อันนี้หาเสียงป่าว “ผมไม่ใช่ผู้วิเศษ จำไว้ว่าผมไม่ใช่ แต่ผมจะแก้ปัญหาทุกปัญหาให้ได้”
ประยุทธ์เพิ่งพูดไว้ที่ซิดเน่ย์ “ท่ามกลางเสียงอวยพรแฮ้ปปี้เบิ๊ร์ธไดย” วาสนา
นาน่วมรายงาน
ดูจะไม่บังเอิญที่ประชาชน ๓๘.๖๔%
ของ ‘นิด้าโพล’ อยากให้ทั่นจันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด
ทิ้งห่างหญิงหน่อยขาดลอยตั้ง ๒๕.๖% เมื่อ สุดารัตน์
เกยุราพันธุ์ เฉือน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แค่ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ ๑๓.๐๔ ต่อ
๑๒.๒๔
ทั้งที่ผลโพลจะออกตรรกะย้อนแย้งในตัวเองอยู่สักหน่อย
โดย ๖๒.๓๒% ของผู้ตอบคำถาม ๑,๒๕๐ คน “อยากเห็นอะไรใหม่ๆ
นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองพรรคเก่า” (เขาคงหมายถึงพรรคประชารัฐมั้ง)
เทียบกับ ๓๗.๖๘%
เห็นว่าพรรคการเมืองเก่า “มีประสพการณ์ ความรู้ ความสามารถ
มั่นใจในผลงาน มีความเข้าใจ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า”
น่าจะเป็นเช่น Sa-nguan
Khumrungroj อ้าง ‘สหายท่านหนึ่ง’ ว่า “#มาถูกทางแล้วครับท่าน การเปลี่ยน ผอ.นิด้าโพลล์ทำให้คะแนนนิยมประยุทธ์ดีขึ้น”
จริงๆ
และเห็นท่าจะไม่บังเอิญอีกเหมือนกันที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย
สมัยพิเศษ ๒๐๑๘ ที่นครซิดนีย์” แม้นว่ารัฐมนตรีประชาสัมพันธ์ คสช. จะ “ปฏิเสธไม่รู้ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีพูดคุยกับนายอนุทินระหว่างเข้าร่วมประชุม”
จะคุยอะไรกันไม่สำคัญเท่านายอนุทินคนนี้
ลือกันว่าใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทรัชกาลที่ ๑๐ การที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในขณะนี้คนเดียวที่ได้ร่วมคณะของรัฐบาลประยุทธ์ไปประชุม
‘ซัมมิต’
ระหว่างประเทศ อาจจะมีนัยยะลึกล้ำตามมา ในการเลือกตั้งที่
คสช.ยืนยันว่าจะมีแน่ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ก็ได้
มิใยที่ผลงานสะเด็ดของ คสช.
ปรากฏโจ่งแจ้งอยู่ที่ “ข้าราชการโกงกินเงินคนจนไปกว่า ๘๕% ของงบประมาณทั้งหมด” ดังที่ ispacethailand.org
รายงานสรุปสะท้อนข้อมูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
“จากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี
๒๕๖๐ ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง จำนวน
๗๖ ช่วงตั้งแต่วันที่ ๑๓ ก.พ.–๑๙ มี.ค. ๖๑ พบว่ามีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตงบประมาณ
รวมงบ ๑๐๔,๔๔๐,๐๐๐ บาท คิดเป็นประมาณ ๘๕% ของงบศูนย์คุ้มครองฯ ใน ๔๙ จังหวัด”
ยังไม่นับการลุกล้ำ ก้าวร้าว
ของทหารต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเสรีภาพสื่อมวลชน
ตัวอย่างเรื่องนี้ดูได้จากรายงานของ iLawFX @iLawFX ที่ว่า ปิยะโชติ อินทรนิวาส ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรปัตตานี
ให้ไปรายงานตัวในวันที่ ๒๑ มีนานี้
เหตุสืบเนื่องมาจากเขาไม่ยอมรายงานข่าวตามที่
