เหมือนและต่างของความเป็น ทรัมป์ และ ประยุทธ์
4 กุมภาพันธ์ 2017
เวป BBC Thai
เพียง 2 สัปดาห์หลัง นายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 เขาได้ดำเนินนโยบายหลายเรื่องตามที่สัญญาไว้ ผ่านอำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิสตรี นักสิ่งแวดล้อม และนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่กลับได้รับคำชื่นชมจากผู้สนับสนุนในสายธุรกิจ ตลาดหุ้น และคนอเมริกันชั้นกลางจำนวนมาก
คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีคืออะไร?
ไม่ต่างจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ใช้กำลังทหาร "เข้ารักษาความสงบ" และยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกชนชั้นกลางในเมืองเดินขบวนขับไล่ด้วยข้อหาทุจริต การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก แต่ก็ได้รับเสียงสรรเสริญจากพ่อค้า ปัญญาชนในเมืองใหญ่ และภาคใต้
แม้ผู้นำทั้งสองเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการที่ตรงข้ามกัน แต่ความโผงผางของนายทรัมป์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ดูคล้ายคลึงกันยิ่ง "บีบีซีไทย" สอบถามความเห็นจากนักวิเคราะห์การเมือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ไปจนถึงบุคคลที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดภายในทำเนียบรัฐบาล ว่าเห็นด้วยกับการเปรียบเทียบดังกล่าวหรือไม่ และแท้จริงแล้ว ผู้นำของทั้ง 2 ชาติ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
นายกฯ ไทยประนีประนอมกว่า ปธน.สหรัฐ
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ส่วนที่เหมือนกันของทั้ง 2 คน ในด้านดี คือเป็นคนโผงผาง มีอะไรก็พูดออกมา ทำให้เป็นคนที่อ่านใจง่าย
นอกจากนี้ยังเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นใจตัวเองสูง และพูดจริง ทำจริง กล้าทำ เหมือนๆ กัน ส่วนในด้านเสียคือเป็นที่ทนรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากตัวเองไม่ได้ ถ้ามีใครที่แสดงความเห็นแย้งก็จะตอบโต้หมด
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง
"ส่วนข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีอำนาจในลักษณะที่คิดว่าตัวเองเป็นพระเอก แต่ก็ยังคิดว่าที่มาเป็นนายกฯ ได้เพราะพรรคพวก จึงทำให้ไม่ทำอะไรในลักษณะหัวชนฝา ต่างกับนายทรัมป์ที่คิดว่าได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะตัวของแกเอง ทำให้คิดอยากทำอะไรก็ทำ ทั้งขู่ผู้นำชาติอื่นรวมไปถึงสั่งปลดข้าราชการระดับสูง หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้เพียงไม่นาน ซึ่งส่วนตัวมองว่าดูแลก็ระทึกใจดี" นายสุขุมกล่าว
รศ.สุขุม นวลสกุล: ''พล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีอำนาจในลักษณะที่คิดว่าตัวเองเป็นพระเอก แต่ก็ยังคิดว่าที่มาเป็นนายกฯ ได้เพราะพรรคพวก จึงทำให้ไม่ทำอะไรในลักษณะหัวชนฝา ต่างกับนายทรัมป์''
"อนุรักษ์นิยม-ชาตินิยม" ทั้งคู่
รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวว่า ความเห็นที่สำคัญของผู้นำทั้ง 2 คน คือเรื่องบุคลิกที่มีความแข็งกร้าว ทั้งการพูดและการวางตัว รวมถึงมีความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้ยังรวมถึงความคิดและอุดมการณ์ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และมีความเป็นชาตินิยมสูง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่กระแสการเมืองเรื่องอนุรักษ์นิยมใหม่ หรือ neo conservative กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีทรัมป์ เบร็กซิต ดูแตร์เต้ รวมถึงกรณีอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเริ่มตั้งคำถามกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน
"ส่วนข้อแตกต่างสำคัญ ก็คือเรื่องของที่มา แม้นายทรัมป์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องได้คะแนน popular vote น้อยกว่าคู่แข่ง มีผู้คนบอยคอตไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำนวนมาก แต่อย่างน้อยก็มาจากการเลือกตั้งซึ่งใช้คะแนน electoral vote โหวตในการตัดสินผล พูดง่ายๆ คือมาตามกติกาหรือครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาตามวิธีการนั้น"
รศ.ยุทธพร อิสรชัย: "เรื่องของที่มา แม้นายทรัมป์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องได้คะแนน popular vote น้อยกว่าคู่แข่ง ... แต่มาตามกติกาหรือครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาตามวิธีการนั้น"
รศ.ยุทธพร บอกด้วยว่า ความแตกต่างที่สำคัญอีกข้อ คือ วิสัยทัศน์ "นายทรัมป์เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน จึงมีความเข้าใจเรื่องของธุรกิจ การต่างประเทศ ทุนนิยม โลกาภิวัตน์ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เติบโตมาในสายของข้าราชการประจำ เป็นทหาร ซึ่งถนัดกับการทำตามกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงการสั่งการ"
สองผู้นำ เด็ดขาด มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ความเหมือนของทั้ง 2 คนจะอยู่ที่บุคลิกที่เป็นคนสบายๆ อารมณ์ดี ขี้เล่น แต่พูดจริงทำจริง โดย ความเป็นทหารของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้มีความเด็ดขาด พร้อมเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ โดยไม่หวั่นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ เช่นเดียวกับนายทรัมป์ที่แม้นโยบายต่างๆ จะถูกโจมตีมากมาย แต่ก็ยังเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย เพราะคิดไว้ว่าสิ่งใดที่ประกาศไว้แล้วก็ควรจะทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะนโยบายอเมริกาเฟิร์สต์
นายวันชัย สอนศิริ: ''ความเป็นทหารของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้มีความเด็ดขาด พร้อมเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ โดยไม่หวั่นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับนายทรัมป์''
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนความแตกต่างมีด้วยกัน 4 ข้อ
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนความแตกต่างมีด้วยกัน 4 ข้อ
1. ที่มา นายทรัมป์มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ส่วน พล.อ.ประยุทธ์มาจากการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ
2. วิธีทำงาน นายทรัมป์มาจากภาคธุรกิจ จึงทำทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยอาจจะไม่สนกฎกติกามานัก ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการรับราชการมาตลอดชีวิต ทำให้การจะทำอะไรมักจะยึดกฎระเบียบเป็นหลัก
3. การใช้อำนาจ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเผด็จการแต่ก็พยายามประคับประคองบ้านเมืองให้กลับไปสู่ประชาธิปไตย แตกต่างกับนายทรัมป์ที่เป็นผู้นำในประเทศประชาธิปไตยต้นตำรับ แต่หมุนกลับมาใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และ
4. เป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์พยายามทำให้คนไทยที่แตกต่างกลับมารวมกันเป็นหนึ่ง ต่างกับนายทรัมป์ที่มีการดำเนินการหลายๆ อย่าง ทำให้คนอเมริกันแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแตกแยกกัน
นายวันชัย สอนศิริ: ''พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเผด็จการแต่ก็พยายามประคับประคองบ้านเมืองให้กลับไปสู่ประชาธิปไตย แตกต่างกับนายทรัมป์ที่เป็นผู้นำในประเทศประชาธิปไตยต้นตำรับ แต่หมุนกลับมาใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด''
สหรัฐฯ ตรวจสอบได้ แต่ไทยไม่
นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต วุฒิสมาชิก ในฐานะผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทั้ง 2 คน คือเรื่องที่มา เนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีความชอบธรรมเท่ากับนายทรัมป์
นายจอนกล่าวว่า แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือทั้งคู่ต่างมีนโยบายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนเป็นอย่างมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ละเมิดสิทธิพลเมืองอย่างกว้างขวาง นับแต่การใช้กฎอัยการศึกมาจนถึงการใช้มาตรา 44 นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดคดีความมั่นคงถูกนำไปสอบสวนในค่ายทหารโดยไม่ต้องมีทนาย ส่วนนายทรัมป์ก็มีการเลือกปฏิบัติกับแรงงานต่างด้าว
นายจอน อึ๊งภากรณ์: ''สิ่งที่แตกต่างที่สุด คือการสหรัฐอเมริกายังมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง ... ต่างกับของไทยที่ไม่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอยู่เลย''
"แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุด คือการสหรัฐอเมริกายังมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง หากนายทรัมป์ทำสิ่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายก็อาจจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง รวมถึงมีวาระดำรงตำแหน่งที่ชัดเจนแน่นอน ต่างกับของไทยที่ไม่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอยู่เลย พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนออกกฎหมายเสียเอง จะใช้อำนาจอย่างไรก็ถูกกฎหมายทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 ที่รวมอำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไว้ในที่เดียว" นายจอนกล่าว
นักปฏิบัติ ผู้นำความเปลี่ยนแปลง
นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่เหมือนกันของผู้นำทั้ง 2 ชาติ คือทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และนายทรัมป์ต่างเป็นคนที่ลงมาคลุกคลีแก้ไขปัญหาโดยตรง หรือพูดง่ายๆ เป็นนักปฏิบัติมากกว่าจะทำเพียงคุมนโยบายแบบนักการเมืองดั้งเดิม ส่วนอีกสิ่งที่เหมือนกันคือต่างเป็นผู้นำที่เข้ามาในยุคที่ประชาชนในประเทศนั้นๆ ต้องการความเปลี่ยนแปลง กรณี พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาในยุคที่ประชาชนต้องการความสงบ ปราศจากเหตุการณ์รุนแรงเช่นในอดีต ส่วนนายทรัมป์ก็เข้ามาเพื่อกู้ภาพลักษณ์ ศักยภาพ และบทบาทของประเทศในฐานะมหาอำนาจคืน
นายปณิธาน วัฒนายากร: ''พล.อ.ประยุทธ์และนายทรัมป์ต่างเป็นคนที่ลงมาคลุกคลีแก้ไขปัญหาโดยตรง หรือพูดง่ายๆ เป็นนักปฏิบัติมากกว่าจะทำเพียงคุมนโยบายแบบนักการเมืองดั้งเดิม''
"ทั้ง 2 ท่านเข้ามาในภาวะที่สังคมให้ความคาดหวังจนกลายเป็นแรงกดดันที่ต้องทำให้ทุกอย่างดำเนินได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนก็จะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา และตัว พล.อ.ประยุทธ์กับนายทรัมป์ก็จะมีบุคลิกที่คล้ายกันคือสามารถชี้แจงตอบโต้เสียงเหล่านั้นได้อย่างเข้มข้น" นายปณิธานกล่าว
สำหรับข้อแตกต่าง เป็นเรื่องของบุคลิกส่วนตัวมากกว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นทหาร ส่วนนายทรัมป์เป็นนักธุรกิจ