วันพฤหัสบดี, มีนาคม 22, 2561

ปิยบุตร แสงกนกกุล ชี้แจงเพิ่มเติมข้อเสนอที่เกี่ยวกับการจัดการ "มรดก" ของ คสช. การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ และสิทธิเสรีภาพ





ที่มา FB

Piyabutr Saengkanokkul

3 hrs

ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอของผมเกี่ยวกับการจัดการ "มรดก" ของ คสช. การปฏิรูปศาล การปฏิรูปกองทัพ และสิทธิเสรีภาพ ดังนี้

1. ข้อเสนอทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ "แรง" หรือ "อันตราย" เลย

หากท่านยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน ข้อเสนอนี้ก็เป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าหากท่านยืนอยู่บนหลักแบบเผด็จการ ก็อาจจะเห็นว่า "แรง" หากมันจะ "แรง" ก็คง "แรง" ต่อฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เชือมั่นในประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น

2. หากใครที่เห็นว่ารัฐประหารโดยกองทัพเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หากใครไม่อยากเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากใครที่เห็นว่ากองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากใครที่เห็นว่ากองทัพไม่ควรยึดอำนาจและตั้งตนเป็นรัฐบาล ก็น่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของผม

3. เกือบ 4 ปี และคงจะต้องผ่านไปจนเกือบ 5 ปี ประเทศไทยมีประกาศ คำสั่ง ของ คสช จำนวนมาก มีเนื้อหาที่ครอบคลุมในหลายเรื่อง กระทบกับบุคลจำนวนมาก ไม่เพียงเฉพาะแต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญกลับรับรองให้ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยกฎหมายชั่วกัลปาวสาน ทำให้บุคคลทั้งหลายไม่สามารถโต้แย้งประกาศ คำสั่งเหล่านี้ได้เลย ในขณะที่ศาลก็ไม่อาจทำอะไรได้นอกจากยกฟ้องโดยอ้างมาตรา 279

หากปล่อยไว้เช่นนี้ เท่ากับว่า ระบบกฎหมายไทยจะยอม "ยกเว้น" ให้กับการใช้อำนาจของ คสช ให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญทุกมาตรา และกฎหมายทุกฉบับ

เมื่อระบบรัฐประหารของ คสช พ้นไป กลับเข้าสู่ระบบปกติ จึงหมดความจำเป็นที่จะต้องรับรองสิ่งเหล่านี้ ต้องเปิดโอกาสให้บุคคลโต้แย้งประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ได้ ต้องเปิดทางให้ศาลได้ใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ได้ มิเช่นนั้น ประเทศไทยจะไม่มีทางได้ชื่อว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐ

4. การปฏิรูปกองทัพ ก็เพื่อให้กองทัพไทยทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ เป็นสถาบันที่ดำรงอยู่ในระบบได้อย่างสอดคล้องกับประชาธิปไตย เป็นสถาบันที่โปร่งใส ถูกตรวจสอบได้ ให้ทหารชั้นผู้น้อยได้มีสิทธิ มีหลักประกัน

ข้อเสนอต่างๆถูกนำมาใช้และประสบความสำเร็จในหลายประเทศที่เจริญแล้วทั้งสิ้น

5. การปฏิรูปศาล ก็เพื่อให้ศาลโปร่งใส ถูกตรวจสอบได้ เป็นสถาบันที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ให้ศาลได้กลายเป็นองค์กรตุลาการที่เป็น "เสาหลัก" ในการรักษาประชาธิปไตย-นิติรัฐ ได้อย่างแท้จริง

6. หากเชื่อในเสรีประชาธิปไตย เชื่อในสิทธิและเสรีภาพ เชื่อมั่นว่าบุคคลต้องเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพ และการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลนำมาซึ่งการพัฒนาตนเอง และสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลได้ถกเถียงอภิปรายอย่างสร้างสรรค์แล้ว ก็น่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของผมในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เกิดจากการศึกษาค้นคว้าทั้งทางตำรา คำอธิบาย ประวัติศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบ และระบบกฎหมายเปรียบเทียบ ของผมอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน ผมทดลองนำเสนอเพื่อโยนประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ หากเชื่อมั่นในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย จริง ก็ต้องยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ได้ และผมพร้อมที่จะถกเถียงและปกป้องข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ในทุกเวทีครับ

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ คือ การมอง "อดีต" แก้ไขปัญหาใน "อดีต" เพื่อเดินหน้าสู่ "อนาคต" และกำหนด "อนาคต" ของเรา กำหนด "อนาคต" ของประเทศไทยให้ออกจากวงจรรัฐประหาร
กำหนด "อนาคต" ประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ยึดมั่นในนิติรัฐ เคารพสิทธิมนุษยชน

...

5 hrs 

ความคิดข้อเสนอต่างๆที่ผมได้เสนอไปในหลายๆโพสก่อนหน้านี้ เป็นความคิดเห็นของผมที่อยากทดลองโยนความคิดนี้ให้สังคมได้ลองถกเถียงอภิปรายกัน

ความคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ ต้องการแก้ไขปัญหาที่คณะรัฐประหารได้ก่อทิ้งเอาไว้ และไม่อยากให้วงจรรัฐประหารกลับมาอีก

ข้อเสนอต่างๆเหล่านี้เป็นการทดลองของผม ยังเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เสมอ และผมพร้อมไปอภิปรายข้อเสนอเหล่านี้ เพื่อชี้แจงเหตุผล อธิบายสาเหตุและความจำเป็น ถกเถียงกับความเห็นต่าง ได้ในทุกเวทีครับ

.....

