ไทยจะแพ้คดีเหมืองทองคำ พล.อ.ประยุทธ์ต้องจ่าย
(AREA แถลง ฉบับที่ 11/2561: วันพฤหัสบดีที่ 04 มกราคม 2561
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส)
ดร.โสภณ ฟังธงรัฐบาลจะแพ้คดีเหมืองทองคำเพราะอ้างว่าประชาชนต้องการให้ปิด ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้เปิด เพราะในความเป็นจริงไม่ได้มีมลพิษตามที่กล่าวอ้าง ถ้าต้องชดใช้ พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องใช้เงินส่วนตัวจ่าย หรือไม่ก็ควรเปิดเหมืองใหม่และต่อเวลาให้บริษัทดำเนินการต่อไปได้ตามเวลาที่ถูกปิดไป
ตามที่มีข่าว "งบ 60 ล้าน รัฐบาลไทยตั้งทีมกฎหมายสู้ ‘คิงส์เกต’ ปม ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา" ปรากฎรายละเอียดว่า ". . .นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม. . .'ผมขอยืนยันในนามรัฐบาลไทยว่าเรามีความพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาของคิงส์เกตในทุกกรณี และมั่นใจว่าคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 ซึ่งมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ'. . .ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาสำนักกฎหมายชื่อดัง Arnold & Porter Kaye Scholer LLP เป็นจำนวนเงิน 60,000,000 บาท เพื่อดำเนินการเจรจาการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด"
อาจกล่าวได้ว่าถ้อยแถลงของปลัดกระทรวงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะ
1. ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเหมือง โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 นายอำนวย พานทอง นายอำเภอทับคล้อ และนายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายก อบต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้จัดให้มีการลงประชามติเห็นด้วยกับการที่จะอนุญาตให้ บ.อัคราไมนิ่ง ขยายกิจการสร้างบ่อทิ้งกากแร่ได้ โดยเห็นด้วยเป็นจำนวน 560 คะแนน และไม่เห็นด้วยเป็นจำนวน 269 คะแนน จึงเป็นอันสรุปว่ามติในครั้งนี้ บ.อัครา ไมนิ่ง ได้รับคะแนนเห็นชอบจากชาวบ้านอย่างท่วมท้น ตามข่าวกล่าวว่า "แต่ข้อมูลที่แท้จริงจึงทำให้ชาวบ้านตาสว่างว่าที่ผ่านมาถูกกลุ่มบุคคลบางกลุ่มหลอกและถูกยุยงให้ต่อต้านโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มาโดยตลอดเพียงเพราะมีประโยชน์แอบแฝงกับการค้าที่ดินที่จะบีบบังคับขายเหมืองทองอัครา ถ้าไม่ซื้อก็ปลุกปั่นให้ประท้วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา" (http://bit.ly/1WvASQF)
2. ดร.โสภณ ได้ไปสำรวจความเห็นของประชาชนในเขตตำบลเขาเจ็ดลูก (พิจิตร) และตำบลดงหลง (เพชรบูรณ์) เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา (วันหยุดราชการ) โดยได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาและคณาจารย์ในพื้นที่เกือบ 20 คน ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 78% หรือสี่ในห้า ไม่ต้องการให้ปิดเหมืองทองคำ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีมลพิษ เหมืองมีคุณูปการสูง และไม่มีใครเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำเหมือง และหากตัดกลุ่มคนงานออกไป ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 75% ก็ยังต้องการเหมือง (http://bit.ly/1slFPir)
3. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือที่ นร.0505/16885 เมื่อ 12 พฤษภาคม 2559 ชี้แจงว่าพื้นที่ดินบริเวณเหมืองทองคำอัครามีการปนเปื้อนเหล็ก แมงกานีสและสารหนูในระดับสูงมาก่อนมีการทำเหมืองแล้ว (ไม่ใช่เพราะผลของเหมือง) คุณภาพน้ำใต้ดินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การปนเปื้อนของไซยาไนด์ในนาข้าวยังไม่ได้พิสูจน์ (ว่ามาจากเหมือง) พืชผักก็ไม่แตกต่างจากในบริเวณอื่น และยังไม่มีข้อสรุปว่าโลหะหนักทำให้เกิดการเจ็บป่วยจริง (http://bit.ly/2gNbE0X) แต่รัฐบาลกลับสั่งปิดโดยไม่ได้พิจารณาข้อนี้
