วันศุกร์, เมษายน 06, 2561

ทวนความจำ 1 ปี ‘หมุดคณะราษฎร’ หาย : เรื่องคนร้าย”หน้าใส”ขโมยหมุด - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ






สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องคนร้าย”หน้าใส”ขโมยหมุด


2017-04-26
ที่มา ประชาไท

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน เป็นต้นมา ได้เกิดการแชร์ข่าวแพร่สะพัดในสังคมออนไลน์เรื่องการที่หมุดคณะราษฎร ที่เคยติดตั้งอยู่ที่บริเวณข้างพระบรมรูปทรงม้า หน้าสนามเสือป่า ได้ถูกคนร้ายขโมยและเปลี่ยนเอาหมุดใหม่มาใส่ โดยหมุดใหม่ที่ฝ่ายคนร้ายเอามาใส่แทนมีข้อความอันแปลกประหลาด ชาวสังคมออนไลน์จะเรียกหมุดใหม่ของฝ่ายโจรลักหมุดนี้ว่า “หมุดหน้าใส” ถือได้ว่าประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างอย่างยิ่ง

คงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า หมุดคณะราษฎรดั้งเดิมนั้น มีความหมายทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็น “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หมุดนี้ฝังไว้ ณ จุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาสู่ราษฎร เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ต่อมา กระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ได้สร้างหมุดทองเหลืองเพื่อระลึกเหตุการณ์การปฏิวัติ โดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในการทำพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2479 บนหมุดทองเหลืองมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"

สำหรับหมุดอันใหม่ที่ถูกกลุ่มคนร้ายนำมาปักไว้แทน มีข้อความ 2 ส่วน ในส่วนแรกอยู่บนวงกลมล้อมรอบความว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระศรีรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" ข้อความท่อนนี้ นำมาจากคาถาสุภาษิตที่อยู่บนตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ และส่วนที่สองอยู่ตรงกลางหมุดมีข้อความว่า "ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” ในส่วนนี้เป็นข้อความผสมใจความตามใจผู้เขียน เอาคำว่า “ประเทศสยาม”มาใส่ ทั้งที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2482 คำว่า “หน้าใส” ก็มาจาก ไพร่ฟ้าหน้าใส” ในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่โดยรวมแล้วข้อความทั้งหมดของหมุดอันใหม่ ไม่ได้สะท้อนลักษณะทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้สื่อความหมายอะไรเลย ถือว่าเป็นข้อความไว้สาระวลีหนึ่งเท่านั้น จนกระทั่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์สอนประวัติศาสตร์สมัยใหม่คนสำคัญ ได้อธิบายว่า ข้อความนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ทำการลักหมุดเปลี่ยนข้อความเป็นพวกปัญญาอ่อนมาก

ผลกระทบโดยตรงทันทีของเหตุการณ์ คือ เกิดกระแสสูงของเรียกร้องทวงคืน”หมุดคณะราษฎร” รวมทั้งการเรียกร้องให้คืนหมุดคณะราษฎร และเสนอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับโจรลักหมุดมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว แต่ในกระแสตรงข้าม คือกลุ่มปฏิกิริยาฝ่ายขวาทั้งหลาย ก็ถือโอกาสพยายามหาเรื่องและถึงขั้นสร้างเรื่องมาโจมตีคณะราษฎร เพื่ออธิบายความชอบธรรมของการถอนหมุดคณะราษฎรครั้งนี้ว่า เป็นสิ่งถูกต้อง

ที่น่าสังเกตคือ ในส่วนฝ่ายราชการหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร ฝ่ายสำนักงานดุสิต ที่เป็นฝ่ายดูแลรับผิดชอบพื้นที่ หรือ กรมศิลปากรที่เป็นฝ่ายดูแลวัตถุทางประวัติศาสตร์ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยว หรือรับผิดชอบกรณีนี้ ทั้งที่หมุดคณะราษฎร คือสมบัติของทางราชการ การรื้อหมุดและปักหมุดใหม่ ต้องมีการขุดซีเมนต์และโบกปูน ซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะไม่รับรู้ และจากข้อมูลของนายศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐปรศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ที่ส่งนักศึกษาลงไปทำรายงาน ยืนยันว่า การโขมยเปลี่ยนหมุดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน ซึ่งเป็นที่วิเคราะห์ได้ว่า การเปลี่ยนหมุดนี้น่าจะเกิดขึ้นราวคืนวันที่ 6 เมษายน ที่ทางราชการกำลังปิดถนนบริเวณดังกล่าว เพื่อบูรณะพระบรมรูปทางม้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบเรื่อง