6 hrs


การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับศาล

1. ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

2. กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์คณะที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง

3. กำหนดให้มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ

4. คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน

5. ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล

6. แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้แทนของประชาชน

7. กำหนดให้มีผู้ตรวจการศาลแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล ตรวจสอบระเบียบต่างๆของศาลที่เพิ่มเงินให้แก่ตนเอง ตรวจสอบหลักสูตรอบรมต่างๆที่ศาลจัดขึ้น และรับเรื่องร้องเรียนจากผู้พิพากษา

8. กำหนดให้การศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย

9. กำหนดความผิดอาญาในกรณีที่ผู้พิพากษาและตุลาการจงใจใช้กฎหมายอย่างบิดผัน บิดเบือน

10. รับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นต่อศาลและคำพิพากษา ไว้ในรัฐธรรมนูญ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล กำหนดกรอบการใช้กฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล

...

6 hrs

การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

1. รับรองหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ หลักอำนาจสูงสุดของพลเรือนอยู่เหนือทหาร ไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กฎหมายหรือการกระทำอื่นใดจะขัดกับหลักการนี้ไม่ได้

2. แก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม กำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็นอำนาจของรัฐบาล มิใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ


3. กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ จัดทำความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณของกองทัพ รับเรื่องร้องเรียนจากทหารในกรณีที่คับข้องใจจากการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา

4. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้ระบบรับสมัคร เพิ่มสวัสดิการให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย

5. สร้างหลักประกันให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย มิให้ถูกผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจตามอำเภอใจ เช่น ระบบการพิจารณาความผิดทางวินัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้โต้แย้งได้ มีความโปร่งใส เป็นกลาง ระบบร้องเรียนต่อองค์กรภายนอก เป็นต้น

6. แก้ไขปรับปรุงระบบศาลทหารให้สอดคล้องกับหลักการ Decaux

7. ปรับปรุงหลักสูตรวิชาการทหารให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เรียนหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และการฝึกทหารต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน

8. ลดบทบาทของกองทัพในเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ เรื่องภายในประเทศเป็นหน้าที่ของตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ส่วนทหารมีหน้าที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ และในยุคปัจจุบัน ทหารต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศไม่ให้เกิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ ทำหน้าที่ในเรื่องมนุษยธรรม เช่น กรณีติมอร์ตะวันออก กรณีสึนามิ กรณีเฮติ เป็นต้น

9. การรับสมัครทหารตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ
รับรองสิทธิของทหารในความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม รสนิยมทางเพศ และเพศ

10. รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง เช่น ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เข้าร่วมก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล, ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ยิงประชาชน กรณีเหล่านี้ เป็นคำสั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ทหารผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิและหน้าที่ในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม

...

7 hrs

การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในส่วนของสิทธิและเสรีภาพ

1. แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกมาตรการต่างๆอันเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพ หรือกำหนดองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจน หรือลดอัตราโทษหรือกำหนดให้เหลือเพียงโทษปรับ

กฎหมายเหล่านี้ ได้แก่ กฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งระบบ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล เป็นต้น

2. ตรากฎหมายที่สนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคล

3. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างดุลยภาพระหว่างการบริหารราชการในสถานการณ์จำเป็นและวิกฤติ และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล สร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษเหล่านี้

กฎหมายเหล่านี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2550

4. ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ 2002

5. ตรากฎหมายและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด

6. บัญญัติให้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๑๙๔๘ ของสหประชาชาติ มีผลโดยตรงในระบบกฎหมายภายใน มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญ

...

7 hrs

การจัดการ “มรดก” ของคณะรัฐประหาร

1.

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าสมควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

วิธีการ
(1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพิ่มมาตรา 256/1 กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย

(2.) เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/1 แล้วเสร็จ ก็ให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว

(3.) เมื่อประชาชนเห็นชอบกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2.

ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279

มาตรา 279 ได้รับรองให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง การกระทำเหล่านี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย และศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้อง โดยอ้างมาตรา 279 ทั้งสิ้น

กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด บรรดาสิทธและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ย่อมไร้ค่าบังคับทันทีเมื่อเผชิญหน้ากับประกาศ คสช คำสั่ง คสช คำสั่งหัวหน้า คสช

เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด และเพื่อทำให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้บังเกิดผลได้จริง จึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 279

3.

ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก ประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด

(1.) จำแนกประเภทประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด

(2.) ในกรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือในกรณีมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากประกาศ คสช คำสั่ง คสช และคำสั่งหัวหน้า คสช ไปโดยสุจริต

ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง หรือคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี

(3.) ในกรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง

ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้วย

4.

เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการรัฐประหารหรือการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

5.

เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

6.

ทบทวนพระราชบัญญัติทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