วันอังคาร, มกราคม 03, 2560

การ “สร้าง ‘คนไทย ๔.๐’ ให้สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ ๒๑” ของ คสช.





พอ ๑ มกรา ก็มาเชียะ โฆษกห่านอู ไม่ต้องขอก็จะพูด เรื่อง ‘ไตแลนเดีย ๔.๐’ บอกว่าปีนี้ ๖๐ จะ “สร้าง ‘คนไทย ๔.๐’ ให้สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ ๒๑”

ขณะที่ “คนส่วนใหญ่ที่ยังเป็นคนไทย ๑.๐ และ ๒.๐ คือ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี โอทอป แรงงานระดับต่ำ คนด้อยโอกาส คนพิการ คนจนในเมือง”

(http://www.matichon.co.th/news/413569)

แหม่ง พูดหยั่งงี้ไม่ดูถูกคนไทย “ส่วนใหญ่” มากไปหน่อยเหรอ

ที่จริง “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ไม่ต้อง “ปฏิรูป” หักโหมขนาดกระโดดจาก ๑.๐ ไป ๔.๐ ยังไหว ถ้ารู้จักปรับโครงสร้าง ๕.๐ ที่เคยเป็นมาเมื่อ ๕ ปีก่อนให้มันเข้ากับประเทศไทยรัชกาลที่ ๑๐ ก็จะอยู่ได้ ส่วนว่าอยู่ได้แล้วจะยั่งยืนหรือไม่ เดี๋ยวก็รู้

เอางี้ ลองไปดูที่คุณ โยชิฟูมิ ทามาดะ อจ. มหาวิทยาลัยเกียวโตพูดไว้ในการเสวนาที่เชียงใหม่ น่าจะทำให้รู้สึกรู้สาอะไรบ้าง

“คนไทยหลายท่านคงทราบว่าบริษัทญี่ปุ่นมีบทบาทในอุตสาหกรรมไทยสูงมาก หากโรงงานญี่ปุ่นถอนออกไป เศรษฐกิจไทยพังแน่นอน

ผมอยากจะให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย เพื่อชักชวนญี่ปุ่นมาลงทุนต่อ ตอนนี้ยังชะลออยู่ คิดว่าเพราะเหตุผลเรื่องการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร...

ถ้าการเมืองไทยไม่ดี อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นไม่ลงทุนเพิ่ม ไปพม่า เวียดนาม บังกลาเทศ อินโดนีเซีย...

รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เหมือนกับสหรัฐและอียูที่การเมืองไม่ดีก็ไม่ว่าอะไร แต่บริษัทญี่ปุ่นจะสนใจเพราะเขาต้องดูว่าตั้งโรงงานแล้วจะส่งออกไปสหรัฐกับอียูได้ไหม ตอนอยู่พม่าส่งออกลำบากมาก ญี่ปุ่นจึงไม่ตั้งโรงงานที่พม่า”

(http://prachatai.org/journal/2016/04/65384)

แค่นั้นแหละ ทำให้ได้ก่อนแล้วค่อยฝันเฟื่องเรื่อง ‘สม้าร์ทฟาร์เมอร์ สม้าร์ทอ็นเตอรไพร้ส์ และสต๊าร์ทอัพ’ รัฐศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์มันผูกมัดกันอยู่เสมอ

ฟรีเอ็นเตอร์ไพร้ส์กับประชาธิปไตยมันก็ไปด้วยกันเป็นคู่เหมือนตุนาหงัน อยู่เสมอเช่นกัน

“รัฐบาลพูดเรื่องปฏิรูป แต่ไม่เห็นการปฏิรูป แต่ดูจะสนใจเรื่องอำนาจมากกว่า” เขาว่าอีกตอน

“ผู้เชี่ยวชาญในรัฐบาลมักบอกว่า ปัญหาต่างๆ มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ต้องปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง และเพิ่มอำนาจศาลกับองค์กรอิสระเพื่อเสริมตุลาการภิวัตน์ แต่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมเสียงข้างมากเท่านั้น ไม่ชอบการปกครองโดยเสียงข้างมาก”

ยังไม่หมด “ขอตั้งคำถามว่า ความผิดต่างๆ อยู่ที่เสียงข้างมากหรือเปล่า เช่น มีการสร้างระบบการปกครองที่ตัวเองจะได้เปรียบหรือไม่ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญสร้างระบบการเลือกตั้งใหม่

นี่เป็นฝีมือของเสียงข้างมากหรือเปล่า ก็เปล่า เพราะคนที่สร้างหรือร่างรัฐธรรมนูญมีแต่เสียงข้างน้อยเท่านั้น คือเสียงข้างน้อยสร้างเอง ทำลายเอง แล้วก็สร้างใหม่เองอีก โดยมีเป้าหมายอย่างเดียวเพื่อรักษาอำนาจ”

อีกตอนที่คุณโยชิฟูมิกล่าวถึงกรณีตุลาการเป็นใหญ่ ในประเทศไตแลนเดียตลอดทศวรรษที่ผ่านมาไว้จะแจ้ง

“กลายเป็นเรื่องที่ศาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องที่เป็นปัญหาการเมือง คือสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีต้องตัดสิน...