ความจริงแล้ว ถ้าพิจารณาในบริบทที่กว้างขึ้น การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สังคมไทยถอยหลังสู่เผด็จการ และกลายเป็นอนุรักษ์นิยมขวาจัดมากยิ่งขึ้น ในระยะ 3 ปีที่ผ่าน ได้มีความพยายามในการสร้างความชอบธรรมของระบอบเผด็จการ และทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยตามแบบสากล จนในที่สุด แนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดของประชาชนถูกละเลย ระบอบรัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งถูกดูแคลน และหันไปเชื่อถือยอมรับสภาจากการแต่งตั้งของฝ่ายทหารที่ทำงานไม่ได้เรื่อง เช่นเดียวกับการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่ที่ประกอบด้วยมาตราเผด็จการ ทำลายอำนาจประชาชน รักษาอำนาจองค์กรอิสระ ในภาวะการเมืองปฏิกิริยาเช่นนี้ จึงนำไปสู่การย้อนประวัติศาสตร์ ด้วยการปฏิเสธความชอบธรรมของคณะราษฎร ปฏิเสธความถูกต้องของระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และนำมาสู่ความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำลายสัญลักษณ์ของคณะราษฎร คณะโจรลักหมุดกลุ่มนี้ จึงเป็นเพียงแนวหน้าของพวกขวาจัด ที่รับเป็นผู้ดำเนินการด้วยความมุ่งหวังจะลบอดีต เปลี่ยนประวัติศาสตร์ และเขียนเรื่องราวใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบด้อยสติปัญญา

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำอธิบายเช่นกันว่า การเปลี่ยนหมุดครั้งนี้ สะท้อนสังคมการเมืองที่เป็นจริงของไทยปัจจุบัน ที่ประชาธิปไตยและระบอบรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมไม่มีแล้ว มีแต่ระบอบการเมืองกึ่งสุกกึ่งดิบที่ดำเนินไปตามอำเภอใจชนชั้นนำ ซึ่งถ้าจะเรียกว่า ระบอบการเมืองแบบ”หน้าใส”ก็น่าจะเก๋ไม่น้อย และยิ่งมีการประเมินว่า ความตั้งใจรื้อหมุดและลงหมุดใหม่ เกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ ก็ยิ่งสะท้อนความเหลวไหลของระบอบการเมืองแบบหน้าใสมากขึ้น

แต่ในอีกกระแสหนึ่ง ก็ยังมีความเห็นว่า ความพยายามในการลักขโมยเปลี่ยนหมุด เพื่อทำลายประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ เพราะมรดกของคณะราษฎรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองมีหลายลักษณะ ตั้งแต่ที่เป็นสิ่งรูปธรรม ก็เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาคารสองฝั่งราชดำเนินกลาง โรงแรมรัตนโกสินทร์ สะพานเฉลิมวันชาติ เป็นต้น และที่ถูกรื้อไปแล้ว คือ อาคารที่ทำการศาลฎีกาข้างสนามหลวงเดิม และ ศาลาเฉลิมไทย แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะรื้อถอนเสียทั้งหมด

แต่ยังมีผลงานอีกจำนวนมากที่ดำเนินการไปแล้ว และคงรื้อถอนได้ยาก เช่น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร(บางเขน) ทรัพย์สินที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ที่รัฐบาลคณะราษฎรมอบให้ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2482) และยังมีรัฐวิสาหกิจแทบทั้งหมดที่ตั้งในสมัยคณะราษฎรแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผลงานเชิงนามธรรม เช่น กลายเปลี่ยนชื่อประเทศให้เป็นประเทศไทย การให้กำเนิดเพลงชาติไทย การเคารพธงชาติ การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากล(1 มกราคม) ส่วนระบอบการเมืองที่ถูกเปลี่ยน เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบก็คงจะไม่ย้อนกลับคืนมา การเมืองที่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา(ไม่ว่าเป็นแบบไหน)ก็คงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับราชการแบบใหม่ที่ขึ้นกับการสอบวัดความรู้เพื่อบรรจุ และการมีระบบเงินเดือนตามลำดับขั้น ก็คงไม่ย้อนกับไปสู่ราชการแบบเก่าที่การเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนขึ้นกับความพอใจของเจ้านาย เศรษฐกิจอิงศักดินาแบบก่อน พ.ศ.2475 ก็พังทลายจนฟื้นกลับไม่ได้แล้วกลายเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขึ้นกับการค้า การลงทุน ภาคการเงิน และภาคบริการ โครงสร้างสังคมแบบเดิมที่เป็นสังคมชนชั้นที่มีฐานันดร รองรับด้วยระบอบชายเดียวมากเมีย ก็คงจะไม่หวนกลับมาอีก

สรุปแล้ว การทำลายความทรงจำทางสังคม และทำลายดอกผลประชาธิปไตยของคณะราษฎรและรื้อฟื้นโลกเก่าแบบจารีตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การกระทำของคณะโจรเปลี่ยนหมุด จึงเป็นเรื่องที่น่าสมเพท บทความนี้จึงจบด้วยกลอนของ กุลวดี ศาสตร์ศรี ที่กล่าวถึงหมุดคณะราษฎร ดังนี้ครับ


“มิใช่เพียงแผ่นโลหะเหล็กดาดดาด แต่เป็นหมุดประวัติศาสตร์สำคัญยิ่ง

แจ้งให้รู้เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ไม่อาจกลิ้งกลับวงล้อที่หมุนแล้ว”


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 613 วันที่ 22 เมษายน 2560