คุยกับทูต “เปียร์ก้า ตาปีโอลา” : ท่าที EU กับ “ประเทศไทย”
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2561
ผู้เขียน ชนัดดา ชินะโยธิน
คุยกับทูต เปียร์ก้า ตาปีโอลา อียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย (4)
ย้อนอ่านตอน (3) (2) (1)
เหตุสำคัญที่ทำให้สหภาพยุโรปหรืออียู เปลี่ยนแปลงท่าทีกับประเทศไทยก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.2017 ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะต้องเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ
ตรงนี้ถือเป็นขั้นตอนแรกของการกลับเข้าสู่กระบวนการด้านประชาธิปไตย
ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 14 เงื่อนไขที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ขีดเอาไว้ให้ไทยเดิน
ครอบคลุมทั้งสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน การดำเนินการสู่ประชาธิปไตย ความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป
“อียูหวังจะได้ทำงานร่วมกันกับประเทศไทยที่ปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก เราจะสนับสนุน เพื่อจะได้มีโอกาสปรึกษาและพูดคุยกันถึงปัญหาและความสนใจร่วมกัน รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พร้อมกับหาจังหวะที่เหมาะสมในการกลับมาเจรจาเรื่องการค้าเสรีอีกครั้ง เหล่านี้เป็นข้อสรุปที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยให้ความสนใจต่อการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด”
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายเปียร์ก้า ตาปีโอลา (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) กล่าว
ไทยกับสหภาพยุโรปในการจัดการเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
การประชุมคณะรัฐมนตรีพลังงานประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ประเทศลักเซมเบิร์ก เมื่อ 26 มิถุนายน ค.ศ.2017 ได้มีการตกลงตั้งเป้าหมายการประหยัดพลังงาน 30% ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถเดินตามเป้าหมายหลักที่กำหนดไว้ในกรอบความตกลงกรุงปารีสว่าด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส และได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจก 40% (เทียบกับปี ค.ศ.1990) ภายในปี ค.ศ.2030
แม้ในความเป็นจริง บรรดาผู้นำหลายประเทศในยุโรปต่างแสดงความผิดหวังหลังจากทราบข่าวสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ.2017
โดยต่างเตือนว่าจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะชะลอการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับสองของโลก
ปัจจุบันสภาพแวดล้อมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเพิ่มจํานวนของประชากรโลก ก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรของแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
และผลกระทบนั้นย่อมส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชากรโลกด้วยเช่นกัน
สหภาพยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับไทย เพราะนอกจากสหภาพยุโรปมีการค้าและการลงทุนกับไทยแล้ว ยังเล็งเห็นบทบาทของไทยในภูมิภาค ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนประเด็นท้าทายต่างๆ ของโลก เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เรื่องที่ทำให้ผมมีความยินดีมากก็คือ ประเทศไทยและอีกหลายประเทศตั้งใจที่จะดำเนินการตามข้อตกลง โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากปริมาณที่เคยปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น ผมจึงมีความสุขที่ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยในเรื่องนี้”
ประเทศไทยคือหนึ่งในภาคีสมาชิกที่ได้ลงนามในความร่วมมือดังกล่าว โดยแสดงเจตจํานงในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศลงร้อยละ 20-25 จากปี ค.ศ.2009 ภายในปี ค.ศ.2030
เพราะฉะนั้น จึงเป็นภารกิจของไทยที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง และต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงดังกล่าว
จากประเด็นที่ว่ามานี้ภาคประชาสังคมจึงเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศชาติสามารถทำให้ข้อตกลงฉบับนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
“หลายคนถามผมว่า ประเทศไทยในปัจจุบัน แตกต่างจากประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมมาเป็นนักการทูตสมัยยังหนุ่มอย่างไร ผมตอบได้เต็มปากว่า เป็นความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปรากฏการณ์ฝนตกในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และบริเวณบางพื้นที่ ซึ่งไม่ควรจะมีฝน เกิดความสับสนเพราะไม่ใช่ฤดูฝน”
“หากใครพูดว่า ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมอยากให้คนเหล่านั้นได้มาลองสัมผัสและไตร่ตรองว่ามันจริงหรือ ซึ่งเราก็ได้เผชิญกับฤดูร้อนที่ร้อนกว่าปกติ และฤดูหนาวที่หนาวกว่าปกติในทวีปยุโรป อันมีความเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน เมื่อเห็นความไม่แน่นอนอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องหาทางแก้ไข”
สหภาพยุโรปกับโครงการในประเทศไทย
ลักษณะของโครงการความร่วมมือได้เปลี่ยนไปตามพลวัตการพัฒนาของประเทศไทย ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและไทยเป็นไปในรูปแบบที่เท่าเทียมกัน โดยมีเรื่องการค้าและเศรษฐกิจนำหน้า
นอกจากนั้น ยังทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดในระดับที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสหภาพยุโรปตระหนักถึงบทบาทนำของไทยในเวทีระดับภูมิภาคอย่างเช่นอาเซียน
ปัจจุบัน ความร่วมมือจึงเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ตลอดจนให้การสนับสนุนทางสังคมและผู้ผลัดถิ่น
“ผมคิดว่าโครงการหลักก็คือ ความร่วมมือ สิ่งหนึ่งที่คุณสามารถเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างก็คือ ประเทศไทยร่ำรวยมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี นั่นหมายถึงไทยได้ขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในส่วนของโครงการให้ความช่วยเหลือจากอียูนั้น เรายังมีโครงการกว่า 30 โครงการ และมีเงินทุนกว่า 26 ล้านยูโร โครงการเหล่านี้เน้นในเรื่องของนโยบายแรงงานและการดำเนินงาน” ท่านทูตสหภาพยุโรปชี้แจง
“อียูมีการเจรจาความตกลงในเรื่องแรงงานกับประเทศไทย เราสนับสนุนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการต่อต้านแรงงานที่ถูกบังคับและรูปแบบของการทำงานที่ไม่เหมาะสม การต่อต้านเป้าหมายของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน”
“เรามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรภาคประชาสังคม มีโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ อพช. (NGOs) ให้การอบรมด้านการศึกษา สาธารณสุข และอบรมด้านอาชีพแก่ผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา (Myanmar) นอกจากนี้ เราได้เห็นถึงปัญหาการลักลอบขายสัตว์ป่า การละเมิดสิทธิของแรงงานอพยพ เราสนับสนุนเครือข่ายลุ่มน้ำโขงและการปลูกป่า”
“อียูได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในด้านที่ผมกล่าวข้างต้น แต่ในระหว่าง 20-25 ปีที่ผ่านมาไทยได้เปลี่ยนจากประเทศที่รับความช่วยเหลือมาเป็นประเทศคู่ค้า นั่นหมายความว่า เราไม่มีโครงการความร่วมมือในรูปแบบเดิม เนื่องจากไทยมีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้อียูและไทยได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานร่วมกัน”
“ขณะเดียวกันเราได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคหลายครั้ง ในด้านการให้ความช่วยเหลือคณะทูตและตัวแทนประเทศสมาชิกอียู ซึ่งผมมองว่างานด้านนี้เป็นงานบริหารจัดการเช่นกัน ในปัจจุบัน เรามีพันธมิตรที่มีระดับเท่าเทียมกันมากขึ้น ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งมากขึ้นแต่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรสูง”
“ซึ่งผมหวังว่าประเทศไทยจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ นี่คือความแตกต่างอย่างมากจากเมื่อ 20-25 ปีที่ผ่านมา”
เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการทุนการศึกษาของสหภาพยุโรป อีราสมุส พลัส (Erasmus+) เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลกในแง่ของขนาดและเงินทุนและเป็นที่ต้องการมากที่สุดในการเรียนต่อที่ยุโรป สำหรับนักศึกษาและนักวิชาการจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป รวมทั้งประเทศไทย
ทุนการศึกษาที่มอบให้นั้นเป็นจำนวนสูงและเป็นทุนให้เปล่า ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่ค่าเดินทางไปจนถึงค่าที่พักและอาหาร ตลอดจนค่าเล่าเรียน และประกันต่างๆ นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งแล้ว ทุนนี้ยังเปิดโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของยุโรปอีกด้วย
“ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยที่ได้รับทุนจากโครงการนี้ประมาณ 1,000 คน ส่วนมากจะเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาโท ผมทราบดีว่านักศึกษาไทยจำนวนมากมักไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศในแถบยุโรปก็มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากมายเช่นกัน”
“ผมจึงหวังจะเห็นการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนต่อประชาชนของประเทศในยุโรปกับประเทศไทยมากขึ้น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับประเทศไทยให้ทวีความใกล้ชิดกัน อันเป็นเรื่องสำคัญที่ผมมุ่งมั่นจะพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป”
...
อียูโผล่จุ้น! กดดันหนักทวงสัญญาบิ๊กตู่เลือกตั้งเดือนพย.ปี61หลังฟื้นสัมพันธ์การเมืองไทย
ที่มา คมชัดลึก