วันเสาร์, มีนาคม 17, 2561

“ประชาธิปไตยอันมีพระพุทศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคต"

ไหมล่ะ ‘The Kim in the North’ พูดถึงพรรคอนาคตใหม่ไว้แล้วไม่ผิด “เราจะโยงทักษิณยังไงดีครับ” ทีนิวส์สนองทันใจ รีบหาจนเจอ “อนาคตใหม่ ตัวละครเก่า”

ของใหม่ไฟแรงก็อย่างนี้แหละสำหรับดินแดนกะลานีเซีย ต้องเจอขวากหนามหลายด่าน แจ้งเกิดได้แล้วยังต้องลุ้น เลี้ยงรอด ไหมด้วย
เฉพาะตอนนี้เกิดมีโรคเก่ากำเริบ กำลังไข้ขึ้นเชียวละ เมื่อมีการเปิดวิสัยทัศน์ธนาธรและเพื่อน กลายเป็นที่วิพากษ์ขนานใหญ่ตรงแนวคิดของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่องศาสนาพุทธและปัญหาความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารจีเอ็มเมื่อกลางปีที่แล้ว

ถึงขนาด บก.ฟ้าเดียวกัน คอมเม้นต์ว่า “ทำไปทำมา ประเด็นศาสนาอาจจะสลายสีเสื้อเหลือง-แดงลงไปก็ได้ครับ เพราะทั้งเหลืองและแดงจำนวนหนึ่ง จะสามัคคีกันแล้วหันมากระทืบคนที่เห็นต่างเรื่องศาสนา โดยเฉพาะประเด็นการเอาศาสนาออกจากรัฐ”

อันนี้ท่าจะจริง เพราะกระบวนการแดงพุทธ (อยาก) ฆ่ามุสลิมถึงจะซาๆ ลงไปบ้าง ก็ยังกรุ่นอยู่ไม่หาย

สิ่งที่ธนาธรให้ความเห็นแก่ จีเอ็ม เรื่อง “รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ” (https://prachatai.com/journal/2018/03/75905)

นั้นไม่ต้องรอถึงทีนิวส์หรือแนวหน้า ‘I-D’ หรือ ‘E-Thing’ แต่นี่ อั้ม อิราวัต อารีกิจ จัดการแทน “บอกได้คำเดียวสั้นๆ อีกนาน...กว่าพรรคจะพร้อม

อีกอันจากอั้ม “แต่อย่าลืมแค่ว่า พุทธศาสนา ผูกพันกับสถาบันหลักมากี่ร้อยปี เหตุใดบางบทสัมภาษณ์จึงกระทบหัวใจ พุทธศาสนิกชน มาก”

เจ้าตัวไม่รอช้า รีบชี้แจง “สิ่งที่ผมแสดงความคิดเห็นไว้ถูกตัดออกมาจากบริบทของมัน การแสดงความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้กระทำไว้นานแล้ว และก่อนการเกิดขึ้นของพรรคเสียอีก...

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สังคมไทยควรเป็นสังคมที่ไม่นำเรื่องศาสนาซึ่งเป็นสิทธิและความเชื่อส่วนบุคคล มาสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน...จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ...

กระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมากขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาความขัดแย้ง...ทันทีที่กฏหมายเปิดโอกาส เราจะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และจะรับฟังว่าพวกเขามีความเห็นในการจัดการความขัดแย้งอย่างไร”

กว่าจะถึงตอนนั้นไม่แน่ว่า อนาคตใหม่ จะพ้นไข้หรือกลายเป็น หวัดใหญ่ ก็ไม่รู้ได้ ขึ้นอยู่กับจะมีใครสามารถปั่นให้ “เหลืองและแดงบางส่วน” รวมหัวกันถล่ม ธนาธรและเพื่อนได้หนักหนาจนกระทั่งเป๋

ยังดีที่มี Khemthong Tonsakulrungruang อดรนทนไม่ไหวเพราะ “รู้สึกว่ามันจะไปกันใหญ่” จึงนำข้อมูลความจริงมาเสนอไว้เป็นพื้นฐานในการเถียง ต่อยอด ไปจากนี้
 
อจ.เข็มทองเขียนไว้หลายข้อ ควรแก่การใส่ใจ เริ่มแรกเกี่ยวกับการประกาศศาสนาประจำรัฐ (หรือประจำชาติ) นั้นในทางสิทธิมนุษยชนไม่ได้ถือว่าละเมิดเสรีภาพทางศาสนาโดยตรง หากเป็นเพียงสัญญลักษณ์และไม่คุกคามผู้อื่น

แต่ต่อมาในระยะหลังความเห็นเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ (Temperman 2013) ระบุโดยตรงเลยว่า “การประกาศศาสนาประจำรัฐนั้น เป็นปัญหาในตัวเองเลย แปลว่าไม่ต้องรอดูนโยบายอื่นแล้ว แค่ประกาศ ก็ถือว่าคุกคาม (coercion) เสรีภาพทางศาสนาของคนอื่นแล้ว”

อจ.เข็มทองอ้างข้อมูลเชิงประจักษ์ (จาก Fox News 2016) “การประกาศศาสนาประจำรัฐอย่างเดียวไม่ส่งผลต่อเสรีภาพทางศาสนา แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาประจำรัฐได้”

ในประเทศไทย แม้จะไม่ได้ประกาศว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่รัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิพิเศษกว่าศาสนาอื่น หนำซ้ำ “ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มมีความรุนแรงทางศาสนาสูง ร่วมกับศรีลังกา และพม่า เรียกว่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอิสลามเสียอีก อันนี้คนไม่ค่อยรู้ ให้ไปดู GRI/SHI ของ Pew

และ “ในเมืองไทยรับรองเสรีภาพของทุกคนในการนับถือศาสนา แต่ทุกคนใช้เสรีภาพได้เสมอภาคกันหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ ศาสนาพุทธได้รับการดูแลดีกว่าศาสนาอื่นมาก

นอกจากนั้น อจ.เข็มทองยังชี้ว่า “การพิจารณาว่าศาสนาเสมอภาคกันหรือไม่ทำได้ยาก...แต่ว่ากันตามเนื้อผ้า พุทธได้รับการอุดหนุนเยอะกว่า แต่คนพุทธมักมองข้าม แล้วไปเพ่งเล็งอิจฉามุสลิม”

โดยเฉพาะการสร้างรัฐโลกวิสัย (หรือ Secularism) มีได้หลายแบบ “ทั้งที่เป็นมิตรกับศาสนาหรือเป็นศัตรูล้างผลาญกันไปเลย เรื่องนี้ต้องพิจารณากันอีกยาว” แต่สำหรับเวลานี้ อจ.เข็มทองสรุปว่า

“ประชาธิปไตยอันมีพระพุทศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคต รัฐไทยควรจะคิดๆ ไว้บ้าง ว่าถึงเวลานั้นจะรับมืออย่างไร”

(https://www.facebook.com/khemthong.tonsakulrungruang/posts/10204178811747071)