กอ.รมน. ขอมา ใน ‘ปมการซ้อมทรมาน’ ซึ่งทหาร “ผู้กล่าวหาได้มาแจ้งความร้องทุกข์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท
โดยการโฆษณาฯ” โดยมีเบื้องหลังเรื่องนี้ว่า
“ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค ๔
ส่วนหน้า โทรมาถามเรืองข่าว แต่เขาได้ชี้แจงถึงเสรีภาพสื่อไป
ที่ผ่านมาทหารเคยโทรมาขอให้เอาข่าวชิ้นอื่นลงและพยายามวางกรอบการรายงานข่าว”
อีกเรื่อง “ที่คณะนิติศาสตร์
ม.อ.หาดใหญ่ ทหารในเครื่องแบบ ๖ นาย
เข้ามาติดตามเวทีการพูดคุยเรื่องกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและปกป้องชุมชนตั้งแต่ช่วงเช้า
(๑๙ มีนา) ก่อนที่ช่วงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.จะขึ้นมาที่บริเวณจัดงานชั้น ๕
แต่ไม่ได้เข้าไปในห้องจัดงาน #มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”
วิธีการ ‘ข่ม’ (เขาโคให้กินหญ้า) ยังมีมาอีกรูปแบบ
สไตล์นักวิชาการ
เมื่อประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองพูดแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อสามสี่วันก่อน
เตือนพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งว่าจะต้องมีนโยบาย “เดินตามยุทธศาสตร์ชาติ
๒๐ ปี และมีการปฏิรูป”
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยังกล่าวเตือนประชาชนด้วยว่า “ถ้าเป็นไปได้ ไม่เพียงแต่ทวงถามสิทธิประโยชน์
พูดถึงข้อเดือดร้อนของตนเองเท่านั้น จะต้องเป็นพลเมืองที่ถามว่าตนเองจะทำอะไรให้บ้านเมืองได้
ตนเองจะมาเป็นกำลังของบ้านเมืองอย่างไรได้” (พูดเลียนแบบแจ็ค เค็นเนดี้ ไม่มีผิด)
เจ้าของทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ อันเลื่องลือเผยเสียด้วยว่า
จะมีการเสนอ พรบ. เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง
ให้เป็นไปตามสิ่งที่เขาแถลงไว้ข้างต้น รวมทั้งให้ประชาชนต้องทำตัว “เป็นทั้งประชาชน
พลเมือง และพสกนิกรที่ดีของพระเจ้าแผ่นดิน ของสถาบันพระมหากษัตริย์”
โดยที่แก่นสารแห่งทฤษฎีสองนคราฯ
ของเอนกนั้นตั้งอยู่บน ‘วาทกรรม’ ว่า “ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และมี การศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจสูง
มีแนวโน้มไปลงคะแนนเสียงโดยเลือกพรรคและคำนึงถึงนโยบายของพรรค มากกว่าผู้เลือกตั้งในชนบทซึ่งลงคะแนนเสียงโดยคำนึงถึงตัวบุคคลเป็นสำคัญ”
ที่ซึ่งประจักร ก้องกีรติ
เคยเขียนบทความปกป้องเอาไว้นานแล้วว่า “มีทัศนคติต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวชนบท
ดีกว่างานวิจัยอีกจำนวนมากที่อ้างอิงงานของเอนกเอง” เนื่องจากเอนกระบุใน ‘สองนคราฯ’ ตอนหนึ่งว่า “ไม่ควรคิดว่าการขจัดการซื้อขายเสียง
คือภารกิจแต่อย่างเดียวของการปฏิรูปการเมือง”
จากปาฐกถาของเอนกเมื่อวันที่
๑๕ มีนา คงจะพุดได้ว่าภารกิจอีกอย่างในการปฏิรูปการเมืองของเขา
คือแนะนำประชาชนให้ทำตนเป็นพลเมืองที่เชื่อง
ในนิยามของคณะทหารชุดที่ครองเมืองเรืองอำนาจตลอดทศวรรษที่ผ่านมา