ฟาสต์แทร็ก
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน 2561
3 เมษายน พ.ศ.2561
ที่บานปลายออกไปเรื่อยๆ
ทำเอารัฐบาลต้องเพิ่มแอ๊กชั่น
ไม่เพิ่มไม่ได้
เพราะชักเข้าเนื้อ ด้วยที่ผ่านมา รัฐบาลมักจะชี้นิ้วกล่าวหา “นักการเมือง” เป็นตัวการโกงกิน
เป็นต้นทางแห่งความชั่วร้าย
แต่เมื่อรัฐบาลทหารบริหารงานมาจะครบ 4 ปี
ปัญหาการทุจริต นอกจากไม่ลดแล้ว
ยังถูกประจานว่า ระบบ “ราชการ” ที่รัฐบาลคุ้นเคยนั่นแหละเป็นแหล่งต้นตอโกงใหญ่
ว่าแต่เขาเอาไว้มากๆ พอเกิดกับฝ่ายตัว เลยพะอืดพะอม พูดได้ไม่เต็มเสียง
ธง “ปราบโกง” ชักไม่โบกไสว ไม่สง่างามและเสียแต้มลงทุกวัน
ด้วยเหตุนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลยต้องออกโรง
ประกาศนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน
แบบฟาสต์แทร็ก
โดยส่งไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบเมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา
เช่น ในกรณีที่ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกร้องทุจริตและประพฤติมิชอบ
ให้ต้นสังกัดสอบเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
ถ้ามีมูลให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็ว
ซึ่งจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรงหรือมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชน ให้มีการย้ายหรือโอนเป็นกรณีพิเศษไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ว่ามีตำแหน่งรองรับเป็นร้อย
ในกรณีสามารถชี้มูลความผิดได้ แต่ไม่ถึงขั้นให้ปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ
ห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ในลักษณะเดิมภายในเวลา 3 ปี
การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ หากใครทำล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพ
ให้ย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นทันที
ให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน
ใครบิดเบือนข้อมูลให้ลงโทษบุคคลดังกล่าวอย่างเด็ดขาดด้วย
มีการย้ำในตอนท้าย
ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ยึดถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้โดยเคร่งครัด
ดูขึงขัง
แต่อีกด้านหนึ่ง
ก็เป็นการยอมรับกลายๆ ว่า มาตรการเหล็กของ คสช. และรัฐบาลที่ผ่านมา
เอาไม่อยู่
แต่จะนั่งรักษาหน้าและรักษาฟอร์มเฉยๆ ไม่ได้
เพราะปัญหาโกงลามไปเรื่อยๆ มาตรการปราบแบบฟาสต์แทร็กเลยต้องถูกงัดออกมา
หวังเรียกศรัทธาคืน!?!