นักนิติศาสตร์ระบุว่าอย่างน้อยมีเรื่องการกระจายรายได้ที่ศาลที่ไหนไม่เคยแทรกแซง แต่ที่นี่ได้แทรกแซงแล้ว”

ทว่าทฤษฎี ‘Judicial Activism’ ที่ใช้ศาลและองค์กรอิสระ “เพื่อป้องกันเสียงข้างมากไปกดขี่ข่มเหงเสียงข้างน้อย” นั่นเป็นการเมืองยุคหลังสงครามโลกที่ ๒ ช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

“บางครั้งเขามองข้ามกฎหมายหรือคำพิพากษาที่มีอยู่เดิม เหมือนเขาสร้างกฎหมายใหม่ กติกาใหม่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเกิดปัญหาสองมาตรฐาน

อย่างในประเทศไทยเมื่อสองปีก่อน มีคนอยากจะให้ถอดถอนอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ศาลบอกไม่ได้ แต่ในปีเดียวกันปลดยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ได้ ศาลเดียวกันแต่ใช้เหตุผลและหลักการไม่เหมือนกัน”

(http://prachatai.org/journal/2016/04/65384)

นั่นคือความเป็นมา กำลังเป็นอยู่ และทำท่าจะเป็นไปอีกนาน ที่จะทำให้ประเทศไตแลนเดียแห่งนี้มีแต่ความผิดหวัง และ/หรือ ‘hopeless’ สิ้นหวัง

“ผิดหวัง” เหมือนดังที่ อจ.ปิยบุตร แสงกนกกุล บ่นไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเขาต่อความผิดหวังที่เป้นมาในปี ๒๕๕๙





“แน่นอน ผมผิดหวังกับคณะรัฐประหาร รัฐบาลทหาร ระบอบ คสช รัฐไทยทั้งหมด จะเรียกว่าผิดหวัง ก็อาจไม่เต็มปากเต็มคำเท่าไรนัก เพราะ จริงๆ มันไม่มีหวังตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

หากจะผิดหวัง ก็คงมีเพียงว่า ผิดหวังที่พวกเขา ‘คิดสั้น’ เอาแค่นี้จริงๆ ไม่สนใจว่าอนาคตประเทศนี้จะเป็นอย่างไร ก็กูจะเอาแบบนี้ ก็คือแบบนี้”

ความผิดหวังของ อจ.ปิยบุตร ยังลุกลามไปถึง “คนมีความรู้การศึกษาจำนวนมากที่ไปให้ความหวัง ไปให้โอกาสระบอบรัฐประหาร

ผมผิดหวังคนไทยจำนวนมากที่ไปออกเสียงลงคะแนนประชามติ ‘รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญ

ผมผิดหวังคนไทยจำนวนมากที่ ‘ยอมทน’ กับระบอบรัฐประหารแบบนี้ได้เป็นเวลาถึงสองปีกว่า โดยได้แต่ ‘บ่น’ และ ‘โชว์ความฉลาด’ อยู่ในวงข้าว วงเหล้า และโซเชียลมีเดีย แล้วก็ ‘ฟิน’ ไปวันๆ

ผมผิดหวังกับนักการเมืองไทยจำนวนมากที่สู้น้อยเกินไป และ ‘ยอมทน’ กับระบอบรัฐประหาร เพื่อ ‘รอ’ กลับไปสู่ ‘การเลือกตั้ง’”

แต่กระนั้น ในความมืดมนก็ยังมีประกาย “ผมก็มีเรื่องดีใจยินดีอยู่บ้าง” อจ.ปิยบุตรแถม

“ผมดีใจและชื่นชมที่ นักศึกษา นักกิจกรรม ทนายความ ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับระบอบรัฐประหารอย่างหนักแน่นมั่นคงและไม่ท้อถอย”

มันช่วยให้คำว่า ‘สิ้นหวัง’ ยังเป็นเพียงทางเลือกสำหรับความโง่เขลา ขณะที่ความ ‘ผิดหวัง’ กลับเป็นพลังผลักดันให้ ‘สู้’ กันต่อไป