ส่วนหนึ่งจากบทความ
สมชัย ภัทรธนานันท์ : อ่านการเมืองอีสาน ยุคก่อนทักษิณ ถึงหลังคสช.
ที่มา เวป 101 World
หากมองสถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่การรัฐประหารของคสช.ในปี 2557 ขบวนการเสื้อแดงอีสาน รวมไปถึงกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านรัฐประหาร มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
จะวิเคราะห์เรื่องนี้ต้องดูคู่ตรงข้ามทางการเมือง สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ ถ้าให้มองในมุมของฝ่ายเผด็จการตอนนี้ ถึงที่สุดแล้วการทำลายแค่ตัวทักษิณอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย ไม่งั้นเสียของ
การต่อสู้คราวนี้เป็นเรื่องที่สะสมมาอย่างน้อยๆ ก็สิบปี ตั้งต้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สำคัญคือมันไม่ใช่การต่อสู้แบบยกเดียว แต่สู้กันหลายยก ทั้งสองฝ่ายต่างเฝ้ามองกันและกันอยู่ตลอด มีคนวิเคราะห์ว่าพอ คสช.ทำรัฐประหาร ทุกอย่างก็จะเงียบ ระบอบทักษิณจะหมดไป โดยเฉพาะเมื่อกำจัดยิ่งลักษณ์ออกไปได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น
แต่ถ้าเราลองวิเคราะห์อีกมุมหนึ่งว่า ตั้งแต่สมัยทักษิณเป็นต้นมา พรรคของเขายังไม่เคยทำให้ชาวบ้านผิดหวังเลย ชาวบ้านมีแต่ความหวัง ได้ประโยชน์ชัดเจน ถึงแม้บางคนจะบอกว่านโยบายประชานิยมของทักษิณทำให้ประเทศล่มจม ในความจริงมันยังไม่ทันล่มจม คุณรัฐประหารก่อน พอมาถึงสมัยยิ่งลักษณ์ ทำเรื่องจำนำข้าว คุณบอกว่าซื้อข้าวแพง จะทำให้ประเทศฉิบหาย แต่มันก็ยังไม่ทันฉิบหาย คุณรัฐประหารก่อน
เรื่องจำนำข้าวนี่ชาวบ้านได้ประโยชน์มาก มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาเยอะมาก ช่วงนั้นลูกศิษย์ผมหลายคนบอกว่าต้องรีบกลับบ้าน ผมถามว่ารีบกลับไปทำอะไร เขาบอกจะไปดูข้าวที่นา ตอนนี้ข้าวมีราคา ต้องไปดูดีๆ ยิ่งถ้าคุณได้ไปอยู่ในละแวกหมู่บ้าน จะเห็นความคึกคักทางเศรษฐกิจชัดเจนมาก พ่อค้าแม่ค้าคึกคัก ขายของได้ราคาดี ตลาดมีคนคลาคล่ำ แต่หลังรัฐประหารภาพเหล่านี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นตลาดร้าง
ทีนี้ลองคิดง่ายๆ ว่า ความรู้สึกดีที่ชาวบ้านมีต่อทักษิณและพรรคของทักษิณจะหายไปได้อย่างไร ในทางกลับกัน สิ่งที่เขารู้สึกได้อย่างชัดเจน ก็คือการรัฐประหารเป็นตัวการที่ทำให้สิ่งดีๆ ที่เขาเคยได้รับหายไป ผมคิดว่าการรัฐประหารของ คสช. ไม่ได้สร้างผลกระทบในแง่ความผูกพันทางจิตใจหรือความคิด มันควบคุมได้เฉพาะทางกายภาพ ทำให้พวกเขาขยับตัวไม่ได้ อย่างมากก็แค่หยุดความเคลื่อนไหวทางการเมือง
หมายความว่าชาวบ้านยังคิดเหมือนเดิม แต่ทำอะไรไม่ได้
ใช่ ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอ
แล้วเป้าหมายของการรอคืออะไร
รอเลือกตั้ง นี่แหละเป้าหมายหลักของเขา ชาวบ้านต้องการเลือกรัฐบาล เขาคิดว่ารัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง เขาอธิบายเลยว่ารัฐประหารมันไม่ถูกกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าอยากเป็นนายกก็มาลงเลือกตั้งสิ แล้วชาวบ้านจะเลือกใครก็เป็นสิทธิของเขา เรื่องนี้เขารู้ดี แล้วเราจะไปบอกเขาว่าไม่มีความรู้ได้อย่างไร
สิ่งสำคัญคือเขารู้จักรอ คิดดูสิ สามปีก็ยังรอ ไม่ใช่พวกที่จะออกมาใช้ความรุนแรงอะไร
รู้ไหมว่าตอนนี้ในชนบทมีความลำบากค่อนข้างสูง นิสิตที่เรียนกับผมร้อยละ 95 มาจากชนบท ในชั้นเรียนมีคนมาจากในเมืองแค่หนึ่งถึงสองคน ที่เหลือมาจากชนบทหมด เมื่อปีที่แล้วผมถามพวกเขาว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเฉยๆ ยังไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่ตอนนี้คุณลองไปถามดูสิ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด แย่มาก ฝืดมาก คนไม่ค่อยใช้เงินกัน ลองคิดดูว่าขนาดพวกนี้ยังรู้สึกได้ว่าเศรษฐกิจแย่ แล้วที่อื่นจะขนาดไหน
แต่จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผมคิดว่าชาวบ้านเป็นพวกปฏิบัตินิยม หมายความว่าถ้ามีสิ่งไหนที่ดีกว่า เขาก็เลือกสิ่งนั้น อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าชาวบ้านไม่ได้ยึดติดกับคนใดคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าคุณมีอะไรดี ก็เสนอมาสิ
จากที่คสช. ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า อาจารย์คิดว่าโอกาสที่สังคมไทยจะกลับเข้าสู่ระบบเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย มีมากน้อยแค่ไหน แล้วบรรดาพรรคการเมืองควรจะดำเนินนโยบายในรูปแบบใด จึงจะสามารถกลับมาชนะใจชาวบ้านได้อีกครั้ง
แน่นอนว่าขั้นพื้นฐานที่สุด ชาวบ้านต้องการกลับมามีส่วนร่วมทางการเมือง นี่คือสิ่งที่เขาคิดว่าชอบธรรม เพราะตลอดช่วงเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา นับแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2522 เขามีประสบการณ์แบบนี้มาโดยตลอด แม้จะมีรัฐประหารบ้าง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าคนรุ่นผม ตอนนี้อายุ 60 ปี เริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งแรกปี 2522 อยู่ในระบบการเมืองแบบมีส่วนร่วมมาเกือบ 40 ปี ไม่ใช่คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ถ้าเข้าใจการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเกิดมันไม่รู้อะไรเลยสิแปลก เช่นเดียวกับคนรุ่นถัดจากผมลงมา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ก็ล้วนผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมาทั้งนั้น โดยเฉพาะช่วงปี 2544 ที่ทักษิณเข้ามา แล้วทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างชัดเจน จู่ๆ มีคนมาบอกว่าไม่เอา ไม่ใช่ ใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ ก็เป็นธรรมดาที่เขาจะเกิดความไม่พอใจ
ถามว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าจับตาผมคิดว่าเป็นท่าทีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานเสียงใหญ่อยู่ในภาคอีสาน สมมติเล่นๆ ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับทหาร ชาวบ้านอาจจะงงอย่างหนัก เพราะจากปี 2549 เขาไม่ยอมรับเผด็จการมาตลอด มีคนถูกจับ มีคนเจ็บคนตายมาตลอด อยู่ดีๆ มาจับมือกัน ชาวบ้านก็คงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนั้น อาจนำไปสู่พรรคทางเลือกใหม่ เหมือนที่เคยเกิดในยุโรปตะวันตกในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พรรคการเมืองที่เคยเป็นที่ชื่นชอบของคนยากคนจนทั้งหลาย ทำตัวน่าผิดหวัง คนไม่พอใจก็รวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ เสนอนโยบายใหม่ที่ยึดโยงกับฐานเสียงเดิม เช่นเดียวกับประเทศแถบลาตินอเมริกา ที่คนเห็นว่าพรรคนี้ก็พึ่งไม่ได้ พรรคนั้นก็พึ่งไม่ได้ พอมีพรรคใหม่เกิดขึ้นมา เสนอนโยบายถูกใจ เขาก็เทคะแนนให้ไปเลย
ของไทยมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นไหม
ไม่รู้ เพราะการเมืองไทยเขาห้ามทำนาย (หัวเราะ) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในโลกนี้บอกว่าสิ่งหนึ่งที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองไทย คือการทำนายอนาคต แต่เราสามารถวิเคราะห์ได้คร่าวๆ ว่า ถ้าพรรคการเมืองเลือกดำเนินนโยบายแบบนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบไหน
สมมติว่ามีพรรคใดพรรคหนึ่งที่ชูแนวคิดประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ ผมคิดว่าจะเป็นตัวดึงคะแนนนิยมอย่างมาก คือคุณไม่ต้องไปเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจอะไรทั้งนั้น เพราะมันทำไม่ได้ คุณต้องบอกประชาชนก่อนเลยว่า นโยบายของเรายังทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าอยากให้พรรคดำเนินนโยบายแบบที่พี่น้องชอบ ก็ต้องมาช่วยกันก่อน ช่วยกันทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศไทย ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติของระบอบประชาธิปไตย แล้วนโยบายเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้
ถ้าเล่นบทนี้ ผมคิดว่าฐานคะแนนเสียงที่เป็นชาวบ้านจะไม่ตก ประชาชนจะไม่คลางแคลงใจว่าทำไมไม่มีนโยบายเศรษฐกิจมาแก้ ขณะเดียวกันก็ต้องอ่านเกมให้ออกด้วยว่าหลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ที่แน่ๆ คือจะยังไม่มีเวทีสำหรับนักการเมือง เพราะการจัดเลือกตั้งรอบนี้คือการชงเองกินเอง เป็นการออกแบบการปกครองทางการเมืองให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พรรคอื่นเป็นได้อย่างมากแค่พรรคฝ่ายค้าน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นก้าวแรกไปสู่การเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง.
...
อ่านต่อที่...