เมื่ออำนาจรัฐใช้การไม่ได้
ชำนาญ จันทร์เรือง
ในสภาวการณ์ที่บ้านเมืองในปัจจุบันดูเหมือนจะสงบกว่าที่ผ่านๆ
มา เพราะรัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการทั้งในด้านบริหารที่ไม่ต้องพะวักพะวนกับโควตารัฐมนตรีและม็อบต่างๆ
มีอำนาจเด็ดขาดในด้านนิติบัญญัติในการออกกฎหมายจากสภานิติบัญญัติที่ไม่มีฝ่ายค้านให้กวนใจ
และมีอำนาจในด้านตุลาการผ่านศาลทหารโดยตรง และผ่านศาลอื่นโดยอ้อมเพราะต้องพิจารณาคดีตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายและคำสั่งที่ออกโดย
คสช. ที่เชื่อกันว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์
และที่สำคัญที่สุดคือมีมาตรา 44
ของรัฐธรรมนูญฯ ที่มีอำนาจครอบจักรวาลอยู่ในมือ แต่สถานการณ์บ้านเมืองที่แท้จริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เพราะยังมีบางกรณีที่อำนาจรัฐใช้การไม่ได้ คือ
1 ) กรณีวัดธรรมกาย
กรณีนี้ไม่ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานตำรวจแห่งจะทุ่มเทสรรพกำลังกำชับวงล้อมวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมหรือกดดันให้พระเทพญาณมุนีหรือพระธัมมชโย
อดีตเจ้าอาวาสให้มอบตัวในคดีต่างๆ ซึ่งนับถึงปัจจุบันมีถึง 175 คดี
รวมทั้งตั้งข้อหานายองอาจ ธรรมนิทา
โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายในข้อหายุงยง ปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
116 ซึ่งนายองอาจยังคงล่องหนหายตัวไป มีเพียงพระวิเทศภาวนาจารย์ รักษาการเจ้าอาวาสเดินทางไปยัง
สภ.คลองหลวงเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาให้ที่พักพิงพระธรรมชโยและข้อหาอื่น รวม 19
คดีเท่านั้น
ซึ่งกรณีวัดธรรมกายนี้เป็นที่จับตาของหลายฝ่าย
ทั้งจากฝ่ายที่อยากให้รัฐใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดเข้าดำเนินการให้สิ้นซาก
เพราะด้วยเหตุความเชื่อที่ว่าธรรมกายไม่ใช่พุทธตามความเชื่อของตนเอง
หรือด้วยเหตุที่เชื่อว่าวัดธรรมกายให้การสนับสนุนหรือได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกทักษิณ
จึงจำเป็นต้องจัดการให้ได้โดยเร็ว
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นฝ่ายที่เคารพและศรัทธาคำสั่งสอนของพระธัมมชโย
แต่ก็มีที่แอบเชียร์การขัดขืนของวัดธรรมกายโดยไม่ได้ศรัทธาต่อวัดธรรมกายแต่อย่างใด
โดยแอบหวังลึกๆ ว่าหากวัดธรรมกายขัดขืนอำนาจรัฐในกรณีนี้ได้สำเร็จ ก็จะเป็นชนวนให้เกิดกรณีอื่นๆ
ต่อไป
ในความเห็นของผม คิดว่าฝ่ายรัฐเองก็คงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นกัน
เพราะหากจะใช้มาตรา 44 ตามที่หลายคนพยายามเสนอ ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้
หรือหากใช้มาตรการที่รุนแรงก็อาจจะเกิดผลในทางลบหรือเกิดการลุกลามตามมา
แต่หากปล่อยไปเช่นนี้ก็รังจะทำให้เสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล
เพราะเปรียบเสมือนปล่อยให้มีรัฐอิสระเกิดขึ้นกลางกรุง
2) กรณีแฮ็กเกอร์แอโนนิมัส
กรณีนี้ก็ยุ่งยากเช่นกันเพราะเป็นการต่อสู้กับผู้ที่ไร้ตัวตนในสงครามไซเบอร์
ที่เจาะผ่านช่องว่างของเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ จนสามารถเปลี่ยนภาพหน้าเว็บเพจหรือล้วงข้อมูลออกมาได้
หรือแม้กระทั่งการใช้ระบบกด F5
พร้อมกันตามเวลานัด ก็จะทำให้เว็บที่โดนเป็นอัมพาตไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีทีท่าว่าจะลุกลามไปยังสถาบันการเงินและเศรษฐกิจด้วย
ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา เพราะความเชื่อมั่นที่มีต่ออำนาจรัฐจะหมดไป
