ติดตา-เตือนใจ มาชม-ฟังสถานภาพไทยๆ ในกะลาแลนด์
ดินแดนที่ คสช.ครองอำนาจมาเกือบสี่ปี มีอะไรดีกว่าเก่าบ้างไหม
เริ่มที่กรุงเทพฯ
มหานครศูนย์กลางจริยธรรมจักรวาล เมื่อวานนี้ ต้นปี ๒๕๖๑ ศตวรรษที่ ๒๑ ฝนเทลงมาตั้งแต่ดึก
รุ่งขึ้นกลายเป็นเวนิชตะวันออกบนท้องถนน เช่นที่ WiPa. @WiPa_ng
ว่าไม่ผิด
“เวนิส เมืองไทย ฝนตกหนักเมื่อไหร่ท่วมเมื่อนั้น
กรุงเทพเมืองแห่งน้ำ #น้ำท่วม”
เช่นกันกับทวี้ตของ Chris Wotton @chriswotton
ถามหาประสิทธิภาพแห่งรัฐ
“Okay, so
it’s been raining since 3 am but, even so, just how incompetent does a state
have to be for its drains to function so badly that this is the end result? #bangkok #thailand”
ระบบระบายน้ำศตวรรษที่แล้วต่างกันไหม
มาถึงนาฬิกาหรูผู้ยิ่ง (พี่) ใหญ่ คสช.
ที่อ้างว่าเพื่อนให้ เลยไม่ได้แจ้ง ปปช.
ซึ่งก็เปิดการตรวจสอบมาเดือนกว่าแล้วยังไปไม่ถึงไหน “ขออนุญาตไม่เปิดเผย”
จนบัดนี้โผล่มาเป็นเรือนที่ ๑๙ เข้าแล้ว เลยยิ่งติดกับคำของทั่นเลขาฯ “ยิ่งมากเรือนก็ยิ่งใช้เวลานาน”
มิใยนักกิจกรรมประชาธิปไตย เอกชัย
หงส์กังวาน พยายามเป็นครั้งที่สามนำนาฬิกาไซโก้ราคาไม่ถึง ๓ พันจะไปมอบให้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แก้ปัญหาไม่ต้องกังวลกฎหมาย ปปช. ไม่ต้องรายงาน
ก็โดนสันติบาลฉกตัวไปนั่งสนทนา ทันทีที่ลงจากรถเมล์หน้าทำเนียบฯ
เอกชัยบอกกับสองนายตำรวจใหญ่ที่นั่งหัวโต๊ะมาขอรับนาฬิกาแทนทั่นรองนายกฯ
“นี่เป็นการมามอบให้เลย ไม่ได้ให้ยืม เพราะว่ายังไม่อยากตาย” และว่านาฬิกาหลายเรือนที่พี่ตือยืมเพื่อนมาสลับเปลี่ยนสวมใส่
“มันไม่ควรที่จะยืมของใครมาใส่นานๆ
โดยเฉพาะเมื่อมีข้อครหาว่านาฬิกาเหล่านี้มันมีราคาที่สูงเกินไป”
แต่หนึ่งในสองนายพลตำรวจ ทั่น ผบ.
สันติบาล พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ตอบกลับอย่าง
‘wisecracks’ หรือแสดงปมเขื่อง
(บางครั้งฝรั่งเรียกว่า ‘smartass’)
“ระบุว่าการที่มีนายทหาร ตำรวจ
ระดับนายพลมารับของขวัญจากเอกชัย ซึ่งเป็นการมอบหมายโดยตรงจาก พล.อ.ประวิตร
นั้นถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้เกียรติกับเอกชัยมาก
จึงขอให้เอกชัยได้มอบของขวัญผ่านตน”
อีกทั้งยังพูดทีเล่นทีจริงขอเปิดกล่องตรวจดูภายในก่อน
“ว่าเป็นระเบิดหรือไม่ด้วย” เอกชัยก็ทำเป็นพาซื่อเปิดกล่องให้ดู
แต่ไม่ยอมมอบกับพวกลิ่วล้อ ขอมอบโดยตรงโอกาสหน้า
เขาเรียนทั่นสองนายพลถึงหลักการเบื้องหลังกิจกรรมสัญญลักษณ์นี้ด้วยว่า
“สำคัญที่สุดคือคนเรามันต้องรักษาเวลา
อย่างที่รัฐบาล คสช. บอกในปี ๒๕๕๗ ว่าขอเวลาอีกไม่นาน ๒๕๕๙ จะเลือกตั้งก็ยังไม่เลือก
๒๕๖๐ ก็ยังไม่เลือก ๒๕๖๑ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เลือกจริงหรือเปล่า
ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดมันได้อยู่ที่มูลค่าของนาฬิกา
มันอยู่ที่เวลา คุณรักษาเวลาหรือเปล่า”
ฟังดูแล้วกัน
