วันศุกร์, ธันวาคม 08, 2560

ชำนาญ จันทร์เรือง อธิบายให้เข้าใจง่าย วิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

ภาพประกอบจาก นสพ.เดลินิวส์
เข้าใจการเลือกตั้ง ส.ส.แบบง่ายๆ
ชำนาญ จันทร์เรือง

ประเด็นถกเถียงที่สำคัญประเด็นหนึ่งของรธน.ปี 60 ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นร่างก่อนนำไปลงประชามติ จวบจนปัจจุบันซึ่งร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ผ่านวาระที่ 1 ของ สนช.ไปแล้วก็คือ

ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะเป็นวิธีการแบบใหม่ที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกใช้ คือเป็นวิธีการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และใช้เลือกรวมกันทั้งคนและพรรค
ซึ่งแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมาใน รธน.ปี 40 และ 50 และแตกต่างจากระบบของเยอรมันที่อ้างว่าเอามาเป็นต้นแบบ ซึ่งของเยอรมันเขาใช้บัตรใบเดียวก็จริง แต่เขาแยกให้เลือกคนกับพรรคโดยแบ่งเป็น 2 ช่องให้กาแยกกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะเร็วหรือช้าเราก็จำเป็นต้องใช้การเลือกตั้งแบบนี้ (หากไม่ถูกล้มกระดานไปเสียก่อน) โดยผมจะแยกเป็นประเด็นๆ เพื่อให้เข้าใจโดยง่าย ซึ่งผมจะใส่ตัวเลขมาตราของ รธน.ไว้ในวงเล็บเพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติม ดังนี้

1.จำนวน ส.ส.

จำนวน 500 คนประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตฯ 350 คน และจาก party list 150 คน (ม.83)

2.ผู้สมัครแบบแบ่งเขต ต้องสังกัดพรรคการเมือง

ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ (ม.87)

3.หนึ่งเขตหนึ่งคน และต้องได้คะแนนมากกว่า Vote No ถ้าคะแนนสูงสุดของผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้รับแพ้ Vote No ต้องเลือกตั้งใหม่ โดยคนเก่าไม่มีสิทธิลงอีกและไม่ให้นำคะแนนไปคิดรวม

ให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน และให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนน Vote No เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (ม.85)

เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนน Vote No ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งและรับสมัครใหม่ และมิให้นับคะแนนที่ผู้สมัครเดิมแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคำนวณ party list โดยผู้สมัครเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น (ม.92)

4.พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อหรือจะไม่เสนอชื่อก็ได้

ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอสภาผู้แทนฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ (จะเป็นคนนอกหรือคนในก็ได้) ต่อ กกต.ก่อนปิดการรับสมัคร และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อดังกล่าวก็ได้ (ม.88)

5.พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถส่งแบบ party list ได้ และบัญชีรายชื่อต้องคำนึงถึงภูมิภาคและสัดส่วนชายหญิง

พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครฯแบบ party list ได้ ซึ่งการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบ party list นั้น ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี โดยผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต การจัดทำบัญชีรายชื่อ ต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง (ม.90)

6.การคำนวณจำนวน ส.ส. party list

6.1 นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรค (ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบ party list ได้รับ) จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

6.2 นำผลลัพธ์ตาม 6.1 ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรวมทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

6.3 นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมือง จะพึงมีได้ตาม 6.2 ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบ party list ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

6.4 ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตฯ และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบ party list

และให้นำจำนวน ส.ส.แบบ party list ไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม 6.2

6.5 เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบ party list ของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบ party list ของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.(ม.91)

สรุปง่ายๆ ว่าถ้านำคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งได้รับทั้งประเทศมาคำนวณจากสัดส่วนทั้งหมดของคนมาลงคะแนนว่าจากจำนวนเต็ม ส.ส. 500 คน (ไม่ใช่ 150 คนแบบที่ผ่านมานะครับ) พรรคนั้นควรจะได้กี่คน สมมุติว่าควรได้ 200 คน หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 195 คน ก็จะได้ ส.ส.party listเพิ่มอีก 5 คน รวมเป็น 200 คน แต่หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 200 คนหรือมากกว่าก็จะได้เฉพาะ ส.ส.เขตโดยจะไม่ได้ ส.ส.ในparty list อีก ตัวอย่างเช่นได้ ส.ส.เขตเกินมา 5 คนก็จะได้ ส.ส.205 คนโดย ส.ส.แบบ party list ที่จะนำไปเฉลี่ยให้พรรคอื่นก็จะเหลือเพียง 145 คน (150-5) เพราะ รธน.กำหนดไว้ให้มี ส.ส.ได้เพียง 500 คนเท่านั้น

ฉะนั้น ไม่ว่าพรรคนั้นจะเก่งขนาดไหน ผลการเลือกตั้งถล่มทลายขนาดไหนก็ไม่มีทางได้ ส.ส.ในสภาเกิน 350 คน (เพราะมีเขตเลือกตั้งเพียง 350 เขตเท่านั้น)

ซึ่งก็หมายความว่าในสมัยแรก ส.ส.พรรคเดียวไม่มีทางตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเมื่อรวมเสียงของ ส.ว.ที่มีสิทธิโหวตตั้งนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลอีก 250 คนเป็น 750 คนก็ไม่มีทางเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกันคือ 376 คนจาก 750 คน

หากพรรคการเมืองต้องการที่จะได้นายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองเท่านั้นก็ต้องรวมกันเพื่อให้ได้ 376 คนขึ้นไปนั่นเอง
----------
หมายเหตุ เรียบเรียงจากที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560