ด้วยเหตุที่ว่าแม้แต่ข้อมูลของรัฐเองยังถูกแฮ็กได้ นับประสาอะไรที่รัฐจะเข้าไปควบคุมข้อมูลของภาคเอกชนหรือประชาชน
แน่นอนว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่หนักหนาสาหัส เพราะเป็นการรบที่นอกเหนือจากรูปแบบที่เราคุ้นเคยด้วยการสู้รบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์แบบสมัยเดิมๆ
แน่นอนว่าด้วยเทคโนโลยีที่รัฐไทยใช้ต่อสู้นั้นแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้นหรืออนุบาลเท่านั้นเอง
แต่การโจมตีจากนักรบไซเบอร์พวกนี้เรียกว่าอยู่ในขั้นเทพหรือเซียนคอมพิวเตอร์
และรบโดยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งสร้างความเสียหายมานักต่อนักแล้วทั่วโลก
ขนาดสหรัฐอเมริกาที่ว่าแน่ๆ ยังถูกล้วงตับได้เป็นว่าเล่นจนต้องตั้งกองกำลังขึ้นมาต่อต้านเป็นการเฉพาะในระดับกองบัญชาการเลยทีเดียว
การจับกุมผู้ต้องหาบางคนได้พร้อมกับคู่มือการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น
(Network Security) อาวุธปืน กัญชา ฯลฯ (ซึ่งผมไม่เชื่อว่าแฮ็กเกอร์มืออาชีพเขาจะใช้กัน)
นั้นไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป เพราะยังคงมีการปฏิบัติการกันอย่างต่อเนื่อง และยิ่งหนักหน่วงขึ้นเมื่อมีการผ่าน
พรบ.คอมพิวเตอร์ฯโดย สนช.ที่ไม่ใส่ใจในเสียงทักท้วงของผู้คนกว่า 360,000 รายชื่อ และยังมีความพยายามที่จะออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ตามมาอีก
3) กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กรณีนี้เป็นผลต่อเนื่องมาอย่างยาวนานและทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากเกิดกรณีปล้นปืนเมื่อปี
2547 แล้วอดีตนายกทักษิณปรามาสว่าเป็นพวก “โจรกระจอก” พร้อมกับเพิ่มกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างมากมาย
แต่ยิ่งปราบยิ่งลุกลาม
เหตุระเบิดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่รัฐแทบจะเข้าพื้นที่ไม่ได้หากไม่มีกำลังคุ้มกัน
ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าอำนาจรัฐใช้การไม่ได้เป็นบางส่วน
การพยายามตั้งครม.น้อยเข้าไปจัดการก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลอันใด
แน่นอนว่าปัญหานี้ต้องใช้เวลา แต่ถึงจะใช้เวลามันก็ต้องมีระยะเวลาที่คาดว่าจะสิ้นสุด
มิใช่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง เพราะเหตุว่าตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนโยบายของรัฐเองนั่นแหละคือตัวปัญหา
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนที่อำนาจรัฐใช้การไม่ได้
บางท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมนะครับว่า
การเป็นรัฐนั้นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การมีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์นั่นเอง
แต่หากอำนาจรัฐบางส่วนใช้การไม่ได้ก็แสดงว่าอำนาจอธิปไตยนั้นไม่สมบูรณ์
เมื่ออำนาจอธิปไตยไม่สมบูรณ์มากๆ ขึ้นก็จะทำให้เกิดภาวะ “อนาธิปไตย (anarchy)” ซึ่งนำไปสู่การเป็น “รัฐล้มเหลว(failed state)”
ได้
และเมื่อเป็นรัฐล้มเหลวก็ย่อมที่จะถูกแทรกแซงจากภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติหรือรัฐอื่นใด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนของเราอย่างแน่นอน
ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย (อปฺปมตฺตา น มียนฺติ) นะครับ
--------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่
5 มกราคม 2560