เมื่อฟองสบู่ มหาวิทยาลัยไทย แตก !! อาชีพอาจารย์ก็ อวสาน
By TEERAKIAT KERDCHAROEN
ตอนผมจบปริญญาเอกกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในช่วงนั้นการสมัครเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก ด้วยเหตุผล คือ
- ในสมัยผม คนเรียนต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ยังมีค่อนข้างน้อย
- อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทย ยังมีวุฒิปริญญาโทจำนวนมากอยู่ จึงมีความต้องการรับคนจบปริญญาเอก เข้าเป็นอาจารย์เพื่อแทนที่
- ในสมัยนู้น เป็นยุคขยายตัวของอุดมศึกษาอย่างแท้จริง มีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆ มากมาย
มหาวิทยาลัยทางเหนือ ไปเปิดแคมปัสสาขาทางใต้ มหาวิทยาลัยทางใต้ ไปเปิดสาขาแถวอีสาน ว่ากันว่า จุดนัดพบของอธิการบดีสมัยนั้นคือ สนามบินดอนเมือง เป็นยุคที่มีการซื้อตัวอาจารย์ เพื่อไปรองรับมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ ... คนจะเกษียณก็มีงานทำ อาจารย์ผู้ใหญ่จำนวนมากที่มีชื่อเสียงเลยได้ “ขุดทอง” ลาออกจากราชการมากินบำนาญ + ไปรับตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น กินเงินเดือนพนักงาน ได้อีกต่อหนึ่ง
คราวนี้ เราลอง Fast Forward มาที่ประเทศไทย 20 ปีต่อมานะครับ ซึ่งก็คือตอนนี้ ... สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามักจะได้ยินคำพูดที่บอกว่า "ประเทศไทยขาดแคลนคนจบปริญญาเอก" ใช่ไหมครับ โดยหน่วยงาน 2 หน่วยงานแข่งกันให้ทุนผลิตคนจบปริญญาเอกครับ .. หน่วยงานหนึ่ง ให้ทุนส่งเด็กไปเรียนต่อต่างประเทศ อีกหน่วยงานหนึ่งให้ทุน เพื่อผลิตคนจบปริญญาเอก ในเมืองไทย
ผลก็คือ คนจบปริญญาเอก ตอนนี้เดินชนกันไปมา ไม่มีงานทำครับ !! และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่พออธิบายได้
- ตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทย เต็มหมดแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งเปิดรับ 1 ตำแหน่ง มีคนจบปริญญาเอกไปสมัครเกือบ 100 คน มีคนจบจากสถาบันมีชื่อต่างประเทศเช่น MIT ไปสมัคร
- เมื่อก่อน แค่จบปริญญาเอก มหาวิทยาลัยก็อยากรับแล้ว .. แต่เดี๋ยวนี้ จบปริญญาเอกอย่างเดียวไม่พอครับ มหาวิทยาลัยจะดูว่า เราไปทำ Postdoc (ประสบการณ์ทำวิจัยหลังปริญญาเอก) มาด้วยหรือเปล่า มีเปเปอร์กี่ฉบับ หลังๆ นี้ จะดูด้วยว่า มีสิทธิบัตรมั้ย ? มีนวัตกรรมมั้ย ? มีแนวโน้มจะสามารถขอทุนเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม ?
- นับวัน จำนวนตำแหน่งอาจารย์จะทยอยลดลงครับ เพราะตอนนี้ เรามีตำแหน่งอาจารย์ล้นงานครับ เนื่องจากไม่มีเด็กเรียน ... อีก 4-5 ปี เราจะได้เห็นการปิดตัวลงของมหาวิทยาลัยบางแห่ง หรือ ยุบรวมกัน เพราะไม่มีเด็กเข้ามาเรียนครับ
- การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบออโตเมชั่น เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เราเข้าสู่ยุค "ทำน้อย ได้มาก" บทเรียนสามารถเรียนได้ทั่วโลก เด็กสามารถเรียนได้ โดยไม่ต้องอยู่ต่อหน้าอาจารย์เลยด้วยซ้ำ เราจะใช้ A.I. เป็นผู้ช่วยสอนแทนคน ... ต่อไปเราไม่จำเป็นต้องจ้างอาจารย์เยอะ แต่เน้นจ้างคนที่เก่งจริงๆ สร้างสรรค์ จากนั้นก็ copy ความเก่งของคนๆ นี้ เข้าไปใน "จักรกลช่วยสอน" แทน
- คนจบปริญญาเอกส่วนใหญ่ ทำในเรื่องแคบๆ แบบ "รู้ลึก โง่กว้าง" ... แต่งานในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ต้องการคนจบปริญญาเอก ที่เป็น Handy Man มีความรู้กว้าง และ ลงมือทำ แก้ปัญหาทางธุรกิจเป็น ... เราจึงมีคนจบปริญญาเอกที่เหมาะกับอาชีพอาจารย์ ซะเป็นส่วนใหญ่
ฟองสบู่มหาวิทยาลัยไทยได้แตกไปแล้ว ... แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา ... ทุกวันนี้ เรายังผลิตปริญญาเอกเพื่อเป็นอาจารย์กันต่อไป โดยไม่ได้มองว่า ตลาดงานนั้นควรจะอยู่ในภาคเศรษฐกิจมากกว่า