กลิ่นอาย ๑๔ ตุลาฯ โชยมาเล็กน้อย เมื่อ ‘ทุ่งใหญ่นเรศวร’ ขึ้นพาดหัว น่าคิด ๒๕๖๑
จะเดินรอยตาม ๒๕๑๖ ไหม
คำของผู้อยู่ในเป้าตาวัวของข้อกล่าวหา ‘ล่าสัตว์คุ้มครอง ผิดกฎหมาย’ ปี ๖๑ ว่า “ผมไม่เกี่ยวข้อง...มาเที่ยวพักผ่อน
จะแก่ตายอยู่แล้ว” ปี ๑๖ พ่อผู้ต้องหาพูดแทน ว่าซากสัตว์ที่ปรากฏ “อาจเป็นของคนอื่นฝากมา”
ปี ๑๖ ลงเอยอย่างไรรู้กันดี
แต่จากทุ่งใหญ่ฯ ไปราชดำเนินมีอะไรอีกบ้าง ว้อยซ์ทีวีเขาเสนอไว้ที่นี่ https://www.voicetv.co.th/read/B1cq9sUIf สำหรับปี ๖๑ มีคนบอกไว้ว่า น่าจะลงเอยแบบอีกคดีเมื่อปี ๕๕
เพียงแต่ว่า “ทั้งสองคดีน่าจะใช้กลยุทธ์ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ
ให้คดีเงียบหายไปจากความสนใจของสังคม” แม้นว่าหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์จะประกาศดันคดีถึงที่สุด
ไม่หวั่นกลัวอิทธิพลใดๆ
(แกะมาจากเฟชบุ๊คของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
‘Vanchai Tantivitayapitak’
เปรียบเทียบระหว่างคดีของ บอส
อยู่วิทยา ทายาท ‘กระทิงแดง’ กับ
เปรมชัย กรรณสูต ซีอีโออิตัลไทย ถูกจับได้คาหนังคากะโหลก ‘เสือดำ’)
คดีของนายเปรมชัยเกิดจาก “เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์
๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่บริเวณป่าห้วยปะชิ
ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ท้องที่ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ
จังหวัดกาญจนบุรี ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาน้ำโจน”
หน่วยพิทักษ์ป่าได้รับรายงานว่าคณะของนายเปรมชัย
ลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดที่ ขสป.ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกไม่อนุญาต
จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพิสูจน์ทราบ ก็พบอาวุธปืนยาวหลายกระบอกพร้อมกระสุน
แล้วยังมีซากไก่ฟ้าหลังเทาและเนื้อเก้งด้วย จึงควบคุมคุมนายเปรมชัยและพวกรวมสี่คนไปยังสำนักงานเขต
จากนั้นเจ้าหน้าที่กลับไปตรวจค้นบริเวณแค้มป์อีกในวันรุ่งขึ้นก็พบซากเสือดำ
ทั้งหนังและกะโหลกซ่อนอยู่ในพุ่มไม้บริเวณใกล้ๆ จึงได้แจ้งข้อหา ๖
กระทงในเวลาต่อมา หลังจากยื่นประกันปล่อยตัวชั่วคราวแล้วทนายของนายเปรมชัยกล่าวว่า
“นายเปรมชัยได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่หัวหน้าหน่วยนั้น
และได้รับอนุยาตให้เข้าพื้นที่ไปตามความประสงค์อย่างถูกต้อง ‘เจ้าหน้าที่ก็ทราบดี’ (แต่ใบอนุญาตให้สำหรับเส้นทางที่เปิดสำหรับการท่องเที่ยวชื่อ
‘ทินวย-ทิคอง-มหาราช’ ระยะ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น)”
พอถูกถามว่าคณะเดินออกไปนอกเส้นทางที่อนุญาต
นายวิฑูรย์ ยิ้มพราย ทนายผู้ต้องหาตอบว่า “ไม่ใช่นอกเส้นทาง” เห็นว่าจุดตั้งแค้มป์เป็นแหล่งน้ำ
หากเดินทางต่อไปอาจได้รับอันตราย “เพราะเส้นทางคดเคี้ยวและไม่ชำนาญทาง”
อ้า ไม่ชำนาญทางก็จ้างพรานสิ เท่าที่เคยเห็นพรานทุ่งใหญ่ฯ นี่เขารู้ทุกซอกทุกมุมแหละ
แล้วอีกสามคนที่ไปด้วยกันนั่นก็ไม่มีใครชำนาญทางบ้างหรือ ถ้าคนที่ยิงสัตว์ไม่ใช่ตัวผู้ต้องหา
ก็น่าจะเป็นไปตามสมมุติฐานที่ใครคนหนึ่งตั้งไว้ออนไลน์ ว่าคิดดูแล้วกัน
เศรษฐกิจยุค คสช. นี่แย่ขนาดไหน ต้องล่าสัตว์มาเป็นอาหาร
ส่วนทั่นซีอีโอบรรษัทยักษ์อย่างอิตัลไทยนี่คงไม่จำเป็นต้องยิงสัตว์ป่าหายากมาเป็นอาหารด้วยตนเอง
ชื่อเสียงของอิตัลไทยดูเหมือนจะกระฉ่อนในด้านปกปักรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังผู้ใช้นาม Urachai
Sornkeaw โพสต์เรื่องบรรษัทภิบาลของอิตัลไทยเอาไว้
“ข้อ ๑.๖ ผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม :ไม่กระทำการใดที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม” อย่างเช่น โครงการสร้างสะพานคู่และอุโมงก์ให้สัตว์เดินลอดข้ามระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับทับลาน
ใน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เพื่อให้ผืนป่าดงพญาเย็นกับเขาใหญ่ได้เป็น ‘มรดกโลก’ อย่างสมภาคภูมิ นั่น
ระยะทาง ๓ กิโลเมตรจากหลัก กม.ที่ ๒๖ ถึง
๒๙ “บจม.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน ๑,๓๑๙ ล้านบาท
มีผลงาน ๗๒% ยังล่าช้าจากแผน ๑๐% กำหนดเสร็จปลายปี ๒๕๖๑”
การนี้ถ้าข้ออ้าง ‘ปฏิเสธทุกข้อหา’ ของทั่นซีอีโอทำท่าจะฟังไม่ขึ้นเพราะอีกสามคนที่โดนข้อหาร่วมด้วยนั้นปรากฏว่ามีคนใดคนหนึ่งหรือสองสามคนมีความชำนาญงาน
‘พราน’ เป็นทุนอยู่ละก็
ขอแนะนำทั่นทนายให้ใช้ข้ออ้างใหม่นี่
ว่าทั่นซีอีโอเข้าไปทุ่งใหญ่เพื่อดูลู่ทางจัดทำโครงการแบบเดียวกับเขาใหญ่-ทับลาน
บังเอิญยุคนี้เศรษฐกิจมันฝืดมาก พวกพรานเขาเลยยิงสัตว์ (หายาก) มาเป็นอาหารสักมื้อสองมื้อเพื่อให้ผ่านไปได้สักวันสองวัน
ก็น่าเห็นใจอยู่
ที่กระซิบให้อย่างนี้ไม่ใช่ไร
(เว้นแต่ทนายจะรู้ช่องอยู่แล้ว) ไม่อยากให้กรรณสูตน้อยหน้าอยู่วิทยา รู้ๆ
กันอยู่ว่ายุค คสช.นี่ต้องประชารัฐ เชิดชูเจ้าสัวอย่าให้มัวหมอง ซีพี ไทยเบฟ เร็ดบุล
สหพัฒน์ ช.การช่าง อิตัลไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไชโย