“ห้วยเม็กเขียวขจี” นี่หรือวิกฤติแล้ง? ใครกันแน่..ที่อดอยาก-ปากแห้ง!!
11 ก.ย. 2560
ที่มา MGR Online
ภาพของ "ป่าห้วยเม็ก" ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นป่าชุมชน สะพรั่งไปด้วยต้นไม้เขียวขจีถูกแชร์เต็มโลกออนไลน์ กำลังถูกสังคมตั้งคำถามว่าที่นี่นะหรือจะกลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ของกระทิงแดง เพราะบิ๊กป๊อกไฟเขียวอนุมัติให้ขยายโรงงานจำนวน 31 ไร่ 2 งาน สังคมจวก! รัฐไหนบอกป่าแห้งแล้ง ปชช.ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไร้ทรัพยากรอันมีค่าในที่ดิน ชาวบ้านยันพื้นที่ทำกินชัดๆ ย้ำผืนป่าสุดอุดมสมบูรณ์!
ยกให้(นายทุน)ได้หมด ถ้าสดชื่น!
เป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์หลังจาก เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เปิดเอกสารลับเผยแพร่เอกสารลับ มท.1 เซ็นอนุมัติใช้ที่ดินขยายโรงงาน และภาพชุด "ป่าแห้งแล้ง" ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ มท.1 ได้ลงนามอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (บริษัทลูกของกระทิงแดง) ใช้ “ที่สาธารณะห้วยเม็ก” เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม โดยหนังสืออ้างว่า
“..ปัจจุบันมีสภาพแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ราษฎรไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว และไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝนแต่อย่างใด..”
ป่าห้วยเม็กเป็นที่ นสล. ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นป่าของชุมชน กำหนดกติกาการใช้ประโยชน์ เก็บหาของป่า อยู่ในเขตหมู่บ้านหนองแต้ ม. 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นทางน้ำผ่านตามธรรมชาติ เชื่อมกับห้วยทรายไปลงน้ำพอง ห่างจากสปริงเวย์ของเขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 1 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังอนุญาตเกินกำหนดในระเบียบ มท.เกี่ยวกับการใช้ที่ นสล. ข้อ 23 (3) ที่ในแต่ละจังหวัดอนุญาตให้ได้รายละไม่เกิน 10 ไร่ เว้นมีเหตุสมควร ซึ่งหนังสือ มท. ให้เหตุผลว่า "ที่สาธารณะห้วยเม็ก อยู่กึ่งกลางในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของบริษัทฯ และบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องขยายกิจการและก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม.."
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลพื้นที่และภาพแผนที่จาก Google Map ชี้ชัดว่าบริษัทมีการซื้อที่ดินในลักษณะปิดล้อมป่า แล้วมาขออนุญาตใช้ประโยชน์ภายหลัง
บริษัทดังกล่าวได้เข้าไปซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบป่าชุมชุนตั้งแต่ช่วงปี 2555 และขอใช้ที่ดินเพื่อขยายโรงงานช่วงปี 2558 โดยเรื่องได้ถูกคัดค้านจากสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดงมาตลอด
ทว่า ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ยันออกใบอนุญาตใช้ป่าห้วยเม็กให้บริษัทฯเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ข้อสรุปคือสภาพที่ดินแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันราษฎร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว ไม่มีทรัพยากรอันมีค่าในที่ดิน โดยทาง อบต.บ้านดง และชาวบ้านในพื้นที่ ได้มีการประชุมลงมติเห็นชอบให้บริษัทเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะห้วยเม็กได้ โดยไม่มีการคัดค้าน
ชาวบ้านค้านสุดแรง! รุกพื้นที่หาเลี้ยงชีพ
ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง ค้านยึดพื้นที่ป่าสาธารณะ ย้ำพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่หน่วยงานภาครัฐกล่าวอ้าง ยันการที่อ้างว่าไม่มีชาวบ้านผู้ใดคัดค้านก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยสอบถามความเห็นหรือทำประชาคมใดๆ หากหน่วยงานรัฐมาสอบถามจริง ชาวบ้านคัดค้านแน่นอน เพราะป่าห้วยเม็กชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์กันมานานแล้ว
ปลายปี 2559 สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง อ.อุบลรัตน์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น เพื่อขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำการตรวจสอบแนวเขตหนังสือสำคัญที่หลวง ป่าห้วยเม็ก โดยก่อนหน้านี้สภาองค์กรชุมชนบ้านดง ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภออุบลรัตน์ และนำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยงานต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551
ไพบูลย์ บุญลา ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนบ้านดง ยังได้รับเอกสารของทางราชการโดยกระทรวงมหาดไทย ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับ บริษัทเคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ขออนุญาตประกอบกิจการในที่ดินของรัฐในพื้นที่ตำบลบ้านดง ซึ่งหมายถึงพื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 6 บ้านหนองแต้ ต.หนองแต้ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ทำหนังสือคัดค้านการดำเนินการ และคัดค้านการปิดเส้นทางเดิม เพื่อขอสร้างเส้นทางใหม่ทดแทนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านนายอำเภออุบลรัตน์ โดยให้เหตุผลว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรเพื่อทำไร่นา ทำการเกษตรหาเลี้ยงชีพเป็นประจำ
นอกจากนี้ เส้นทางเดิมเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปป่าโคกห้วยเม็ก ที่ประชาชนรักษาไว้ สืบเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพื่อใช้หาอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล โดยมีกฎกติกาการรักษาต้นไม้ธรรมชาติในป่าโคกห้วยเม็กร่วมกันตามช่วงอายุของคนในหมู่บ้าน
กว้านซื้อที่ดินปิดล้อมพื้นที่ป่า?!
