให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ ตั้งแต่การจัดเสวนาการระดมความคิดเห็นเรื่อง “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ มีการบวชป่า และกรวดน้ำอุทิศให้ข้าราชการตุลาการคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และต่อมาก็มีการจัดกิจกรรมบวชป่า เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ นอกจากนี้ภาคีต่างๆ ยังได้เคลื่อนไหวคู่ขนานกับ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” เช่น การทำหนังสือขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอธิบดีกรมธนารักษ์ การรับนัดเจรจากับตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรมผ่าน ผบ. มทบ. ๓๓ (แต่ตัวแทนศาลฯ ก็เบี้ยวนัด ถึงสองครั้งสองครา) การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทั้งทางโทรศัพท์ และการเข้าร่วมรายการโทรทัศน์ เช่น ช่องไทพีบีเอส ช่องไทยรัฐทีวี ช่องอัมรินทร์ ช่องฟ้าวันใหม่ ช่องพีพีทีวี ช่องเนชั่นทีวี เป็นต้น จนกระทั่งรัฐบาล รับฟังข้อเรียกร้องของ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”

# แนวทางการเรียกร้องของ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”

เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” มีกติกาการเรียกร้องที่สำคัญ คือ ๑) ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทุกระดับ ๒) ไม่สนับสนุนการใช้ความก้าวร้าว รุนแรง พึงใช้ภาษาสุภาพ และอยู่ในกรอบของกฎหมาย ๓) ไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ๔) ไม่สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หมิ่นอำนาจตุลาการ ๕) เน้นการรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ ๖) ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับบริจาค ยกเว้นการระดมเงินเพื่อจัดทำกิจกรรมเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบของ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ก่อนทุกครั้ง
เป้าหมายเดียวของ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” คือ รื้อทิ้งสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่ล้ำแนวเขตป่าธรรมชาติ เพื่อปรับพื้นที่และฟื้นฟูป่ากลับมาสมบูรณ์ดังเดิม !

จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
ขอแสดงความนับถือ
ดร.ทนง ทองภูเบศร์



Namfar Takonkit