วันพุธ, พฤษภาคม 10, 2560

อาวุธ(ไม่)ลับนักศึกษา กับคำถามถึง คสช.




ชมคลิปข่าว BBC Thai ได้ที่...

http://www.bbc.com/thai/thailand-39866936?


อาวุธ(ไม่)ลับนักศึกษา กับคำถามถึง คสช.


หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
10 พฤษภาคม 2017

"สังคมที่จับกุมคุมขังคนหนุ่มสาว จะเป็นสังคมที่ไม่มีอนาคต" คือคำกล่าวของ ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลายกรรมหลายวาระ


เป็นเวลากว่า 100 วันแล้วที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และนักกิจกรรม "ไม่รู้อนาคตตัวเอง" หลังถูกควบคุมตัวอยู่ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เพราะตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย

หลังได้รับการประกันตัวเพียง 18 วัน ไผ่ถูกถอนประกันเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ด้วยเหตุผล "ใช้เสรีภาพแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ถูกหาว่าเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน ก่อให้เกิดความเสียหาย" ข้อมูลจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ


ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับเพื่อนกลุ่มดาวดินชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ก่อนเข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่รัฐล่วงละเมิด กักขังหน่วงเหนี่ยวสิทธิเสรีภาพ จากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารครบ 1 ปี


นี่ไม่ใช่คดีแรกของเขา ในระหว่างเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ดาวดิน" และ "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" (New Democracy Movement: NDM) ไผ่เคยถูกจับมาแล้ว 4 ครั้ง ใน 4 คดี จากการแสดงออกเพื่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในชั้นประชามติ

นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" (Democracy Restoration Group: DRG) มีประสบการณ์ "ติดคุกร่วม" กับไผ่นาน 12 วัน (27 มิ.ย.-7 ก.ค. 2558) หลังศาลทหารกรุงเทพอนุญาตฝากขังนักกิจกรรม 14 คนที่ร่วมแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. ในวาระครบขวบปีรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

ภาพไผ่แถลงต่อศาลทหาร ยังแจ่มชัดในความทรงจำของโรม

"ด้วยท่าทีของไผ่เป็นสไตล์ลูกทุ่งๆ หน่อย เขาก็ยืนขึ้น เขาต้องการรู้ว่าผู้พิพากษาชื่ออะไร ต้องการรู้ว่าใครเป็นคนตัดสินให้เขาต้องมีชีวิตแบบนี้ ซึ่งตุลาการศาลทหารไม่ตอบ โดยบอกเพียงว่า 'มันไม่สำคัญหรอกว่าศาลมีชื่อว่าอะไร แต่ศาลได้ตัดสินคดีของพวกคุณในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์' สำหรับผม ไผ่เป็นคนที่กล้าหาญมาก" โรมบอกกับบีบีซีไทย


ไผ่ จตุภัทร์, รังสิมันต์ โรม, ลูกเกด ชลธิชา (ซ้ายไปขวา) เดินขบวนประท้วงจากแยกคอกวัวไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558


อาจเพราะ 2 นักศึกษากฎหมายจาก 2 สถาบัน มีความคิดสอดคล้องต้องกันคือ "อยากเห็นประเทศเจริญงอกงามด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" จึงร่วมเคลื่อนไหว-แบ่งบทกันเล่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไผ่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านเพราะอยู่ในพื้นที่ ส่วนโรมเคลื่อนไหวเรื่องโครงสร้างทางการเมืองเป็นหลักเพราะอยู่ในกรุงเทพฯ

"ในแง่นี้เป็นการอุดช่องว่างของกันและกัน ไผ่ทำให้ประชาธิปไตยกินได้ ส่วนผมก็เสริมเรื่องที่เป็นนามธรรม เราทั้ง 2 คนจึงอุดช่องว่างของกันมาโดยตลอด" โรมกล่าว

เพราะรู้ว่าความเป็นนักกิจกรรมคือเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายอำนาจนิยม ก่อนเคลื่อนไหวใหญ่ทุกครั้ง พวกเขาจึงต้องประเมินสถานการณ์ "เลวร้ายที่สุด" แต่กรณีของไผ่เป็นเรื่องที่ "ไม่อาจคาดเดา" แม้รู้ว่าเพื่อนมีโอกาสติดคุก แต่โรมก็ไม่คิดว่าจะนานขนาดนี้

10 ก.พ. 2560 กลุ่มกิจกรรมเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาคจัดกิจกรรมให้กำลังใจ และเรียกร้องให้ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ประกันตัวไผ่ ผลคือ 7 นักศึกษาถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล

ปรากฏการณ์ไผ่และเพื่อนจึงสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเครือข่ายนักศึกษา ทำให้เกิดภาวะ "กล้าๆ กลัวๆ"



VARUTH PONGSAPIPATT 
หุ่นล้อการเมืองชุด "The Ancient Ranger" ถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน "นิทรรศการการเมือง" ของ มธ. ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2560


ในงาน "นิทรรศการการเมือง" ของ มธ. เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. ปรากฏหุ่นชายสวมเสื้อคล้ายชุดครุยถือไม้ไผ่ที่ถูกล่ามโซ่ เป็นหนึ่งในหุ่นล้อการเมืองชุด "The Ancient Ranger" ไม่มีคำอธิบายใดๆ จากนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มอิสระล้อการเมือง" ผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ เพราะพวกเขาต้องการให้คนดูคิด-ตีความในบริบทของตัวเอง

มุมมองที่นายพิทยุตม วิเศษศิริ คณะสังคมสงเคราะห์ มธ. ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ต้องการสะท้อนต่อสังคมคือ "ปัจจุบันรัฐไทยคิดถึงความมั่นคงแห่งรัฐมากกว่าความมั่นของของมนุษย์ รัฐพยายามให้ความหมายว่าสังคมที่ดี พลเมืองต้องเชื่อฟัง ต้องสงบเรียบร้อย"

นักกิจกรรมใน มธ. 5 คน ที่บีบีซีไทยมีโอกาสพูดคุย ระบุตรงกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่ ทำให้นักศึกษาและนักกิจกรรมบางส่วนไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว

สำหรับโรม-ผู้ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาลนับจากประกาศต่อสู้กับรัฏฐาธิปัตย์เมื่อ 3 ปีก่อน วันที่โรมกับเพื่อนนักศึกษา 38 คนถูกจับกุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 คือวันสุดท้ายของชีวิตนักศึกษาปริญญาตรี หลังเข้าสอบวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายเป็นวิชาสุดท้ายในช่วงบ่าย เขาเรียนรู้วิชาใหม่ในช่วงเย็น

ความฝันในการเป็นอาจารย์เพื่อ "ทำงานกับอนาคต ทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่จะมาแทนที่เรา" หลุดลอยไป ภาระรับผิดชอบใหม่คือการต่อสู้สลัดข้อหาอย่างน้อย 4 คดี ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดรวม 20 ปี

"พอเกิดเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ฯ ทำให้เราไม่สามารถหยุดเคลื่อนไหวได้ เพราะรู้สึกว่าแบบนั้นไม่ถูกต้อง ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างสลายการชุมนุม ถูกดำเนินคดี วันนั้นคือจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง" โรมบอก



BORJA SANCHEZ-TRILLO/GETTY IMAGES
รังสิมันต์ โรม กับเพื่อน ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ระหว่างจัดกิจกรรมแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ในวาระครบขวบปี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558


แม้อ่านกฎหมายรู้ดูกฎหมายเป็น แต่ในนาทีถูกจับ-ถูกสอบปากคำ-ถูกจองจำ-ถูกนำตัวขึ้นศาล นักเรียนกฎหมายยอมรับว่ารู้สึก "กลัว" แต่รู้สึกโกรธมากกว่า ทำให้ฮึดสู้

"ไม่ว่าผมจะกลัวอย่างไรก็ตาม ผมจะโกรธอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะทำ คือไม่ให้ คสช. ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ และสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดสำหรับผมและเพื่อนผม คือการหยุดพวกเรา"

หาก 14 ต.ค. 2516 คือภาพ "ขบวนการนักศึกษา" ที่ทรงพลังในความทรงจำของสังคม มายุคปัจจุบัน นอกจากนักศึกษาไม่กี่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว จนถูกผู้มีอำนาจติดป้าย "ขาประจำ" น่าสงสัยว่านักศึกษาหายไปไหน ยังสนใจเหตุบ้านการเมืองหรือไม่?

