วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 03, 2560

เทปสดจาก Oxfam งาน "เท่าไหร่ ถึงเท่ากัน" + รายงานจาก Voice TV: 'เท่าไหร่(ถึง)เท่ากัน' เมื่อความเหลื่อมล้ำกดคนจนให้จนลง




https://www.facebook.com/OxfaminThailand/videos/1797195927270015/









ที่มา FB

Oxfam in Thailand

"..ผมเชื่อว่ารากที่ลึกที่สุดของความขัดแย้ง คือนี่แหละครับ ความเหลื่อมล้ำ" อธิคม คุณาวุฒิ

"นโยบายตอนนี้ ด้านที่อยู่อาศัยเนี่ย...คนจนเมืองถูกขับออก เกษตรกร คนจนในป่าถูกผลักเข้า งงค่ะ ไม่รู้จะยังไงดี..." คุณนุชนารถ แท่นทอง

"การคมนาคมทำให้คนมาเจอกันทุกเช้า ท้องถนนเป็นที่ๆคนจนคนรวยมาเจอกันมากที่สุด..." ในช่วง '50 Shades of Inequality' กับคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์




ooo

'เท่าไหร่(ถึง)เท่ากัน' เมื่อความเหลื่อมล้ำกดคนจนให้จนลง

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีคนรวยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ขณะที่ความมั่งคั่งของคนรวย 1 คน สามารถกระจายรายได้ให้คนจนทั่วประเทศไทยเกือบทั้งประเทศ

Voice TV 21





by พรทิพย์ โม่งใหญ่
2 กุมภาพันธ์ 2560
Voice TV

องค์การ OXFAM (อ็อกแฟม) ประเทศไทย เปิดรายงาน ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ผ่านงานเสวนาหัวข้อ "เท่าไหร่(ถึง)เท่ากัน" ซึ่งพบว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีคนรวยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ขณะที่ความมั่งคั่งของคนรวย 1 คน สามารถกระจายรายได้ให้คนจนทั่วประเทศไทยเกือบทั้งประเทศ





"หญิงคนขายของเร่ตามชายหาดที่พัทยาเธอต้องทำงานหนักในแต่ละวันในสภาพแดดที่ร้อนและเดินย่ำไปตามหาดทรายที่ยาวเหยีดเพื่อเสนอขายสินค้าที่เธอแบกสะพายพะรุงพะรัง เธอไม่ใช่แรงงานในระบบ ซึ่งทำให้ไม่ได้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม บทบาทของผู้หญิงในสภาพปัจจุบันต่างต้องทำหน้าที่มากกว่าการเป็นแค่แม่บ้านที่คอยดูแลสมาชิกครอบครัวและทำงานบ้าน เธอทั้งหลายกลับต้องออกจากบ้านมาทำงานเพื่อแก้ปัญหาทางด้านการเงิน"







"ชายผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะขายกำลังทำงานของตนเองอย่างมีความสุข ในขณะเวลาเดียวกันที่หน่วยตำรวจปราบจลาจลกำลังประชิดแถวขบวนเพื่อผลักดันผู้ประท้วงให้ออกห่างจากบริเวณรอบๆทำเนียบรัฐบาล ซึ่งความต้องการของผู้ประท้วงในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีข้อเรียกร้องในการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอะไรใดๆ


ตามท้องถนนมีคนจนคนไร้บ้านมากมายที่ไม่ได้เลือกที่จะเป็นขอทาน แต่พวกเขาก็มีทางเลือกไม่มากนักที่จะมีอาชีพรับจ้าง เพราะขาดคุณสมบัติที่เหมาะสมเพียงในการสมัครงานเป็นแรงงานคุณภาพต่ำ จึงต้องเดินไปตามท้องถนนหารายได้จากการเก็บขยะขาย ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมากว่าทศวรรษนั้นอาจจะมีเหตุผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมืองซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆเกิดขึ้น"







"สิ้นสุดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันที่เหน็ดเหนื่อยตรากตรำในสภาพแวดล้อมที่อันตรายและสภาพอากาศร้อน คนงานก่อสร้างหญิงและชายเดินทางกลับมาถึงที่พักชั่วคราวซึ่งมีทั้งแรงงานไทยคนชนชั้นกลางต่างจังหวัดและแรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ชุมชนชั่วคราวที่พวกเขาต่างมาใช้ชีวิตร่วมกันในความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ ทุกคนล้วนมีความหวังที่จะมีรายได้เพื่อหวังว่าจะพัฒนาหรือแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม"





"ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดแถบภาคเหนือและภาคอีสานมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมืองที่ย่านราชประสงค์เมื่อปี 2553 ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมากว่าทศวรรษสร้างความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมืองแม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีเหตุผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมืองหรือเหตุอื่นกันแน่ แต่ต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทย"




"ขอทานตาบอดที่หน้าโชว์รูม Louis Vuitton แยกราชประสงค์ ปัญหาขอทานนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีมากมายที่ไม่ได้เกิดมาจากเรื่องของการค้ามนุษย์ หรือสาเหตุจากที่เป็นคนขี้เกียจ ไร้ความสามารถ แต่มีหลายรายเลือกที่จะเป็นขอทานเนื่องจากหมดหนทางอย่างอื่นแล้วในชีวิตหลายสาเหตุเช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน การถูกกีดกันออกจากทรัพยากร การเป็นคนพิการไร้ความสามารถ "



ภาพถ่าย 5 ภาพ สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยที่ถูกบันทึกผ่านเลนส์ของ วินัย ดิษจร ช่างภาพมืออาชีพ ผ่านในงาน "เท่าไหร่ (ถึง)เท่ากัน" จัดโดย องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ซึ่งได้เปิดรายงานสำรวจวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งพบว่า ปี 2557 ประเทศไทยมี GDP 1,067 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมากพอที่จะกระจายให้ประชากรทั้งประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนที่มีประมาณ 7 ล้านคน ขณะที่มีเศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นจาก 5 คนเป็น 28 คนใน ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า เกิดความมั่นคั่งในกลุ่มเฉพาะคนรวย หรือกลุ่มคนชั้นบนของเศรษฐกิจ โดยคนรวยร้อยละ10 เป็นเจ้าของทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ และคนรวยที่สุดร้อยละ 1 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.5 เป็นร้อยละ 56 เป็นผลจากการนำเงินไปต่อยอดจากการลงทุน การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งรายได้ 1 ปี สามารถแก้ปัญหาความยากจนของคนทั้งประเทศได้ ส่วนการครอบครองที่ดิน ยังคงมีความแตกต่าง คนรวยยังคงเป็นเจ้าของฉโนดรายใหญ่ มีประมาณ ร้อยละ 10 แต่ครอบครองที่ดินมากถึง 854 เท่าของผู้ถือครองรายย่อย ทั้งนี้ ปี 2558 ประเทศไทยติดลำดับ ที่11 ในการจัดลำดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด

นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองว่าความเหลื่อมล้ำ คือ ความไม่ยุติธรรมทางโอกาส ซึ่งสังคมไทยคุ้นชินให้นิยามว่า บุญวาสนาแต่ไม่ได้ดูที่ต้นเหตุ ทั้งที่ผ่านมาภาครัฐเน้นการปั่นGDP แต่ไม่ได้กระจายรายได้ให้ประชากร โดยความเหลื่อมล้ำ ดูจากนโยบายด้านคมนาคมที่มีการใช้งบประมาณกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นล้าน สร้างถนน หรือรถไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่คนจนยังคงใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

ด้าน นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ อ็อกแฟม เปิดเผย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้ยกระดับสถานภาพเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำครอบครองทรัพย์สินและรายได้ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีสาเหตุจากลักษณะโครงสร้างของสังคม ระบบ ระเบียบ นโยบายของภาครัฐ และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน คนยากจนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งวิธีแก้ที่ดีที่สุด คือการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได

ทั้งนี้งานเสวนามองว่า ต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำมาจากการคอรัปชั่นในภาครัฐ เช่น การใช้งบประมาณจากการเก็บภาษีไปจัดซื้ออย่างอื่น แทนที่จะนำงบมาพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน อีกทั้งสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เช่น คนรวยมากมีร้อยละ 10 ของประชากร มีโอกาสครอบงำทางการบริหารประเทศ อาจทำให้เกิดนโยบายเอื้อนายทุน ก่อเกิดผลกระทบในด้านแรงงาน หรือการแย่งชิงทรัพยากรของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาแบบนี้มาตลอด และภาครัฐจะช่วยเหลือคนจน ด้วยวิธี "สงเคราะห์" ซึ่งเป็นการเหยียบย้ำให้คนจนถูกมองว่าเป็นภาระ ซึ่งไม่มีการแก้ไขในเชิงนโยบาย