วันอังคาร, เมษายน 04, 2560
การออกโรง “ต้าน” แนวคิดเรื่อง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สะท้อนอะไร
บทบาท ความหมาย ของ’หม่อมอุ๋ย’ปรีดิยาธร ในทาง’เศรษฐกิจ’
4 เม.ย. 60
ที่มา มติชนออนไลน์
การที่ คสช.สั่งการผ่าน สนช.อันเป็น 1 ใน “แม่น้ำ 5 สาย” ให้ยอมถอนมาตรา 10/1 จากแนวคิดเรื่อง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” สะท้อนอะไร
สะท้อนถึงลักษณะ “ถอย”
ถามว่าการถอยของ คสช.ครั้งนี้ถอยอย่างเป็น “ฝ่ายกระทำ” หรือว่าจำเป็นต้องถอย เพราะหากไม่ถอยอาจจะเสียหายมากกว่า
ตอบได้เลยว่า ถอยอย่าง “จำใจ”
รูปธรรมก็คือ การบรรจุ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ลงไปในมาตรา 10/1 เท่ากับเป็นการยอมรับต่อข้อเสนอของ คปพ.
อย่างน้อย “มติ ครม.” 2 หนก็ยืนยันว่าเห็นชอบกับ “แนวคิด” นี้
ทั้งหมดนี้เป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปนับแต่เดือนสิงหาคม 2558 เมื่อมีการปลด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
การออกโรง “ต้าน” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงสำคัญ
บทบาทของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะที่เคยเป็น “รองนายกรัฐมนตรี” ให้กับ คสช.นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
จึงมิได้เป็นเรื่องเลื่อนลอย ว่างเปล่า
อย่างน้อย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ก็ยืนยันว่าไม่คล้อยตาม “คพป.” ในเรื่อง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”
แต่ภายหลังการปรับ ครม.นับแต่เดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คล้อยตามไปกับการผลักดันเรื่อง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” อันมาจากกลุ่ม “คพป.”
จึงปรากฏผ่านมาตรา 10/1 ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
การยืนยันในการต่อต้านของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงมิได้ดำเนินอย่างเป็น “ปัจเจก” ตรงกันข้ามดำเนินไปในลักษณะอย่างเป็น “ตัวแทน”
ตัวแทนทางความคิด “การค้าเสรี” ตัวแทนทางความคิด “นีโอ-ลิเบอรัล”
เคยมีการเสนอความคิด “แช่แข็ง” ประเทศไทยตั้งแต่การเคลื่อนไหวของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประดิษฐ์เมื่อปี 2555 มาแล้ว
และสืบทอดต่อมาโดย “กปปส.” ในเดือนตุลาคม 2556
จากนั้น ความพยายามของ “องค์กรพิทักษ์สยาม” และความพยายามของ “กปปส.” ก็ปรากฏผ่านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557
จากเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2560 ความคิด “แช่แข็ง” ยังอวลอยู่
ความคิด “แช่แข็ง” ประเทศไทย คือ ความคิดในการปิดประเทศและนำสังคมประเทศไทยให้ย้อนยุคกลับไปยัง “อดีต”
อดีตเหมือนกับ “ค่านิยม” อันอุบัติขึ้นในยุค “จอมพล”
อดีตเหมือนกับความพยายามในการฟื้นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแบบ “สามทหาร” ในยุค 2 จอมพลก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
การปรากฏขึ้นของ “มาตรา 10/1” เท่ากับเป็นการฟื้น “อดีต”
อดีตของเศรษฐกิจยุค “ทหาร” เป็นใหญ่ อันสวนทางกับเศรษฐกิจยุค “ค้าเสรี”
การปรากฏตัวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงดำเนินไปอย่างมีลักษณะในทางประวัติศาสตร์อันเข้มข้น
ไม่เพียงเป็นประวัติศาสตร์ในทาง “การเมือง” หากแต่ยังสะท้อนลักษณะอันเป็นประวัติศาสตร์ในทาง “เศรษฐกิจ”
ที่เศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยม” ขวางการฟื้นเศรษฐกิจแบบ “ผูกขาด”
ที่กระบวนการแห่ง “นีโอ-ลิเบอรัล” สกัดการฟื้นเศรษฐกิจแบบ “ชาตินิยม-จารีต”