โรมชี้ว่านักศึกษาวันนี้อาจไม่ได้เป็นเหมือนนักศึกษาเดือนตุลาคมปี 2516 หรือ 2519 เพราะนักศึกษาไม่ได้มีความเป็นเอกภาพเหมือนเดิม เชื่อว่าพวกเขายังสนใจการเมือง แต่อาจไม่ได้ต้องการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่อีก

"ความสำคัญของนักศึกษาในยุคนี้ คือไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การชี้นำขององค์กรนักศึกษาส่วนกลางอีกต่อไป มันคือขบวนการนักศึกษาที่คล้ายๆ กับการ uprising (ลุกฮือ) เกิดขึ้นกระจายไปตามที่ต่างๆ ในประเทศไทย" โรมกล่าว


NICOLAS ASFOURI/AFP/GETTY IMAGES
การชู 3 นิ้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารไทย โดยเลียนแบบจากภาพยนตร์เรื่อง "The Hunger Games" สื่อความหมายถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ


นั่นทำให้ "การควบคุมไม่ได้" และ "ความรักอิสระเสรี" กลายเป็นอาวุธสำคัญของนักศึกษาในยุค 2557-2560

"ถ้าเราดูเวลา คสช. ยึดอำนาจ สิ่งที่รัฐบาลทหารทำคือการไปดีลกับกลุ่มต่างๆ แต่เวลาคุณจะไปดีลกับนักศึกษา คนไหนล่ะนักศึกษาถึงจะหยุด มันเป็นไปไม่ได้เลย ต่อให้คุณหยุดผมได้ หยุดเนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล ว่าที่ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของนักศึกษาที่อื่นจะยุติลง การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเกิดขึ้นตลอดเวลา และทำให้รัฐบาลทหารไม่สามารถจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เราจะเห็นได้ว่าหลังกลุ่มต่างๆ ถูกควบคุมเรียบร้อย นักศึกษาเป็น The last stand (ฐานที่มั่นสุดท้าย) ของการต่อสู้ พูดง่ายๆ คือเกินกว่า 2 ปีแล้วที่นักศึกษากลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง"

ทว่าในความเป็นปัจเจกชน มีจุดเชื่อมโยงและอุดมการณ์แฝงอยู่ เมื่อใดที่มีผู้ทำลายประชาธิปไตย กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็พร้อมออกมาเคลื่อนไหว

ท่ามกลางอำนาจพิเศษ-กฎเหล็กที่ปิดกั้นการแสดงออกของนักกิจกรรม พวกเขาต้องขยายพื้นที่สื่อสารในโลกเสมือนจริง และเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างมหาวิทยาลัยผ่านเครื่องมือสมัยใหม่ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ วอทแอพ และนัดพูดคุยกันสม่ำเสมอเดือนละครั้ง เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันในระดับหนึ่งก็ประสานจัดกิจกรรม

จึงไม่แปลกหากกิจกรรมปฏิเสธอำนาจ คสช. จะเกิดขึ้นพร้อมกันหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับการเดินเกมจรยุทธ์ในโลกออนไลน์


CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP/GETTY IMAGES
ประชาชนชุมนุมหน้าศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักกิจกรรมกลุ่ม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" หลังถูกควบคุมตัวตามหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จากการทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


"วิธีการขับเคลื่อนและนำเสนอต่อสังคมของนักศึกษาเปลี่ยนไป เช่น หันใช้เรื่องวัฒนธรรม การล้อเลียน ไม่ใช่ทำตรงๆ ถ้าไปทำกิจกรรมชุมนุมบนถนน นักศึกษาบางส่วนอาจกลัว เพราะไม่มีใครสามารถรับผิดชอบชีวิตคนได้หากเกิดปัญหา" นายวรพิพัฒน์ ลามพัด คณะศิลปศาสตร์ มธ. สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "สภากาแฟ" บอกกับบีบีซีไทย

แล้วอะไรคือความสำคัญที่ทำให้นักศึกษาต้องลุกขึ้นมาเป็นนักกิจกรรม?

นักกิจกรรมใน มธ. เห็นว่าสิ่งที่นักศึกษาทำควรเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ถ้าวันนี้สังคมเรียกร้องต่อสิทธิของตัวเอง จะไม่มีใครมาอยู่แถวหน้าเลย

"วันนี้ที่เรารู้สึกว่านักศึกษามาอยู่แถวหน้า เพราะทุกคนถอยหลังไงฮะ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่นักศึกษา ประชาชน ทุกคนเรียกร้องต่อสิทธิของตัวเอง ทุกคนก็จะอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน และแนวระนาบนี้จะไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่เราจะเรียกมันว่าประชาชนทั้งหมด" โรมกล่าว





ด้าน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันผ่านบีบีซีไทย ไม่คิดปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา เพราะมองคนเหล่านี้เป็น "ผ้าขาว" ไม่ใช่ "นักเคลื่อนไหว"

"เรามองนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ ถ้าไม่ถูกใครไปครอบงำทางความคิด ถ้าเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ ผมว่าต้องฟังเขา เพราะคนเหล่านี้คือผู้ต้องรับผิดชอบอนาคต โดยที่สังคมจะบอกเองว่าการเคลื่อนไหวของเขาเกินพอดีหรือไม่ วันนี้ผมว่าสังคมฉลาดพอ มีประสบการณ์พอ เพียงแต่สังคมจะตีกรอบกติกาให้เขาแค่ไหน การเคลื่อนไหวใดๆ ก็แล้วแต่ที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ก็อาจจะดูมิงาม" พล.ต.คงชีพระบุ

เมื่อถามย้ำว่านักศึกษามีสิทธิตั้งคำถามต่อรัฐบาล คสช. ได้หรือไม่? โฆษกกระทรวงกลาโหมตอบทันควัน "แน่นอน เป็นสิทธิของเขา ก็พยายามเข้าใจ ไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นอุปสรรค"


KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำ ครม.ชุดแรก ถ่ายภาพหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล


ในวาระครบ 3 ปีของการครองอำนาจ คสช. สิ่งที่คนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในฐานะ "ผู้หาคำตอบใหม่ให้สังคม" ฝากคำถามถึงหัวหน้า คสช. ดังนี้...
  • นายลัทธพล ยิ้มละมัน คณะรัฐศาสตร์ มธ. สมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) : นายกฯ ชอบหรือไม่ชอบผลงานอะไรที่ตัวเองทำบ้าง เพราะถ้าเป็นรัฐบาลปกติจะมีสภาคอยตรวจสอบ แต่นี่ประชาชนไม่รู้เลยว่าท่านทำอะไร
  • นายพิทยุตม วิเศษศิริ คณะสังคมสงเคราะห์ มธ. ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง : อะไรคือสิ่งที่ คสช. จะมอบให้คนรุ่นใหม่ เพราะอนาคตที่ดีของพวกเรา เราควรมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดด้วยตัวเราเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาคิดแทน
  • นายวรพิพัฒน์ ลามพัด คณะศิลปศาสตร์ มธ. สมาชิกกลุ่มสภากาแฟ : สิ่งที่ทำมาตลอด 3 ปี คสช. ได้คิดหรือไม่ว่าเกิดการปฏิรูปกับประเทศจริงๆ และหลังจากนี้ยังต้องทำงานในจุดๆ นี้อีกนานแค่ไหน
  • นายรังสิมันต์ โรม คณะนิติศาสตร์ มธ. สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) : พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าจะลงจากอำนาจแบบไหน การอยู่ยาวในอำนาจแบบนี้มันเหมือนเป็นเรื่องดี แต่อีกมุมหนึ่ง อำนาจเหมือนดาบ 2 ด้าน มันฟันคนอื่นแล้วอาจจะฟันตัวเอง ผมเป็นห่วงพล.อ.ประยุทธ์ ก็หวังว่าท่านจะดูแลตัวเองดีๆ

ไผ่ ดาวดิน ไม่ได้ประกันตัวไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนที่เกาหลีใต้
ศาลนัดสืบพยานคดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย 3 ส.ค.นี้

หมายเหตุ : ติดตามรายงานพิเศษชุด "3 ปีรัฐประหาร : เสรีภาพที่หายไป?" ได้ตลอดเดือนพฤษภาคม สัปดาห์หน้าพบกับ "นักการเมือง: ตัวแสดงต้องห้าม?"