สแกนคำสำคัญในพิมพ์เขียวร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี (ร่างมาตั้งแต่ปี 2558) พบมีคำว่าความมั่นคง 222 คำ ภัยคุกคาม 41 คำ ขณะที่สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย มีรวมกัน 25 คำ ไร้ความนิติรัฐ ส่วนคำว่ากระบวนการยุติธรรม/ระบบยุติธรรมมี 23 คำ แต่หาคำว่า ‘ความยุติธรรม’ ไม่เจอ
เปิดพิมพ์เขียว ‘ร่างยุทธศาสตร์ชาติ’ พบคำว่าความมั่นคง 222 คำส่วนคำว่าความยุติธรรมหาไม่เจอ
2017-09-12
ที่มา ประชาไท
12 กันยายน 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เผยแพร่ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 (อ่านที่นี่) ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 124 หน้า โดยมีรายละเอียดของวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านความั่นคง, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการมองถึงอนาคตในปี 2579 สภาพแวดล้อมการพัฒนาและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องพร้อมจะเผชิญ ประกอบกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปและการติดตามประเมินผล
ทั้งนี้โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เคยยื่นหนังสือเพื่อ ‘ขอดู’ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ฉบับเต็ม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ "ให้ดูไม่ได้" เนื่องจากยังเป็นเพียงร่างอยู่ และยังอาจต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มอีก
ทั้งนี้แม้ว่าร่างยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับที่ได้มีการเผยเผยมานี้จะลงวันที่ 24 สิงหาคม 2560 แต่พบว่าเพิ่งสามารถอ่านได้ในเว็บไซต์สภาพัฒน์ฯ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้
สำหรับร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ได้มีการเผยแพร่ฉบับย่อมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเป็นการดำเนินการร่างตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดย ครม.ได้เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นผู้เสนอ โดยมีมติให้ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และมอบหมายให้ สลค. และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดทำแนวทางการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลในภาพรวมเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ พ.ศ.2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 28 (3) ได้ระบุว่า “ให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นตามที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และสำนักงานได้ดำเนินไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 8 (1) แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจที่จะดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม”
และมาตรา 28 (4)กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ (ตามมาตรา 16) จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้นมาเป็นหลักการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นดังกล่าว และให้นำความเห็นของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) มาประกอบการพิจารณา
สำหรับ มาตรา 8 (1) ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระบุถึงการรับฟังความเห็นเบื้องต้นเพื่อนำมาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนมาตรา 16 ระบุว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำหนด ทั้งนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละคณะ ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จำนวนไม่เกิน 15 คน โดยคำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนต่างๆ และความหลากหลายของช่วงอายุด้วย
ดังนั้นหมายความว่าร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี ฉบับที่มีการเผยแพร่ออกมานี้จะเป็นพิมพ์เขียวในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับจริงโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ที่ได้มีการเคาะรายชื่อไปแล้วทั้งหมด 28 คน จากตำแหน่งที่มีการวางโครงสร้างไว้ทั้งหมด 34 คน (อ่าน: เปิด 28 รายชื่อ “ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ” นายทุน, ขุนนาง, ขุนศึก และหนึ่ง NGO) ทั้งนี้คณะรัฐมนตรียังสามารลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มได้อีก 5 คน และอีกหนึ่ง 1 คน เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งมาจาก ตำแหน่งประธานวุฒิสภา (ปัจจุบันยังไม่มีวุฒิสภา)
อ่านรายงานที่เกี่ยวข้อง: เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการโดยตำแหน่ง) / เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ)
สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาตินั้น ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งขึ้น แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีการลงมติแต่งตั้งภายใน 30 วันนับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2560(วันที่คณะรัฐมนตรีลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ) หรือจะต้องแต่งตั้งไม่เกินวันที่ 21 กันยายน นี้ จากนั้นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีระยะเวลาต่อไปอีก 120 วันในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนถัดไป
กรอบระยะเวลาในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์แล้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีเวลา 120 วันสำหรับการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น
จากนั้นเมื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์เสร็จแล้วให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน (ยังไม่มีการระบุว่าจะมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วยวิธีใด)
เมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสร็จแล้วให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้สอดคล้องกับที่ได้รับฟังความคิดเห็นมาภายใน 45 วัน
เมื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จตามกำหนดให้ยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
แล้วยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ภายในระยะเวลา 30 วัน
หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลกล่าวฯ ภาย 10 วัน
รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 295 วัน
สแกนคำคำสัญในร่างยุทธศาสตร์ชาติ พบคำว่าความมั่นคง 222 คำ ประชาธิปไตยมีเพียง 10 ไร้คำว่านิติรัฐ และความยุติธรรม
สำหรับการตรวจสอบคำสำคัญในร่างยุทธศาสตร์ฉบับพิมพ์เขียว โดยการนับจำนวนคำที่มีอยู่ในร่าง พบว่า มีคำว่าความมั่นคงทั้งหมด 222 คำ การเมือง 43 คำ ภัยคุกคาม 41 คำ ทหาร 18 คำ สิทธิมนุษยชน 12 คำ ประชาธิปไตย 7 คำ คอร์รัปชั่น 6 คำ นิติธรรม 3 คำ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2 คำ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 1 คำ และนิติรัฐ 0 คำ
พอเพียง 9 คำ เสรีภาพ 3 คำ ความสุข 8 คำ ความเป็นธรรม 13 คำ กระบวนการยุติธรรม/ระบบยุติธรรม 23 คำ ขณะที่คำว่า ‘ความยุติธรรม’ หาไม่พบ
ทั้งนี้ในร่างยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าว ได้ให้ความหมายของความมั่นคง ไว้ว่า การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือน และปัจเจกบุคคล และมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง เช่น ประเทศมีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็งเป็นศูนย์กลาง และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน มีระบบการเมืองที่มั่นคงเป็นกลไที่นำไปสู่การบริหารประเทศที่ต่อเนื่องและโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล สังคมมีความปรองดองและความสามัคคี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศ ชุมชนมีความเข้มแข็ง ครอบครัวมีความอบอุ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต ความมั่นคงของอาหารพลังงาน และน้ำ มีที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน มีการออมสำหรับวัยเกษียณ
โดยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในร่างยุทธศาสตรฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับความสามัคคีของคนในชาติ การบริหารจัดการและการฟื้นฟูพื้นฐาน ด้านความมั่นคงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันหลักของประเทศ สร้างสังคมที่มีความสมานฉันท์ มีความสัมพันธ์และร่วมมือด้านความมั่นคงในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน มิตรประเทศ และนานาประเทศในการป้องกันภัยคุกคาม ในรูปแบบต่างๆ ควบคู่ไปกับรักษาผลประโยชน์ชาติ รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน