จะปฏิเสธอย่างไร “ไม่รู้จัก ไม่เคยใกล้ชิด”
กับพลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ ผู้จัดตั้งพรรคทหารในนามพรรค ‘พลังชาติไทย’ แต่ คสช. ก็มีสายใยอยู่กับนายทหารจากสำนักปลัดกลาโหมคนนี้อยู่ไม่น้อย
นับแต่ คสช.ยึดอำนาจมา
พลตรีทรงกลดได้รับมอบหมายให้เข้าไปเตรียมงานด้านปฏิรูปใน “คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ”
ภายใต้กำกับของ กอ.รมน. โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบดำเนินการ
มาวันนี้เมื่อใกล้เวลา คสช. ปรับบทบาทจากเผด็จการเบ็ดเสร็จไปสู่การเป็นผู้ปกครองที่ยอมให้มีการเลือกตั้งได้
พลตรีทรงกลดก็เลยตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับ แม้จะอยู่ในช่วง คสช.
ยังไม่ยอมปลดล็อคพรรคการเมือง ก็ดำเนินการแบบ ‘ตาใสอำพราง’
ในนาม ‘จิตอาสา’ ไปก่อน
เอาภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมในบทบาทนำ ให้ดูสมน้ำสมเนื้อเหมือนจิตอาสาของจริง
มีการเปิดศูนย์ประสานงานแล้วหลายแห่ง
ตามเป้าหมายให้ผันตัวเป็นสาขาพรรคทั่วประเทศครบทุกภาคต่อไป โดยเฉพาะในภาคอีสาน พรรคทหารทรงกลดหวังว่าจะมีช่องว่างให้เบียดแทรกได้เมื่อการเลือกตั้งมาถึง
ในภาวะที่ไม่มีนายใหญ่พรรคเพื่อไทย ไม่มีอดีตนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ ขวัญใจชาวบ้าน
แถมว่าที่หัวหน้าหญิงคนใหม่ก็เปิดตัวแรงไป เลยหกคะเมนเท้งเต้เสียก่อน
หนำซ้ำผู้ที่น่าจะสืบช่วงเป็นทายาททางการเมืองของตระกูลชินวัตรรุ่นต่อไป
ให้มีอันโดนดีเอสไอรื้อคดีฟอกเงินเอากลับมาเล่นงาน กรณีเช็คสิบล้านจากกฤษดานครที่คืนกันไปแล้วก่อนเกิดคดีเงินกู้กรุงไทย
๗ พันล้าน คตส. ก็เคลียร์ไปแล้ว แต่ดีเอสไอยุค คสช. ต้องการเอามาฟัดใหม่ว่าเป็นค่าวิ่งเต้น
ซึ่งทนายนิทัศน์ ฟันธงไว้ว่านั่นละคือสาเหตุให้
‘โอ๊ค’ พานทองแท้
ชินวัตร จะไม่รอดแน่ อาจต้องหนีหลีกทาง คสช. เหมือนพ่อและอา อย่างน้อยๆ
ต่อนี้ไปขยับอะไรไม่ได้เลย
ไม่ว่าพรรคทหารจะมี ส.ส.ต่ำสิบ
หรือว่าพลิกล็อคได้ ส.ส.มากพอร่วมเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเอง ก็ย่อมเป็นช่องทางของ
คสช. เข้าแทรกซ้อนในกลไกการเมืองโดยตรงต่อไป จนครบกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังให้ลิ่วล้อจัดร่างกันอยู่
แม้นว่า ธนาพล อิ๋วสกุล จะ “ฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแตก”
ไว้ข้อหนึ่งว่าหลังเลือกตั้งที่จะมา (ไม่ว่าปีหน้าปีโน้น) “ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป นี่คือเหตุผลที่คณะรัฐประหารจะยื้อการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ”
ก็ตาม
แต่ว่าอีกสองข้อที่เขาทำนาย
พูดถึงสองพรรคใหญ่จะได้คะแนนรวมกันมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๓๕๐
เสียงในสภาผู้แทนฯ และประชาธิปัตย์เสียพื้นที่ในภาคใต้
จากตรงนั้นย่อมหมายถึงพรรคเพื่อไทยจะยังคงมาวินเช่นเดิม
ทิ้งห่างหรือไม่ห่างต้องลุ้นกัน อันนี้คาดคะเนโดยนำเอาการวิเคราะห์ของ อจ.สมชัย
ภัทรธานันท์ แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาปรับใช้
รศ.ดร.สมชัย บอกว่า “การจัดเลือกตั้งรอบนี้คือการชงเองกินเอง
เป็นการออกแบบการปกครองทางการเมืองให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่”
ถึงกระนั้นชาวบ้านก็ยังต้องการกลับมามีส่วนร่วมทางการเมือง
การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เขารอกันอยู่อย่างมีน้ำอดน้ำทนมาสามปีกว่า รอสิ่งดีๆ
ที่เคยได้รับ “โดยเฉพาะช่วงปี
๒๕๔๔ ที่ทักษิณเข้ามา แล้วทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างชัดเจน”
เพจ ๑๐๑ สัมภาษณ์นักวิชาการท่านนี้เอาไว้ดีมาก
ในเรื่อง ‘อ่านการเมืองภาคอีสาน’ ตั้งแต่ยุคทักษิณมาถึง คสช. อ่านแล้วคงพอฟันธงแบบหน้าแตกไม่เป็นไรได้ว่า
พรรคทหารจะไม่สามารถแย่งอีสานไปจากเพื่อไทยได้
เว้นแต่ว่า “พรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับทหาร...ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนั้น
อาจนำไปสู่พรรคทางเลือกใหม่ เหมือนที่เคยเกิดในยุโรปตะวันตก”
อจ.สมชัยยังให้ข้อคิดในกรณีที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไปว่า
“พรรคใดพรรคหนึ่งที่ชูแนวคิดประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์
ผมคิดว่าจะเป็นตัวดึงคะแนนนิยมอย่างมาก” เพราะอะไร
เพราะ
“ผมคิดว่าชาวบ้านเป็นพวกปฏิบัตินิยม
หมายความว่าถ้ามีสิ่งไหนที่ดีกว่า เขาก็เลือกสิ่งนั้น
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าชาวบ้านไม่ได้ยึดติดกับคนใดคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าคุณมีอะไรดี
ก็เสนอมาสิ”
ข้อสำคัญสิ่งดีๆ ที่ คสช.พยายามลบล้าง “บอกว่านโยบายประชานิยมของทักษิณทำให้ประเทศล่มจม
ในความจริงมันยังไม่ทันล่มจม คุณรัฐประหารก่อน
พอมาถึงสมัยยิ่งลักษณ์
ทำเรื่องจำนำข้าว คุณบอกว่าซื้อข้าวแพงจะทำให้ประเทศฉิบหาย
แต่มันก็ยังไม่ทันฉิบหาย คุณรัฐประหารก่อน...
ทีนี้ลองคิดง่ายๆ
ว่า ความรู้สึกดีที่ชาวบ้านมีต่อทักษิณและพรรคของทักษิณจะหายไปได้อย่างไร
ในทางกลับกัน สิ่งที่เขารู้สึกได้อย่างชัดเจนก็คือ การรัฐประหารเป็นตัวการที่ทำให้สิ่งดีๆ
ที่เขาเคยได้รับหายไป”
ดร.สมชัยแนะพรรคที่จะเป็นทางเลือกใหม่ว่า
ยังไม่ต้องเสนอนโยบายเศรษฐกิจอะไรให้วิลิสมาหราก็ได้ ถ้าสถานการณ์ยังไม่มีทางฟื้น
(โดยเฉพาะหลังจาก คสช. ทำ ‘ยำ’ ไว้สามปีกว่าจนจะเละ)
“บอกประชาชนก่อนเลยว่า
นโยบายของเรายังทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ถ้าอยากให้พรรคดำเนินนโยบายแบบที่พี่น้องชอบ ก็ต้องมาช่วยกันก่อน
ช่วยกันทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศไทย
ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์
เพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติของระบอบประชาธิปไตย
แล้วนโยบายเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้”