ปัจจุบันบริษัทฯได้กว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงในลักษณะปิดล้อมพื้นที่ป่าโคกห้วยเม็ก และเป็นการปิดล้อมพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรบางราย เพื่อประสงค์จะเช่าพื้นที่ป่าห้วยเม็กประกอบกิจการ และเชื่อมต่อระบบท่อบำบัดน้ำเสีย
“บริษัทบอกว่าจะตัดเส้นทางใหม่ทดแทน แต่เส้นทางที่บริษัทจะสร้างทดแทนให้นั้นกลับอยู่รอบแนวพื้นที่ที่บริษัทกว้านซื้อไว้ หากประชาชนสัญจรเข้าไปในพื้นที่ป่าโคกห้วยเม็ก และพื้นที่การเกษตรจะไม่สามารถสัญจรได้เนื่องจากถูกปิดล้อมต้องผ่านทางพื้นที่ของบริษัทฯ” ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง กล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เส้นทางที่ตัดเพิ่มขึ้นเลาะไปตามลำห้วยทรายนั้นมีความกว้างน้อยมากประกอบกับมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชันกับตลิ่งลำห้วยทรายเป็นอย่างมาก โอกาสที่จะเกิดน้ำกัดเซาะเส้นทางพังทลายในช่วงฤดูน้ำหลากมีสูงมาก เป็นอุปสรรคต่อรถที่ใช้บรรทุกพืชผลทางการเกษตร
ด้วยเหตุผลดังกล่าวชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขปัญหา จนปัจจุบันปัญหาได้ปรากฏรูปธรรมมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง ได้รับเอกสารภายในของบริษัทฯที่เกี่ยวกับผังการก่อสร้าง พบว่าบริษัทยังคงพยายามครอบครองพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไปเป็นของเอกชน
ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนผังสร้างโรงงานรุกล้ำเข้ามายังพื้นที่ที่สาธารณะ รวมทั้งยังมีการแผ้วถางปรับพื้นที่ป่าบางส่วน โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดงได้เสนอแนะต่อผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร อปท. ด้วยวาจาหลายครั้งแต่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนหรือไม่ และอาจเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อคำสั่ง คสช.และนโยบายของรัฐบาลหรือไม่
ทรัพยากรธรรมชาติ มิใช่สมบัติส่วนตัวของใคร!
โลกโซเชียลฯ ซัดรัฐเอื้อประโยชน์เอกชน เพราะที่สาธารณะห้วยเม็ก อยู่กึ่งกลางในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของบริษัทฯ และบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องขยายกิจการและก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อประกอบการอุตสาหกรรมนั้น พิจารณาอย่างไรก็ไม่ใช่เหตุผลที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ในการพิจารณาอนุญาต เพราะเป็นเหตุผลเพื่อประโยชน์บริษัทซึ่งไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะ/รัฐ นอกจากนั้น อาจถูกใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับบริษัทอื่นๆกว้านซื้อที่ปิดล้อมที่สาธารณะแล้วขออนุญาตใช้ในลักษณะและเหตุผลเดียวกัน ที่สำคัญทรัพยากรธรรมชาติเป็นของคนไทย มิใช่สมบัติส่วนตัวของใคร!
“พื้นที่ป่าติดเขื่อนอุดมสมบูรณ์มาก มีลำน้ำพองน้ำไหลเลี้ยงทั้งปี พื้นที่แถวนั้นทำนาได้ปีละ2ครั้งเลย น้ำท่าโครตดีกว่าพื้นที่อื่นๆในอีสาน พื้นที่ติดเขื่อนแห้งแล้งจะบ้าเหรอ” อีกหนึ่งความคิดเห็นจากโซเชียลฯ
จากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 13 มกราคม 2554 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจบริการดูแลและรักษาหลักทรัพย์ สราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จิรวัฒน์ อยู่วิทยา ,นุชรี อยู่วิทยา ,สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ร่วมเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ สราวุฒิ อยู่วิทยา เป็นลูกของ เฉลียว อยู่วิทยา นักธุรกิจเจ้าของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง กับภรรยาคนที่สอง มีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เป็นบุคคลที่มีบทบาทมากที่สุดในการบริหารงานของเครื่องดื่มกระทิงแดงในปัจจุบัน
...คงจะต้องจับตาดูท่าทีกันต่อไป ว่าโปรเจ็กต์น่ากังขานี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคัดค้านสังคมนี้ได้หรือไม่?!
ขอบคุณภาพจาก Thai PBS , เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน