ผมกำลังศึกษาเรื่องระบบสวัสดิการของประเทศไทย โดยเฉพาะสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เลยขออนุญาตสอบถามเพื่อนๆ หน่อยครับ
ประเด็นคือ ผมไปพบตัวเลขภาระงบประมาณสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้นเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก จากปี 2553 ผ่านไปเพียง 8 ปี ภาระงบประมาณสำหรับเงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว (จาก 87,634 เป็น 191,223 ล้านบาท)
พอเห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแล้ว ผมก็หนักใจแทนรัฐบาลต่อๆ ไป ผมเลยลองค้นข้อมูลเป็นรายปี พบว่า ภาระดังกล่าวมีการก้าวกระโดดในช่วงรัฐบาล คสช. โดยงบประมาณในปี 2559 นั้นเพิ่มขึ้นถึง 21.3% เมื่อเทียบกับปี 2558)
ทำไม?? นั่นสิ ทำไม?? ผมเลยไปไล่ค้นดูอีก เลยพบว่า ในปั 2557 รํฐบาล คสช. มีการออกพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิ์ในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ. 2494 พ.ศ. 2557 (กฎหมาย Undo) มีผลบังคับใช้ 13 ธ.ค. 2557 - 30 มิ.ย. 2558
ผลปรากฎว่ามีข้าราชการใช้สิทธิ Undo กลับไปใช้บำนาญตามเดิมจำนวนประมาณ 250,000 คน และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้งบประมาณสำหรับบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 ล้านบาทในปีถัดไป (ปี 2559)
ผมเลยจะขออนุญาตสอบถามเพื่อนๆ ว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนั้นน่าจะถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้ ผมไปค้นเจอรายงานวิเคราะห์การคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2567 ของโครงการส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินของรัฐสภาได้วิเคราะห์ไว้ว่า
รายจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการเป็นเงินสวัสดิการสังคมที่มีสัดส่วนสูงที่สุดถึงร้อยละ 28 เมื่อเปรียบเทียบกับสวัสดิการสังคมทั้งหมด (และรองรับผู้คนน้อยมากประมาณ 7 แสนคน ในวงเล็บผมเติมเอง)
ในรายงายดังกล่าวได้ย้ำด้วยว่า "ความเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญที่สุดคือการอนุญาตให้สมาชิกกบข.กลับเข้าสู่ระบบเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินเพิ่มประมาณ 374,260 ล้านบาท" (รวมทั้งหมด 9 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2567)
รบกวนเพื่อนๆ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ช่วยชี้แนะด้วยครับ
ภาระที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ ถ้าจริง ผมนึกไม่ออกเลยว่า เราจะหารายได้จากแหล่งใด หรือกิจกรรมใดมาทดแทน
ช่วยแนะนำด้วยครับ
Decharut Sukkumnoed