นี่ยังไม่ครบสี่ปีดีทั้งลิ่วล้อและลูกไล่
คสช. ออกลายกันเป็นแถว ใช้อำนาจเกินเกณฑ์ตามอำเภอใจ อ้างตรรกะอย่างแถไถ
เอาแต่ได้ถ่ายเดียวไม่คำนึงถึงอื่นใดทั้งสิ้น
สนช. หรือกลุ่มบุคคล (ส่วนใหญ่นายทหาร) ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาทำการประทับตราและออกกฏระเบียบบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป
ถึงคราวพร้อมใจอนุมัติมาตรการ “เพื่อประโยชน์ส่วนตัว” หักล้างหลักเกณฑ์ความประพฤติสำหรับองค์กรที่พวกตนได้รับแต่งตั้งเข้าไปกินเงินเดือนเรือนแสน
ที่มาจากภาษีอากรของประชาชน
ประมวลจริยธรรมสำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติข้อ
๒๓ (ทั้งหมดมี ๔๕ ข้อ) กำหนดให้ทุกคนต้องอุทิศเวลาแก่งานราชการ
ไม่เบียดบังเอาไปใช้ในการประกอบธุรกิจส่วนตัว
แต่เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มติ
สนช. ๑๖๐ เสียง (นอกนั้นงดออกเสียง ๖ คน และไม่ได้ลงคะแนน ๑ คน)
เห็นชอบไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่ ตามความเห็นของประธานกรรมาธิการ
กล้ารงค์ จันทิก ที่ว่า
สมาชิกหรือกรรมาธิการ “สามารถยื่นลา (กิจ)
ต่อประธาน สนช. เหมือนที่เคยปฏิบัติมา (เป็นนิจสิน) ได้โดยจะไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติ”
จากตำแหน่ง
ตรงกับคำวิจารณ์จากชาวบ้านพลเมืองเน็ตที่ปรากฏทางไซเบอร์
ถึงพวกลูกไล่ คสช.เหล่านี้ที่ว่า “ด้านได้อายอด” เสียจริง
“วันก่อนเพิ่งขึ้นเงินเดือนย้อนหลัง
๑๐% ให้ศาลและองค์กรอิสระไปถึงปลายปี ๕๗ วันนี้ สนช.ยกมือให้พวกพ้องตัวเองลางานไปประกอบธุรกิจส่วนตัวได้
๑๖๐ เสียง #ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นี่มันดีจริงๆ”
Incognito @Incognito_me บ่นถึงวิธีการ ‘ฉ้อราษฎร์บังหลวง’ อย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้รองนายกฯ
ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เองต้อง ‘น้อมรับ’
ผลสำรวจที่พบว่าดัชนีการคอรัปชั่นของไทยนั้น ‘แย่ลง’
แม้นว่าผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าจะกล่าวถึงดัชนีการคอรัปชั่นโดยรวม
แต่เน้นตัวอย่างที่ประเด็นการ “จ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (เงินใต้โต๊ะ)
แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริต” ก็ตาม
(อย่าลืมว่า ‘นักการเมือง’ ในขณะนี้ถ้าไม่ใช่พวกคณะรัฐประหารโดยตรง
ก็จะเป็นลิ่วล้อและ/หรือลูกไล่ ที่ คสช.แต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งใดๆ
ที่กินงินเดือนจากรัฐ ทั้งสิ้น)
รายละเอียดที่ทีมผู้บริหารและหัวหน้าโครงการสำรวจของ
ม.หอการค้า ระบุว่าพฤติกรรมคอรัปชั่นส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจทุกๆ ๖
เดือนเมื่อครั้งที่แล้ว (เดือนมิถุนายน) หรือแย่ลงหนึ่งขีดขั้น บางกรณีเพิ่มขึ้น “สัดส่วนสูงสุดในรอบ
๓ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๘” ล้วนอยู่ในขอบข่ายการครองเมืองของ คสช. ทั้งนั้น
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น
(ประเทศไทย) หนึ่งในผู้ร่วมแถลงผลสำรวจตั้งข้อสังเกตุถึงการจัดอันดับภาพลักษณ์การคอรัปชั่นในประเทศต่างๆ
โดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ ‘Transparency