การที่ทางราชการอ้างเรื่องปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการอ้างเท็จทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีเหมืองทองคำ ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า
1. ที่ผ่านมา ไม่มีใครป่วยหรือตายเพราะเหมือง กรณีนายสมคิด หรือลุงสมคิด ธรรมพเวช อดีตพนักงานเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่เสียชีวิต ภริยาของผู้ตายก็แจ้งว่า “จากผลการชันสูตรศพสามี ระบุว่า เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค” (http://bit.ly/1Zc11St) ส่วนกรณีนายเฉื่อย บุญส่ง ก็เป็นอีกรายที่สุดลวงโลก พวกเอ็นจีโอเอามาบอกว่านายเฉื่อยตายเพราะมลพิษของเหมือง แต่ฟังข่าวดี ๆ ท่านตายเพราะเป็นโรคตับแข็ง บางคนตกกระไดตาย แก่ตาย ก็เอามาใส่ร้ายว่าเป็นเพราะเหมือง (http://bit.ly/1VuKzxN)
2. คนงานเหมืองก็แข็งแรงดี ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน ถ้ามีโลหะหนักจริงๆ ก็คงไม่มีใครรับบริจาค แม้แต่คนขับรถลำเลียงสินแร่ ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หญิงขับ ส่วนที่เป็นผื่นคัน บางท่านคงไปฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วไม่ได้ล้างตัวให้สะอาด เป็นต้น
3. พืชผักก็ไม่มีสารพิษแต่ถูกเอ็นจีโอหลอก พวกเอ็นจีโอมักใส่ไคล้ว่า พืชผักต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเหมือง ไม่สามารถรับประทานได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง พืชผักยังทานได้ตามปกติ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ชาวตำบลเขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร เข้าแจ้งความกรณีถูกหลอกลงชื่อรับผักปลอดสารพิษ ก่อนนำไปแอบอ้างเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ (http://bit.ly/1P3rjAQ) การแจกผักปลอดสารพิษของเอ็นจีโอ จึงเป็นเพียง “ดรามา” ที่ใส่ไคล้ว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดี
4. อีกกรณีหนึ่งก็คือเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ชาวนาข้างเหมืองทองอัคราพิจิตรได้แจ้งความเอาผิดนักวิชาการพูดเท็จ โดย “ชาวบ้านรอบเหมืองทองเดือดนักวิชาการ NGO มั่วนิ่ม นำรูปนาข้าวไปเผยแพร่ว่ามีสารพิษจากเหมืองทอง กังวลผลผลิตจะขายไม่ได้แห่แจ้งความ เหมืองทองอัครา รวบรวม หลักฐานพยานบุคคลและพยานเอกสารจ่อส่งทนายฟ้อง” (http://bit.ly/1PijwVh) จะเห็นได้ว่ากระบวนการใส่ร้ายป้ายสีเหมืองมีการสร้างกระแสกันอย่างต่อเนื่อง
การปิดเหมืองทองคำจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชน ทำให้ประชาชนยากจนลงเฉียบพลัน ประชาชนต้อง "บ้านแตกสาแหรกขาด" ไปทำงานในท้องที่อื่น เช่น เข้ามาในกรุงเทพมหานคร สร้างปัญหาให้กับสังคมมากขึ้น นอกจากนั้นการปิดเหมืองยังทำลาย เกียรติภูมิของชาติเพราะในขณะที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่กลับปิดเหมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ประกอบการโดยสุจริตเสียหาย เกียรติภูมิของรัฐบาลก็จะเสียหายเพราะไปรับฟังแต่เรื่องเท็จของเอ็นจีโอ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์จึงควรใช้เงินส่วนตัว 30,000 ล้านเยียวยาเหมืองทองคำ (http://bit.ly/2vqNbm1)
หาไม่หากมีการเจรจากันก็ควรให้เปิดดำเนินการต่อไป และยืดเวลาให้ดำเนินการได้ตามเวลาที่ถูกปิด ความสูญเสียก็จะไม่เกิดขึ้น และประชาชนในท้องถิ่นก็จะได้ประโยชน์ เป็นการ "Win Win" ต่อทุกฝ่าย