วันศุกร์, ธันวาคม 15, 2560

ปริญญาของไผ่ ไม่ได้ไปรับ กับปริญญาของป้อม เขาประเคนให้ คุณค่าต่างกันเพียงใด

วันนี้เป็นพิธีเข้ารับปริญญาบัตรของผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นประจำปี ๒๕๖๐ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นบัณฑิตใหม่ผู้หนึ่งที่ไม่สามารถไปร่วมพิธีได้

โดยมิใช่เพราะป่วยไข้ล้มหมอนหรือมีอันต้องอยู่ห่างไกลสุดวิสัยที่จะไปร่วมงาน แต่เพราะเขาถูกกักกันคุมขังด้วยคำตัดสินความผิดต่อข้อหาเจาะจงเฉพาะตัว มากเสียยิ่งกว่ามาตรการกำหนดความผิดโดยตัวบทกฎหมาย

นั่นคือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จากการแบ่งปันหรือแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ ของบีบีซีไทย อันมีผู้กระทำการแบบเดียวกัน ๒ พันกว่าราย แต่ตุลาการไม่ใส่ใจที่จะทำการฟ้องร้องลงโทษ ขณะที่บทความดังกล่าวโดยตัวของมันเองก็มิได้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเช่นกัน

คดีคล้ายคลึงกันเคยมีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกตัดสินจำคุกจากการเป็นบรรณาธิการวารสาร ที่มีการตีพิมพ์บทความอันถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งผู้เขียนบทความเองได้ถูกแจ้งข้อหาในประเด็นเดียวกันนี้แต่อย่างใด

กล่าวกันว่าเขาโดนพิพากษาความผิดสองกระทง ๑๐ ปี เพราะการพยายามต่อสู้คดี ไม่ยอมสารภาพดังเช่นผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ อื่นๆ ทั่วไป และระหว่างการต่อสู้คดีเขาถูกปฏิเสธการประกันตัวปล่อยชั่วคราวโดยตลอด ๑๖ ครั้ง

(อย่างไรก็ดี สมยศได้รับการผ่อนโทษหลังจากติดคุกมาเกือบ ๖ ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ให้เหลือโทษคดี ๑๑๒ เพียง ๖ ปี บวกกับโทษหมิ่นพลเอกสะพรั่ง กัลยาณมิตรอีก ๑ ปี เขาจึงเหลือเวลาต้องติดคุกอีกราว ๕ เดือน http://www.bbc.com/thai/thailand-39060931)

คดีของไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา บัณฑิตใหม่นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี ๒๕๖๐ ก็ดูจะเดินตามรอยเดียวกัน อาจต่างก็แต่ตอนลงท้าย

ไผ่เป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและคนยากจนในสังกัดกลุ่ม ดาวดินอันเป็นที่มาของฉายาเขา ไผ่โดนข้อหาครั้งแรกฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. (๓/๒๕๕๘) จากการชูป้าย คัดค้านรัฐประหารเมื่อพฤษภา ๕๘ เขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ๑๓ วัน

เขาพูดถึงการติดคุกไว้ว่า “อยากทำให้เห็นว่าในสถานการณ์อย่างนี้การติดคุกเป็นเรื่องปกติ จริงๆ สังคมตอนนี้เราต้องไปอยู่ในคุกกัน ก็กฎหมายมันเป็นแบบนี้ กฎหมายมันลิดรอนสิทธิเสรีภาพ”


ในปีต่อมา ๒๕๕๙ เขาถูกดำเนินคดีอีกสองคดีจากการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน คดีหนึ่งจากการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ๕๙ อีกคดีจากการเสวนาเรื่องเสรีภาพที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จนปลายปี ๕๙ นั้นเอง เสธ.พี้ช หรือ พันโทพิทักษ์พล ชูศรี ทหารคนดังของขอนแก่นที่ต่อมาฟู่ฟ่าจากการปิดถนนมิตรภาพเพื่อจัดงานแต่งงานของตนเอง ได้ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษไผ่ในข้อหา ๑๑๒ ที่มุ่งหมายเก็บตัวไผ่ไว้ในคุกระยะยาว ด้วยการที่ศาลสั่งถอนประกันตัวอ้างว่าได้รับการปล่อยตัวแล้วไผ่โพสต์ข้อความเย้ยหยันศาล

จากนั้นมาศาลปฏิเสธการขอประกันปล่อยตัวไผ่ชั่วคราวโดยตลอด ๑๓ ครั้ง จนกระทั่งเขายอมจำนน รับสารภาพในคดี ๑๑๒ ถูกพิพากษาจำคุก ๕ ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ ๒ ปี ๖ เดือน ซึ่งเขาถูกคุมขังมาเป็นเวลาราว ๑ ปีได้แล้ว

ไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นเรื่องปกติแบบใหม่ ‘New Normal’ หรือไม่ เมื่อทนายอานนท์ นำภา ก็กำลังโดนตำรวจฟ้องในข้อหา หมิ่นศาลด้วยอีกคน ผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์
และสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งหมายเรียกให้ทนายอานนท์ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ ๒๐ ธันวา โดยแจ้งว่าเหตุแห่งการดำเนินคดีมาจากการโพสต์ข้อความของทนายอานนท์เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน แต่ไม่ระบุรายละเอียด


สำหรับกรณีไผ่นั้นอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนถึงการพลาดพิธีรับปริญญาของเขาไว้น่าคิด

ผู้บริหารของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ฉวยโอกาสนี้หยิบยื่น ความมีเยื่อใย ให้กับลูกศิษย์คนหนึ่งที่นอนคุกด้วยข้อหาทางการเมือง และการต่อสู้กับเผด็จการทหารมากว่าปี ด้วยการแสดงความ ปรารถนาดีและ กำลังใจ ให้กับเขา...

ช่วงรับปริญญาจึงนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเหล่าผู้บริหารของสถาบันการศึกษาจริงๆ เพราะมันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ ฟอกตัว ผ่านคำพูดสวยๆ กลวงๆ ไม่กี่คำ พวกเขาดูดีขึ้นในทันตา แต่ไม่ได้เปลี่ยนชะตากรรมของนักศึกษาท่านนั้นที่ยังคงนอนคุกอยู่แต่อย่างใด

อันที่จริงพิธีรับปริญญามิได้มีคุณค่ามากไปกว่าความสำเร็จจากการร่ำเรียนศึกษา ความอึดและอดทนกับการค้นคว้า ขีดเขียน และครุ่นคิด เป็นเวลา ๔ ถึง ๕ ปีต่างหาก

ภาพถ่ายการสวมครุยเข้ารับ (พระราชทาน) ปริญญาบัตร เป็นดั่งกุหลาบก้านติดหนาม จะทิ้งก็นึกถึงค่าใช้จ่ายที่เสียไป ค่าเช่าครุย จ้างช่างภาพในวันนั้น จะแขวนก็เขิน เพราะนอกจากอาชีพทนาย นักบัญชี ขายประกัน (และทแนะ -ที่ปรึกษา) หรือการแพทย์แล้ว ภาพครุยและปริญญาไม่ได้มีความหมายเท่าศรัทธาจากผลงาน

แต่การได้ร่วมพิธีก็สามารถเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับบัณฑิตใหม่ ว่านี่คือจุดเชื่อมหรือแท่นพักจากชุดบันไดช่วงหนึ่งขึ้นไปหาอีกช่วงหนึ่ง ของการไต่เต้าทางการงานอาชีพ

ต่างกับบางคนที่ได้มันมาอย่างง่ายๆ ดังที่ อจ.ปิ่นแก้วอ้างถึงไว้ “เนื่องจากนายทหารผู้นี้ เคยนำศิษย์เก่า รร.นายร้อยมาก่อสร้างพระบรมธาตุที่วัดแห่งหนึ่งในนครพนม ซึ่งนับเป็นมหากุศลอย่างใหญ่หลวงต่อจังหวัดแห่งนี้”

ก็ไม่เข้าใจและคงด้อยปัญญายิ่งกว่า อจ.ปิ่นแก้วเสียอีกว่า แขนงวิชารัฐประศาสนศาสตร์นี่เกี่ยวเนื่องกับมหากุศลจากการก่อสร้างพระบรมธาตุอย่างไร

ในขณะที่ผู้ได้รับการประศาสน์เองก็ยังอยู่ในระหว่างถูกตรวจสอบเรื่อง แหวนเพชรเม็ดโป้งกับนาฬิกาหรู มูลค่าเกินสองแสนเป็นสิบๆ เท่า แต่ไม่เคยแจ้งในบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ (รวมทั้ง “ในส่วนนาฬิกาหรูเรือนใหม่” ด้วย https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_667420)

มิหนำซ้ำ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนมผู้ให้คุณค่าพระธาตุฯ เทียบเท่าดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ทางรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ วัย ๗๑ ปี ซึ่งเป็นอดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น

สำนักข่าว หงวน (Sa-nguan Khumrungroj) จัดให้ “เมื่อปลายเดือนเมษายนปีนี้ คณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนมและภาคประชาชนใน จ.นครพนม กว่า ๕๐๐ คน ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ ดร.ภาวิช ลาออกจากตำแหน่ง

เนื่องจากเจ็ดปีที่ผ่านมามีผลประโยชน์ทับซ้อน” ซะอีก