คำใครคมกว่า ระหว่างนักกิจกรรมที่ตำหวดพยายามทำให้ดูเหมือนตัวตลก
กับนายพลที่ปล่อยถ้อยคำหลุดออกมาเหมือนฮัดเช่ย (ยังไม่ถึงขั้นผายลม)
ครานี้มาถึงกรณีชายผู้ขาดตกจักษุทัศน์ซึ่งยื่นฟ้องร้องหญิงสาววัย
๒๔ ปีที่มีสภาพดวงตาแบบเดียวกัน ในข้อหา ๑๑๒ ‘หมิ่นกษัตริย์หรือรัชทายาท’ แล้วตามติดท้วงถามจนกระทั่งเธอถูกพิพากษาจำคุกสมหวัง
ฟังการให้เหตุผลประกอบเจตนาของเขาดู
ไฉนจงใจให้เพื่อนร่วมชาติคนหนึ่งได้รับทัณฑ์เพราะฝังใจว่าเธอทำให้ ‘ภาพลักษณ์ของคนตาบอด ต้องเสียไป’ แม้นว่า “ทางตำรวจเขาก็มีแนวคิดไม่สั่งฟ้อง
แต่คราวนี้ผมเรียนท่านว่าเขาเป็นเพียงแต่คนตาบอด
นอกนั้นทุกอย่างก็เหมือนกับคนทั่วไป ไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้ไม่ดำเนินคดี...กฎหมายมันไม่ได้ยกเว้นคนพิการ”
ข้อสำคัญ “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เราอยู่ในประเทศไทย ก็เหมือนกับอยู่ในบ้าน ไม่เคารพพ่อแม่ตัวเอง
ไม่เคารพญาติผู้ใหญ่ มันก็ดูเป็นคนอกตัญญู” และ
“น้องเขารับข้อมูลด้านเดียว ด้วยสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง
ประกอบกับน้องเขาเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมันคงพูดยาก
แต่มีความผิดก็ต้องว่ากันไป เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง”
ฟังแล้วจะ
‘ซึ้ง’ หรือ ‘อึ้ง’ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของบุคคลได้รับการสั่งสม
ปลูกฝังมาอย่างไร ประกอบกับโลกทัศน์รอบกายที่ซึมซับใส่เกล้าปัจเจกชนต่างรับไว้ไม่เหมือนกัน
เรื่องอย่างนี้เป็นไปได้ไม่ว่าที่ไหนในโลก
ต่างแต่ว่าในสังคมประชาธิปไตยเขายอมรับซึ่งกันและกัน ไม่สามารถบีบบังคับกดหัวให้ต้องน้อมนอบกับแบบใดแบบหนึ่ง
ดังที่
อจ.เกษียณ เตชะพีระ เปรียบเปรยไว้ในบทกลอน “เธอไม่เห็น มืดมากแต่อย่ากเห็น
จึงเลือกเฟ้น ดิ้นรนเฝ้าค้นหา เขาไม่เห็น แต่แสงแวบจนแสบตา ยื่นมือปิดใบหน้า
สองตาเธอ”
เป็นผลให้ที่เหลือจากนี้
“ดวงใจบอดสนิท ปิดเสมอ” แล้วจะทำอย่างไรกัน
อันกฎหมายอาญามาตรา
๑๑๒ ของไทยเป็นที่กล่าวขานกันทั่วโลกว่า ‘Draconian’ รุนแรงร้ายเหลือ
เกินกว่ามาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนจะทัดทาน
ใครก็ตามสามารถฟ้องใครก็ได้ให้ต้องรับโทษสูงสุดแต่ละกระทง ๑๕ ปี ทั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันทางการเมืองอยู่เนืองๆ
เจ้าพนักงานและตุลาการไม่กล้าหลีกเลี่ยงหรือเมินเฉย
โดยมิพักว่าจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่ากระทบกระเทือนเบื้องยุคลบาทขนาดไหนแน่
เพียงเพราะกลัวว่าตนเองจะพลอยมีผิดไปด้วย
อีกซ้ำผู้ถูกแจ้งความจะไม่ได้รับการประกันตัวปลดปล่อยชั่วคราวเสมอ
และการพิจารณาคดีมักกระทำเป็นความลับ ทำให้สังคมไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ากระบวนการ ‘ยุติธรรม’ จริงไหม
เราเป็นกันแบบนี้มาแล้วหลายสิบปี
แล้วจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกแค่ไหน ถึงอสงไขยไหมหนอ