วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 24, 2561
เลือกตั้ง - เลือกคนรุ่นใหม่ พรรคของคนรุ่นใหม่ เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่มีความหวัง
Bernie Sanders : Elite Daily
Jeremy Corbyn : The Guardian, Pablo Iglesias : Die Zeit, ปิยบุตร แสงกนกกุล : มติชน
คนหนุ่มสาว กับ พรรคการเมือง "ใหม่"
..................................................
เมื่อ "คนอยากเลือกตั้ง" ออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด ก็มีบางเสียงบอกว่า "เลือกไปก็ได้คนเดิมๆ พรรคเดิมๆ แล้วก็จะกลับไปมีปัญหาแบบเดิมๆ"
.
วาทกรรมนี้ คิดได้ในบางมุมว่า คนพูดต้องการลดความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งว่า ไม่ใช่ทางออกจากปัญหาที่บ่นๆกันได้หรอก แต่ในบางมุม ผมก็เห็นประเด็นให้คิดต่อว่า ถ้าพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกไม่มีวิวัฒนาการให้คนอยากเลือกตั้ง ปัญหาที่เผชิญอยู่ ก็เห็นทางออกริบหรี่อยู่เหมือนกัน
.
ลองคิดเล่นๆต่อไปอีกว่า สมมุติ ถ้าการเลือกตั้งเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ไม่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวเลือกอยู่ในสารบบของการเลือกตั้งครั้งนั้น ถึงแม้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ประกาศใช้แล้ว แต่การเมืองไทยและสังคมไทยย่อมไม่เป็นเช่นที่เห็นในวันนี้อย่างแน่นอน
.
การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคไทยรักไทย คงย้อนกลับไปเหมือนทศวรรษ 2530 ที่พรรคต่างๆหมุนเวียนกันขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลผสม ไม่มีการชูนโยบายในการเลือกตั้งอย่างจริงจัง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นได้เพียงความใฝ่ฝันของคุณหมอสงวน กองทุนหมู่บ้านไม่เคยเกิดขึ้น ส่วน OTOP และ SME เป็นคำย่อที่ไม่มีใครรู้จัก และเราอาจยังทยอยจ่ายหนี้ให้ IMF อยู่
.
การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคไทยรักไทย คงไม่มีการสร้างความขัดแย้งของสีเสื้อ เพราะเกิดการหมุนเวียนของอำนาจ ไม่มีพรรคใดชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ต้องอาศัยการเมืองบนท้องถนนเพื่อขับไล่รัฐบาล เพราะอายุรัฐบาลสั้นเพียง 1-2 ปี
.
การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยจึงเปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยในทศวรรษ 2540 โดยสิ้นเชิง
.
ผมคิดสนุกๆต่อไปอีกว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยปี 2544 เดินทางข้ามเวลามาเสนอตัวรับเลือกตั้งในปี 2561 หรือ 2562 พรรคไทยรักไทยจะเป็นตัวเลือกที่เปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยได้หรือไม่
.
ฟันธงเลยว่า ไม่ได้ เพราะระบบนิเวศของสังคมเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก คนหนุ่มสาววันนี้ รับแรงกดดันจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ความบีบคั้นจากการแข่งขัน และเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Blockchain, IOT, EV ฯลฯ กำลังรื้อถอนสิ่งที่เขาเคยชินอย่างดุดันด้วยความเร็วแบบยกกำลัง ส่งผลให้เขาเหล่านั้นเรียกร้องหาพรรคการเมืองที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ ซึ่งแน่นอน...พรรคไทยรักไทยยุค 2544 ทำไม่ได้
.
พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่นๆที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแค่ การซ่อม (Fix), ปรับปรุง (Renovate) หรือใหญ่ขนาด รื้อถอน (Disrupt) ก็ตาม
.
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ พรรคการเมือง "ใหม่" ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ สามารถเสนอตัวเป็นทางเลือก หากพรรคการเมืองเดิม อุ้ยอ้าย ขยับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้
.
ผมสัมผัสได้ถึงกระแสลมของพรรคคนรุ่นใหม่ที่พัดแรงขึ้นทุกที ท่ามกลางคลื่นประชาธิปไตยของ "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ก่อตัวใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น
.
และเมื่อมองย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมือง "ใหม่" ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการเมืองไทย และบางครั้งยังเคย "เขย่า" การเมืองอย่างเข้มข้นมาแล้ว
.
ในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่พรรคการเมืองซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ได้รับเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลต่อการเมืองไทยในขณะนั้น
.
1) การเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 พรรคการเมือง"ใหม่"ที่เพิ่งก่อตั้งเพียง 45 วันอย่างพรรคประชากรไทย มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 32 ที่นั่ง เหลือเพียง 3 ที่นั่งให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคม และ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ จากพรรคประชาธิปัตย์
.
2) การเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 พรรคพลังธรรมที่มี พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 32 ที่นั่งจากทั้งหมด 35 ที่นั่ง เหลือเพียง 3 ที่นั่งให้ นายสมัคร สุนทรเวช และ ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์
.
3) การเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 37 ที่นั่ง เหลือเพียง 8 ที่นั่งให้พรรคประชาธิปัตย์
.
อ่านทบทวน 3 ครั้ง คุ้นๆไหมครับ คำว่า "กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร" - พื้นที่ที่เชื่อกันว่า ไม่มีการซื้อเสียง แต่ผู้เลือกเปลี่ยนใจได้เสมอหากผู้ที่ได้รับเลือกไปแล้ว ทำงานไม่ถูกใจ และผู้เลือกพร้อมอ้าแขนรับผู้เสนอตัวรับเลือกตั้งรายใหม่ๆตลอดเวลา
.
การเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจึงไม่เพียงอยากให้มาถึงในเร็ววัน แต่ยังอยากเห็นพรรคการเมือง"ใหม่" ที่ขับเคลื่อนโดยคนหนุ่มสาว เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน และหากพวกเขาทำการบ้านได้ดีพอ เราอาจได้เห็นการ "กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร" อีกครั้ง
.
ที่จริงแล้ว พรรคการเมือง"ใหม่" และนักการเมือง”แบบใหม่” กำลังเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก เพราะคนหนุ่มสาวทั้งโลกในวันนี้ ต่างเผชิญกับแรงบีบคั้นรุนแรงอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเหมือนๆกัน
.
อีกทั้ง คนหนุ่มสาวยังถูกผลักไสให้เป็น "คนนอก" กระเด็นไกลจากแวดวงการเมืองที่มีผลต่อชีวิตและอนาคตของเขา ดังนั้น จึงเกิดการก่อตัว เรียกร้องให้มีตัวแทนของพวกเขาที่เป็นอิสระจากพวก "ขาใหญ่" ในการเมืองแบบดั้งเดิม
.
ไม่น่าแปลกใจ ที่ตัวแทนซึ่งให้ความรู้สึกแบบ "คนนอก" จึงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มก้อนของคนหนุ่มสาว การผงาดขึ้นมาของคนแบบ Bernie Sanders ของสหรัฐอเมริกา, Jeremy Corbyn ของอังกฤษ, Justin Trudeau ของแคนาดา, Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส และ Pablo Iglesias ของสเปน อธิบายความคับข้องของคนหนุ่มสาวยุคนี้ได้พอสมควร
.
วันนี้ เราเห็นคนหนุ่มสาวของไทยลุกขึ้นมาแสดงความรู้สึกว่า "อยากเลือกตั้ง" อย่างคึกคัก ไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ
.
พร้อมๆกัน ก็มีคนหนุ่มสาวบางคนเริ่มคิดดังๆ ให้ได้ยิน วาดหวังถึงตัวแทนของพวกเขาในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เช่น
.
“การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น ไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลา อดทน มุ่งมั่น
แต่การใช้เวลา ไม่ได้หมายความว่า รอเวลาอย่างเดียว โดยไม่ลงมือทำ
ผมเชื่อว่า ยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดดีๆและมุ่งมั่นตั้งใจอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ทำการเมืองแบบใหม่ให้ประเทศนี้อีกมาก
"การเมือง" เป็นเรื่องของเรา หากเราไม่ทำ คนอื่นก็จะเข้ามาทำ
หากเราต้องการให้การเมืองเป็นแบบใด เราต้องลงมือทำเอง
เราต้องสร้าง "ทางเลือกใหม่" ให้สำเร็จให้จงได้
"ทางเลือกใหม่" อาจไม่ชนะในวันนี้
แต่อย่างน้อย ต้องทำให้ผู้คนมี "ความหวัง" กับการเมือง...
การเมืองแบบใหม่ ประชาชนสร้างได้"
- ปิยบุตร แสงกนกกุล
.
ผมทำนายว่า หลังวันที่ 1 มีนาคมนี้ เราจะได้เห็นคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ขับเคลื่อนโดยวิธีคิดแบบคนหนุ่มสาว เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกเขาจะใช้ชีวิตไปอีก 50-60 ปี
.
คนรุ่นใหม่ อนาคตใหม่
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี added 4 new photos.