International’ ครั้งต่อไปที่จะออกมาในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์นี้
อันเป็นที่ทราบกันดีว่าครั้งที่แล้วประเทศไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายๆ แย่มาก
เขาตั้งความหวังให้ สนช.ผ่านร่างกฎหมาย “ที่ดูแลเรื่องผลประโยชน์ขัดกันหรือผลประโยชน์ทับซ้อนออกมา”
ว่าจะช่วยลดการคอรัปชั่น “รวมถึงจะสามารถสร้างความชัดเจนและตอบคำถามสิ่งที่เคยเกิดมาแล้ว”
ด้วยได้
กระนั้นก็ตาม น่าจะเป็นความหวังที่ ‘ลมแล้ง’ อยู่พอดู
เมื่อพิจารณาจากความประพฤติของบรรดาสมาชิก สนช. ในกรณีออกใบอนุญาตให้ตนเองไปทำธุรกิจหาลำไพ่ในเวลาราชการได้
หรือไม่ก็กลับกันแบบ พล.ต.อ.สมยศ
พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตนายตำรวจใหญ่ลิ่วล้อ คสช. อีกคนที่บอกว่าเล่นหุ้นเป็นงานหลัก
แต่กินเงินเดือนเรือนแสนในตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นเพียง ‘ไซ้ด์ไลน์’ เท่านั้น
แม้นว่านายมีชัย ฤชุพันธ์
ลิ่วล้อบริกรคนสำคัญในการออกกฎบังคับให้แก่ คสช. ใช้กดหัวประชาชน
(โดยเฉพาะพวกที่ได้ชื่อว่า ‘นักการเมือง’) จะมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีลิ่วล้อ คสช.เล่นหุ้นต่างกรรม
แต่ลม้ายคล้ายคลึงกัน
“กล่าวถึงกรณีที่ นายแพทย์ธีระเกียรติ
เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัญญาสัมปทานและเป็นคู่สัญญากับรัฐ โดยถือครองหุ้น เอสซีจี
ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จำนวน ๕ พันหุ้น”
ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า
รัฐมนตรีที่มีหุ้นครอบครองอยู่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง “ไม่ได้อยู่ในข่ายต้องห้าม...แต่หากจะถือครองหุ้นภายหลังเข้ารับตำแหน่งนั้น
ทำไม่ได้”
อย่างไรก็ดีในกรณีผู้ถือครองหุ้นอยู่แล้วต้องพิจารณาขายหุ้นนั้นออกไปเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน
ถ้าหากจำนวนหุ้นนั้นมากพอก่อให้เกิดผล (น้ำหนัก) ในการออกเสียงในที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทได้
นายมีชัยว่า “หากเป็นหุ้นที่มีอยู่จำนวนไม่มากได้กำไรเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร”
นี่ก็อีกตัวอย่างของการตีความเข้าข้างพวกกันเอง เพื่อประโยชน์ของลิ่วล้อและลูกไล่
คสช. (ก็ว่าได้) แล้วทำไมไม่ตีความตรงตามตัวบทให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป
ถ้ามีแค่ ๕ พันหุ้น แต่เวลาบอร์ดบริษัทจะตัดสินอะไรก็แอบมาถามความเห็นก่อนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีของ
คสช. ล่ะ หรือว่าถ้ามีเป็นล้านหุ้น แต่ขอสละสิทธิไม่โหวตในการประชุมบอร์ด
ซึ่งกรรมการก็มักจะมาถามความเห็นก่อนโหวตเหมือนกันล่ะ
พูดจาภาษากฎหมายมีทั้งดิ้นได้ บิดได้ และ
‘ตงฉิน’ ก็ได้ การปกครองด้วยกฎหมายไม่ได้ก่อให้เกิดความยุติธรรมหรือเที่ยงตรงเสมอไป
เมื่อพูดถึงกฏเกณฑ์สำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนและ/หรือเป็นชาติ
จะถือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ถ้ากฎหมายนั้นไม่ผ่านการอนุมัติของประชาชนเสียงส่วนมาก
หลักการที่ดีที่สุดควรอยู่ที่ ให้เสียงส่วนใหญ่ได้รับการเคารพก่อนกฎหมาย
โดยเฉพาะกฎหมายเขียนโดยพวกคนส่วนน้อยที่ใช้กำลังยึดเอาอำนาจไปครอง