วันนี้ต้องขออภัย ใช้คำผรุสวาสซัด คสช. ว่างั่ง แล้วยังอวดฉลาด (เฉพาะ) กรณีโต้วอชิงตันโพสต์ ที่ว่า
“จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงในการเกิดรัฐประหารแค่เพียง ๑๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นย่อมหมายความว่าโอกาสที่ไทยจะไม่เกิดการรัฐประหารมีสูงถึง ๘๙ เปอร์เซ็นต์”
ไม่เท่านั้น พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ยังอุตส่าห์พยายามใช้สำนวน wisecrack อีกแน่ะ
“ข้อสังเกตุประการหนึ่งคือ บทวิเคราะห์นี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงรายงานบทวิเคราะห์การเกิดรัฐประหารของประเทศเจ้าของเว็บไซต์ วอชิงตันโพสต์ แต่อย่างใด”
(http://www.matichon.co.th/news/448725
เลยกลายเป็น dumbfound ไปฉิบ ขอโทษนะฮัพทั่นทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องบอกว่าที่พยายามแก้ตัว แก้ต่าง แก้ติดบ่วงแหนั้นน่ะ ‘มั่วซั่ว’ ทั้งเพ
เอาละ ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจ หูฟังดีดี ตาจดจ่อ ต่อรายละเอียดจริงๆ ว่าไอ้ที่เขาลงในเว็บข่าววอชิงตันโพสต์เมื่อสองวันก่อน (๓๑ มกรา) น่ะนะ เป็นการเผยแพร่บทวิจัยของมหาวิทยาลัยดุ๊ค ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเดอร์แฮม มลรัฐน้อร์ธแคโรไลน่า ตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม
เป็นการวิจัยของสองนักวิชาการนาม ไมเคิล วอร์ด กับ แอนเดรียส เซเกอร์ โดยเอาโมเดลดั้งเดิมของนักวิจัยรุ่นเดอะอีกคน ชื่อ เจย์ อัลเฟลเดอร์ มาปรับขยายให้ทันสมัยกับเหตุการณ์ผันแปรทางการเมืองโลก ด้วยข้อวินิจฉัย หรือ ‘thesis’ ที่ว่า
“การรัฐประหาร ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือล้มเหลว ย่อมก่อผลกระทบต่อประเทศนั้นๆ เสมอ” (เกิดความเสียหายไม่มากก็น้อย)
(https://predictiveheuristics.com/…/27/coup-forecasts-for-2…/)
เขาใช้ข้อมูลหลายต่อหลายอย่างจากหลายต่อหลายแหล่งมาศึกษาและคำนวณ (ไม่ได้เฉพาะคำนวณอย่างที่ทั่นทีมโฆษก คสช. มั่ว) จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้อยู่ในอำนาจในปัจจุบันของประเทศนั้นๆ ครองเมืองมานานเท่าไหร่แล้ว ได้อำนาจมาอย่างไร ยึดแย่งเขามาหรือว่าได้รับเลือกตั้งจากประชาชน แบบแผนการปกครองเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร เผด็จการหรือราชาธิปไตย
เขายังดูที่จีดีพี ดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หดหรือขยาย ก้าวไปข้างหน้าหรือว่าถอยหลัง เป็นต้น
นอกจากใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการรัฐประหารซึ่งรวบรวมไว้โดย ‘เพาเวิลแอนด์ไธน์’ แล้วยังได้จากพอลิตี้โปรเจ็ค เวิร์ลด์เดเวล็อปเม้นต์อินดิเคเตอร์ อาร์มคอนฟลิคเดต้าเซ็ท เอฟเอโอ บีพี เกลดิทช์ และวอร์ดลิสต์
จนได้รายละเอียดความน่าจะเป็นที่ประเทศต่างๆ ในโลกจำนวน ๑๖๑ แห่ง อาจเกิดการยึดอำนาจโดยทหารขึ้นได้ ในจำนวนนี้เขาคัดเอาที่จะเป็นไปได้สูงกว่าเพื่อน ๓๐ ประเทศ อันมีไทยติดอันดับสองรองจากบุรุนดิ (ในอาฟริกา) ที่น่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในปี ๒๕๖๐ นี้
ที่จริงแล้วประเทศไทยกับตุรกี เป็นสองประเทศที่นักวิจัยชุดนี้ใช้เป็นแรงดลใจ ในการศึกษาค้นคว้าเรื่องทหารใช้กำลังอาวุธที่ตนถืออยู่ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยข้อคิดว่ากรณีของไทยเป็นการยึดอำนาจที่ประสพความสำเร็จ ขณะที่กรณีตุรกีล้มเหลว
ตานี้ตัวเลขตั้งแต่ ๐ ถึง ๑ ที่เขาใช้แสดงค่าเพื่อการจัดอันดับความน่าจะเป็น บุรุนดิ ได้มากสุด ๐.๑๒ ไทยได้รองลงมา ๐.๑๑ เท่ากับประเทศสาธารณรัฐอาฟริกากลาง ต่อจากนี้ก็มีประเทศแช้ดกับตุรกี ได้ ๐.๑๐ เท่ากัน ซีเรียได้ ๐.๙ ส่วนซูดานกับกีนีบิสซู ได้ ๐.๘ เท่ากัน
ซึ่งหากจะแปลงเป็นอัตราร้อยละ คะแนนความน่าจะเป็นของไทยในการเกิดรัฐประหารอีกอยู่ที่ ๑๑ เปอร์เซ็นต์ (อย่างที่ทั่นทีมโฆษก คสช. อ้างก็จริง) แต่ถ้าอ่านรายงานวิจัยให้ถี่ถ้วนจำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่สำคัญเท่าจำนวนประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดอยู่ในเกณฑ์นั้น
เขาอธิบายว่าถ้าหากมี ๑๐ ประเทศได้คะแนนสูงสุดว่าน่าจะมีการยึดอำนาจโดยทหารในปีนี้ที่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ละก็ หมายความว่าอัตราความน่าจะเป็นแท้จริงอยู่ที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เช่นนี้ในเมื่อไทยได้คะแนน ๑๑ เปอร์เซ็นต์จากคะแนนสูงสุดที่ ๑๒ เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าความน่าจะเป็นที่ทหารจะทำการยึดอำนาจอีกครั้งอยู่ที่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์
อย่างนี้ถ้าจะบอกว่าทหาร คสช. ไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์ดิจิทัลแบบก้าวหน้าเชิงสร้างสรรค์ ก็ไม่ว่ากัน แต่ที่ทั่นพยายามทำเป็น ‘street smart’ หาว่าเขาไม่พูดถึงการเกิดรัฐประหารในประเทศเจ้าของเว็บไซ้ท์นั้น ทั่น มั่วแน่ๆ
ในบทความที่หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์นำลงตีพิมพ์ กล่าวถึงความน่าจะเป็นของรัฐประหารในรัสเซียกับสหรัฐว่า “รัสเซีย อาจเป็นได้ เราประเมินว่าความเสี่ยงรัฐประหารในรัสเซียอยู่ที่ ๖ เปอร์เซ็นต์ อันทำให้อยู่ในเกณฑ์ ๒๐ ประเทศแรกๆ แต่ว่าถ้าเกิดขึ้นแล้วความน่าจพล้มเหลวอยู่ที่ ๒ ต่อ ๑”
(https://www.washingtonpost.com/…/where-are-coups-most-lik…/…)
ขณะที่ “รัสเซียอ้างว่าการรัฐประหารอาจเกิดขึ้นในสหรัฐได้ ด้วยโมเดลสถิติเดียวกัน ความเสี่ยงรัฐประหารในสหรัฐอยู่ที่ ๒ เปอร์เซ็นต์ ติดอันดับ ๑๐๓ ใน ๑๖๑ ประเทศ”
การที่สหรัฐไม่ได้ติดอันดับในจำนวน ๓๐ ประเทศต้นๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่ถูกกล่าวถึง อีกทั้งนักวิจัยกล่าวถึงโมเดลการทำนายของเขาไว้ด้วยว่า “ไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ชัดแจ้งว่าอะไรจะเป็นสาเหตุให้เกิดรัฐประหารขึ้น”
สำหรับประเทศไทย “หลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ แล้วมีการใช้กฎอัยการศึก มีการจำกัดอิสรภาพมหาชนอย่างหนักหน่วง ได้มีการผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาในปี ๒๕๕๙ และกำหนดการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๐”
อันนี้การวิจัยคลาดเคลื่อนเพราะอาจใช้ข้อมูลไม่สด และ underestimated คาดคะเนความ vicious ชั่วร้ายของทหารไทยน้อยเกินไป ในเมื่อทำท่าว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไปอย่างเร็วกลางปี ๖๑ อย่างชั่วเมื่อไหร่ไม่รู้
แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยชุดนี้พูดถึงรัฐประหารในประเทศไทยทำให้น่าคิด น่าสพรึงกลัว ควรต้องสืบเสาะหาข้อเท็จจริงและหนทางยับยั้งสิ่งอันเปรียบดังวงจรอุบาทให้ได้ ก็คือ
“นักวิจัยบางคนชี้แนะว่า การเลือกตั้งมักจะเพิ่มพูนความเสี่ยงในการพยายามทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีกได้”