วันอาทิตย์, มกราคม 07, 2561

พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายในปี 2544... แล้วการเลือกตั้งใหญ่ที่เราอยากให้มาถึงปลายปีนี้ละ พรรคเพื่อไทยต้องเตรียมเปลี่ยนขนาดไหน... สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี





ทำไมพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายในวันที่ 6 มกราคม 2544
.........................................................

วันนี้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว
.
การเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป ไม่ย้อนกลับไปเหมือนเดิมอีก
.
พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเกือบครี่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (248 คนจาก 500 คน) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
.
ผลการเลือกตั้งทำให้หลายฝ่ายงุนงง แทบไม่เชื่อว่าเป็นความจริง บางคนบอกว่า มีการซื้อเสียงกันมโหฬาร บางคนบอกว่า เป็นปาฏิหารย์
.
แล้วอะไรกันแน่ ทำให้พรรคไทยรักไทยซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเพียง 2 ปี 5 เดือน เอาชนะพรรคเก่าแก่ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ได้
.
เมื่อทบทวนผลการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง พบว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้จำนวน ส.ส.เพียง 22% - 32% และ ใกล้เคียงกับอันดับ 2 มาก ส่วนการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว (248 :128)
.
ปัจจัยที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องซื้อเสียงที่เล่าขานกันมาทุกยุคทุกสมัย เพราะการซื้อเสียงย่อมไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากการเลือกตั้ง 3 ครั้งก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญขนาดนี้
.
ผมคิดว่า มีปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการที่สร้าง "ปาฎิหารย์" น่าตื่นตะลึงนี้
.
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สร้างระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนขึ้นมา เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคเป็นครั้งแรก และยังแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เขตที่เล็กลง ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น
.
ทุกพรรคการเมืองใช้เพียงเบอร์เดียวในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ทำให้ง่ายต่อการจดจำของประชาชนผู้มาเลือกตั้ง
.
การเกิดขึ้นของคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เป็นอีกหนึ่ง "นวัตกรรม" ของรัฐธรรมนูญนี้ และการทำงานของ กกต.ชุดแรกซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นชุด "ดรีมทีม" ที่ทำงานอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้คืนหมาหอนคลายมนต์ขลังลงไปมาก
.
2.พรรคไทยรักไทยตั้งเป้าเป็นพรรคการเมืองแนวทางใหม่ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ชูนโยบาย "คิดใหม่ ทำใหม่" ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส พัฒนาคน พัฒนาประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ เกษตร การศึกษา สาธารณสุข ยาเสพติด การต่างประเทศ ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งนักคิด นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมให้ความเห็น
.
มีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่นโยบายด้วยหลากหลายรูปแบบ เช่น ทำหนังสือคู่มือนโยบายด้านต่างๆ จัดนิทรรศการ SME ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดประชุมใหญ่ตัวแทนสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศเพื่อประกาศ 11 วาระแห่งชาติ ที่ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นต้น
.
ที่น่าสนใจมากคือ การติดตั้งป้ายฟิวเจอร์บอร์ดที่เราเห็นคุ้นตากันตามถนนเมื่อมีการเลือกตั้ง แต่พรรคไทยรักไทยทำป้ายแบบนี้ หลายหมื่นแผ่นไปติดตั้งที่กลางหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศ ก่อนเลือกตั้งนานแรมปี จนมีคนแซวว่า ป้ายคงผุพังไปก่อนได้เลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่นโยบายอย่าง "พักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค" ได้เข้าไปอยู่ในใจประชาชนจำนวนมากไปแล้วก่อนประกาศวันเลือกตั้งเสียอีก
.
3.พรรคไทยรักไทยใช้การบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ในการวางแผนเลือกตั้ง และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีเข้ามาทำงานการเมือง มีทั้ง นักวิชาการ แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน
.
คนรุ่นใหม่เหล่านี้ มีพลังมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ จุดอ่อนคือ ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เราเรียกกันเล่นๆว่า "นกแล" แต่นกแลเหล่านี้แหละที่เดินหาเสียงอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนเข้าโค้งสุดท้าย นักการเมืองอาวุโสเจ้าของพื้นที่ ชนะเลือกตั้งมาแล้วหลายสมัยเริ่มหวั่นไหว เมื่อผลเลือกตั้งออกมา ปรากฎว่า "ช้างล้ม" ไปจำนวนมากเพราะ"นกแล"หนุ่มสาวนี้เอง
.
ดูจากรายชื่อ ส.ส.ที่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมาในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 จำนวน 248 คน พบว่า เป็น ส.ส.เก่าจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เพียง 93 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 155 คน บางคนเป็นอดีต ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในปี 2539 แต่ส่วนใหญ่ คือ "นกแล" ที่มีพลังสร้างสรรค์
.
การเลือกตั้งใหญ่ที่เราอยากให้มาถึงปลายปีนี้
.
ไม่มีใครรู้ว่า ผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จะเปลี่ยนระบบนิเวศของการเลือกตั้งไปมากขนาดไหน
.
ไม่มีใครรู้ว่า Social media อย่าง Facebook, Twitter, Instagram จะส่งผลในการรับรู้ข่าวสารการเลือกตั้ง แล้วมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนมากมายเหมือนใน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ หรือไม่
.
ไม่มีใครรู้ว่า คนที่เคยไปเลือกตั้งเมื่อ 7 ปีที่แล้วยังคิดเหมือนเดิมไหม และคนที่อายุ 11-17 ปีที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเมื่อ 7 ปีที่แล้วอีกหลายล้านคน คิดอย่างไรกับอนาคตของเขาเมื่อไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง
.
แต่ผมรู้แน่ว่า แนวทาง วิธีคิด วิธีบริหารจัดการ เป๊ะๆอย่างที่พรรคไทยรักไทยเคยเริ่มไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และพรรคการเมืองอื่นทำตามอย่าง ไม่เพียงพอแล้วในวันนี้
.
วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก พรรคการเมืองทุกพรรคต้องทำมากกว่านั้น
.
ต้องมีนโยบายที่รองรับอนาคตของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่น
.
พรรคการเมืองต้องดึงดูดคนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีที่เก่งกาจสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎหมาย รัฐศาสตร์ การจัดการ จำนวนมากมายในสังคมนี้ เข้ามาทำงานการเมือง เข้ามาร่วมรับผิดชอบ คิด และขับเคลื่อนนโยบายที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก
.
พรรคการเมืองต้องมี Platform ของการจัดการแบบใหม่ที่ใช้ศักยภาพของ Social Network ได้เต็มที่ในทุกระดับ ทั้งกระบวนการจัดการภายใน การทำนโยบาย การรณรงค์หาเสียง และการระดมทุน
.
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราพูดกันว่า Differentiate or Die
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราพูดกันว่า Innovate or Die
วันนี้ ผมเชื่อว่า พรรคการเมืองต้อง Disrupt or Die




สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี