https://www.facebook.com/thapanee.ietsrichai/videos/1409208325765741/
ooo
ประชาคมเชียงของ-ชุมชน 20 หมู่บ้านคัดค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขง กรมเจ้าท่าหิ้วตัวแทนจีนร่วมรับฟังเสียง ประธานสภาวัฒนธรรมหวั่นรากเหง้าถูกกลืน เจ้าอาวาสวัดสบกกแฉผลกระทบสารพัดจากเรือใหญ่
17 มกราคม, 2017
ที่มา สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=15750 .
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ณ อาคารส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กลุ่มรักษ์เชียงของ ภาคีเครือข่าย ตัวแทนภาคท้องถิ่น ตัวแทนผู้ประกอบการ พร้อมชาวบ้านที่กว่า 20 หมู่บ้านในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ได้นัดประชุมติดตามสถานการณ์โครงการระเบิดแก่ง ระยะที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการนัดรวมพลรณรงค์หยุดระเบิดแก่งครั้งใหญ่ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมครั้งนี้มี นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย และทางกรมฯได้เชิญวิศวกรตัวแทนของบริษัท CCCC Second Habor Consultant ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลจีนให้สำรวจและระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย อย่างไรก็ตามตัวแทนบริษัทปฏิเสธที่จะเสนอข้อมูล ข้อคิดเห็น และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยให้เหตุผลว่าการเดินทางมาครั้งนี้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ที่ได้รับเชิญจากกรมเจ้าท่าเท่านั้น นายเกษม ปันทะยม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง กล่าวในระหว่างการประชุมว่า ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบมากอยู่แล้ว ถ้ามีการระเบิดแก่งและขุดขยายร่องน้ำให้เรือพาณิชย์ 500 ตันล่องลงมา ผลกระทบย่อมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันพันธุ์ปลา พืชริมน้ำ สาหร่ายน้ำโขงหรือไกก็เหลือน้อยจนไม่เพียงพอต่อวิถีการหากินของชาวบ้าน และยังเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน รวมทั้งปัญหาการกัดเซาะตลิ่งตลอดแนวแม่น้ำโขง
ด้านนายธันวา เหลี่ยมพันธุ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงของ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่เชียงของที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ตลอดลุ่มน้ำจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเหมือนที่เป็นมา แต่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ กระแสวัฒนธรรมจีนจะเข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมวิถีท้องถิ่น โดยคนไทยเป็นคนที่รับวัฒนธรรมใหม่ง่ายอยู่แล้ว ก็จะทำให้รากเหง้าหรือวิถีท้องถิ่นถูกจีนกลืน และยังกังวลอีกว่าหากให้เรือหนัก 500 ตัน ผ่านแม่น้ำโขง เชื่อว่าจะเกิดคลื่นรุนแรงมากเพราะไม่มีแก่งที่ชะลอคลื่น อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว เรือสินค้าขนาดแค่ 100 ตัน ยังทำให้เรือของชาวบ้านฝั่งลาวล่มและตลิ่งพัง แล้วถ้าเรือขนาดใหญ่กว่านี้ย่อมก่อให้เกิดคลื่นที่รุนแรงกว่าหลายเท่า “จีนกำลังพยายามเป็นมหาอำนาจของเอเชีย เมื่อยอมให้ระเบิดแก่ง ไทยก็จะเป็นเหมือนสัตว์เศรษฐกิจ เหมือนกับที่เราเคยต่อต้านญี่ปุ่นหรือต่างประเทศที่เข้ามากอบกอบโกยแล้วคนไทยต่อต้านเมื่อหลายสิบปีก่อน ถ้าตัดต้นไม้ทำถนนเรายังพอปลูกใหม่ได้ แต่ถ้าระเบิดแก่งไปแล้ว มันไม่ได้ เราไม่สามารถเอากลับคืนมาได้” นายธันวา กล่าว นายธันวา กล่าวด้วยว่า หากต้องการพัฒนาเส้นทางการขนส่งและการค้าให้มีประสิทธิภาพ อาจไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางแม่น้ำโขง เพราะมีเส้นทาง r3a อยู่แล้ว เรือสินค้าสามารถจอดที่เชียงแสนแล้วใช้เส้นทางถนนขนส่งต่อไปยังทั่วภูมิภาคได้ หรืออาจจะพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อรองรับการการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มนักธุรกิจลาวเท่าที่ได้พูดคุยมานั้น เขาก็ไม่สามารถพูดกับรัฐบาลลาวได้ ก็ได้ฝากมาทางนักธุรกิจเชียงของให้ช่วยกระตุ้นรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวให้มองถึงผลกระทบและแนวทางเลือกอื่นด้วย นายนวพล อุ่ยอุทัย ตัวแทนชมรมท่องเที่ยวอำเภอเชียงของ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง เพราะเป็นการทำลายธรรมชาติ จึงอยากให้รัฐบาลชะลอโครงการเพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด ชัดเจน มีเหตุผลรอบด้าน และรับฟังเสียงของคนในพื้นที่ก่อน เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหาแม่น้ำโขงให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ยืนยันว่าไม่สนับสนุนการทำลายธรรมชาติ “อยากให้รัฐบาลใจเย็นๆ ศึกษา และฟังเสียงของคนในพื้นที่บ้าง เราไม่เห็นด้วยเพราะเป็นบ้านเกิดของเรา เราต้องศึกษาก็อยากให้ผู้ศึกษาทำอย่างละเอียดชัดเจน มีเหตุผลที่ครอบด้วน หรือหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำโขงที่จะให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข” นายนวพล กล่าว
ขณะที่นายสว่าง บุญยัง ผู้ใหญ่บ้านห้วยเอียน กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ หนึ่งคือ วิถีการหาปลาที่ต้องหายไป สองเกษตรริมน้ำโขงจะได้รับผลกระทบ เพราะหากถ้าหากเขื่อนปากแบงสร้างเสร็จน้ำจะท่วมขึ้นมาถึงบ้านปากอิง บ้านแจมป๋อง และยิ่งระเบิดแก่งอีก ก็จะเป็นการทำลายวิถีทั้งหมด พระอภิชาติ รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้ที่บ้านสบกกเหลือเรือหาปลาเพียง 10 ลำ เพราะนับแต่มีการสร้างเขื่อน ปลาที่สบกกลดจำนวนอย่างรวดเร็ว ส่วนการเดินเรือขนาดใหญ่ที่เชียงแสนก็ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะแล่นด้วยความเร็วเต็มที่จนเกิดคลื่นใหญ่ซัดตลิ่งพัง ชาวบ้านต้องคอยตะโกนเตือนให้ลดความเร็ว แต่ก็ยังไม่ยอมลดความเร็ว และยังมีคราบน้ำมันเครื่องที่ถูกปล่อยจากเรือ มีซากถุงดำใส่น้ำมันมาติดที่ตลิ่ง มีการทิ้งซากสัตว์ที่ตายระหว่างขนส่งลงในแม่น้ำ แม้ทางผู้นำชุมชนได้เข้าไปที่ท่าเรือเพื่อร้องถึงปัญหาเหล่านี้ แต่ทางท่าเรือก็แจ้งว่าไม่สามารถไปห้ามเรือที่จอดอยู่กลางน้ำได้ นายจักร กินีสี มัคคุเทศก์ท่องเที่ยวดูนกเชียงของ กล่าวว่า คนทั่วไปอาจคิดว่าแม่น้ำโขงมีแต่ปลา แต่จริงๆ แล้วยังมีนกมีแมลงหาอยากหลายชนิด นกที่ตนสำรวจพบบนแก่งแม่น้ำโขงเป็นนกชายฝั่งถึง 76 ชนิด และพบนกกระแตหาดซึ่งถูกขึ้นทะเบียนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งฤดูแล้งมีนกอพยพ นกประจำถิ่นใช้เกาะแก่งบนแม่น้ำโขงเป็นแหล่งหากินและวางไข่ อย่างเช่น นกแอ่นทุ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำขึ้นลงผิดปกติ เพราะนกต้องใช้เวลาวางไข่ถึง 21 วัน และล่าสุดเรายังพบนกแม่โขงปี้ปิ๊ดที่ปกติจะพบเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำรอยต่อลาวกับกัมพูชาเท่านั้น ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวในการประชุมว่า ขอบคุณที่กรมเจ้าท่าอุตส่าลงมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้คนที่ห่วงแม่น้ำโขงอยากจะให้กรมเปิดแผนการศึกษาอย่างละเอียดระบุพื้นที่การศึกษาว่าจะมีจุดใดบ้าง และอีกประเด็นคืออยากให้กรมเจ้าท่าได้ประเมินผลกระทบของการระเบิดแก่งน้ำโขงและเส้นทางเดินเรือระยะแรกที่ดำเนินไปแล้วก่อน แล้วค่อยตัดสินใจสำรวจข้อมูลทำระยะ 2 ยืนยันว่าการทำลายแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตามล้วนเป็นภัยต่อชุมชนทั้งสิ้น การเรียกร้องของประชาชนลุ่มน้ำโขงครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้ยืดเวลา หรือชะลอเวลาของโครงการ แต่อยากขอให้ยุติโครงการระเบิดแก่ง ทั้งนี้ระหว่างนี้ภาคประชาชนจะขอเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะมีการรณรงค์ครั้งใหญ่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นี้อยากเชิญชวนผู้สนใจและคนรักษ์น้ำโขงเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะทางคนเชียงของจะมีพิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณผาถ่าน ดินแดนอันเป็นตำนานของเชียงของ และมีกิจกรรมลงชื่อคัดค้านด้วย
นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะประธานฝ่ายไทยคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ( The joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang –Mekong River among China , Laos Myanmar and Thailand : JCCCN ) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการร่วมประชุม ว่า หลังจากประเทศไทยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เรื่องการสำรวจเส้นทางเดินเรือนั้นกรมฯ ทราบดีว่า ภาคประชาชนมีความกังวลหลายด้าน แต่อยากชี้แจงตรงนี้ว่า จากการประชุมครั้งล่าสุดที่ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 9-12มกราคม ที่ผ่านมานั้น ทางฝ่ายไทยได้เสนอให้ที่ประชุมรับทราบว่ากรณี บริษัท CCCC Second Habor Consultant ของจีนที่เป็นบริษัทได้รับสัมปทานโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ฯ ที่ทำงานร่วมกับฝ่ายวิชาการของไทยเพิ่มเติม เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่มีการสำรวจร่องน้ำที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นเสนอรายชื่อหน่วยงานแก่บริษัทของจีนแล้วอาจจะเป็น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สถาบันการศึกษาในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มรภ.เชียงราย) หรือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ศึกษาเพิ่มเติมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment : SIA ) ,รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment : EIA) ซึ่งขณะนี้รอการตอบรับจากบริษัท ว่าควรศึกษาโดยใครและมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง นายสมชายกล่าวต่อว่า ในการศึกษาของคณะกรรมการร่วมบางอย่างอาจจะต้องเริ่มจากศูนย์ แต่บางอย่างอาจจะนำผลการศึกษา วิจัยของท้องถิ่นเข้ามาต่อยอด โดยระยะเวลาการดำเนินการ EIA และ SIA อยู่ระหว่างมกราคม –พฤศจิกายน2560 และคาดว่าช่วงเดือนเมษายน 2560 อาจจะเริ่มเก็บข้อมูลภาคสนามแล้วเสร็จ จากนั้นค่อยหากำหนดการเพื่อเสนอเข้า ครม.อีกครั้ง “โครงการดังกล่าวต้องไม่กระทบกับเส้นเขตแดน และความมั่นคงของไทย-ลาว ซึ่งเขียนในข้อตกลงปี 2543 ชัดเจนแล้ว ถ้ากระทบต่อเรื่องนี้ก็จะทำโครงการต่อไม่ได้ ซึ่งหากผลการศึกษาชี้ชัดว่ากระทบความมั่นคงทางพรมแดนกรมยินดีจะเสนอข้อมูลเข้า ครม.และคิดว่า ครม.คงไม่ผ่าน หลายหน่วยงานก็มีความกังวลเร่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องเส้นเขตแดน มันเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอยู่แล้ว ดีใจมากที่ได้มาฟังเสียงสะท้อนภาคประชาชน และยืนยันว่าฝ่ายจีนตกลงด้วยแล้วว่ายินดีให้คณะกรรมการร่วมจากฝ่ายไทยร่วมศึกษาข้อมูลด้วยกัน” นายสมชายกล่าว