กอล์ฟ-ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตนักโทษทางความคิด เปิดตัวกลุ่มกิจกรรม FAIRLY TELL
Mon, 2016-12-26
ที่มาประชาไท
Mon, 2016-12-26
ที่มาประชาไท
25 ธ.ค.2559 เวลาประมาณ 17.00 น.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอล์ฟ อดีตนักโทษคดี 112 ร่วมกับกลุ่มเพื่อนจัดกิจกรรม “Christmas Fairly Tell คริสมาสต์นี้ไม่มีแฟรี่เทล” ที่ร้าน มาแชร์ดู ย่านวังหลัง เพื่อเป็นการฉลองเทศกาลคริสมาสต์และเปิดตัวกลุ่มกิจกรรม FAIRLY TELL ซึ่งมีสโลแกนว่า “เพราะเราไม่อยากให้ใครหล่นหายไป…..แค่สู้กับศัตรูก็หนักหนามากพอแล้ว”
รายงานข่าวแจ้งว่า งานนี้เป็นกิจกรรมแรกของภรณ์ทิพย์หลังจากถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลา 2 ปีและได้รับอิสรภาพเมื่อ 27 ส.ค.2559 ในงานมีการจัด ‘ตลาดนัดแบ่งปัน’ เป็นแลกเปลี่ยนของขวัญที่ไม่จำกัดมูลค่าราคาและไม่จำกัดชิ้นหรือการให้ ผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิ์จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ และสามารถเลือกผู้รับได้ ผู้รับสมารถใช้สิทธิ์ในการรับของได้มากกว่าหนึ่งอย่าง บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีผู้เข้าร่วมงานอาทิ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน แบงค์ บุญชุม สมาชิกกลุ่ม Group Of Comrades ได้เข้าร่วมแบ่งปัน ก่อนจะร่วมกันเขียนจดหมายถึงเพื่อนนักโทษในเรือนจำ
หลังจากนั้นได้มีการร่วมรับฟังนิทานเรื่อง คริสมาสต์นี้ไม่มีเทพนิยาย แต่งโดย ภรณ์ทิพย์ มีเนื้อหาสื่อไปถึง ชีวิตของผู้หญิงที่ถูกกระทำโดยสังคม และเด็กๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในเรือนจำ ในสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แออัดและเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บอันส่งผลต่อความเชื่อความศรัทธาในชีวิต ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ลูกเกดชลธิชา แจ้งเร็ว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ผู้ถูกคุกคามจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นต้น เป็นการแลกเปลี่ยนที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตาของผู้ที่ต้องผ่านเหตุการณ์ที่กดดันในชีวิต
ภรณ์ทิพย์กล่าวถึงที่มาและกิจกรรมของกลุ่มว่า เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาเพราะไม่อยากให้ใครหล่นหายไประหว่างทาง คนที่กิจกรรมทางการเมือง ทางสังคม มีเรื่องต้องแบกรับ มีความคาดหวังต้องเผชิญ การต่อสู้กับศัตรูก็หนักหนามากพอแล้ว ไม่อยากให้ใครต้องหายไปเพราะถูกโดดเดี่ยว เลยรวมกับเพื่อน คือ แจ่ม (ฉัตรสุดา หาญบาง) และ น้องสาว (กมลชนก มั่นคง) ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อดูแลกันในด้านจิตใจ
“ตัวเราเองผ่านมาได้ก็เชื่อว่าคนอื่นๆ จะผ่านได้เหมือนกัน ผสมกับที่มีร้านนี้พอดีเลยอยากจะใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรม พูดคุยกัน ดูแลเยียวยากันโดยอาศัยกิจกรรมหลากรูปแบบ” ภรณ์ทิพย์กล่าว
ภรณ์ทิพย์กล่าวอีกว่า ส่วนงานของ FAIRLY TELL คือการส่งต่อเรื่องราว ประสบการณ์ต่างๆไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ใช่แค่ในสื่อสารออนไลน์แต่เป็นการถ่ายทอดให้คนเห็นภาพจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น และสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้องๆ ที่ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย หรือที่เพิ่งเริ่มจะเปิดโลกใหม่
“เราเชื่อว่าประสบการณ์ของคนในขบวนการเคลื่อนไหว หรือแม้แต่คนเล็กๆ ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในชีวิต ก็เป็นสิ่งที่น่าบันทึกและเรียนรู้มากพอๆ กับประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของภาพใหญ่ เราก็ทำเท่าที่ทำได้”ภรณ์ทิยพ์กล่าว และว่า กิจกรรมที่จะทำในอนาคตของกลุ่ม FAIRY TELL คือการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เยียวยาจิตใจและเสริมสร้างจินตนาการ รวมทั้งเป็นพื้นที่รองรับอดีตนักโทษซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะนักโทษการเมืองที่ต้องการคำปรึกษา กำลังใจ หรือยังไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
ฉัตรสุดา หาญบาง หรือแจ่ม อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มกล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาโดยภาพรวมว่า ก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ทำกิจกรรมการเมืองในเชิงโครงสร้างและรู้สึกเหนื่อยล้า แต่พอได้เข้ามาจับงานด้านความหลากหลายทางเพศ LGBT ก็รู้ว่าจริงๆ คนทำงานสามารถดูแลความรู้สึกกันได้ ไม่จำเป็นต้องฟาดฟันกันตลอดเวลา เลยตกลงใจจะร่วมทำกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ นักกิจกรรม และอดีตผู้ต้องขังหญิง เพื่อเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมเชิงในเชิงสิทธิมนุษยชน และเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศกับเยาวชนและบุคคลทั่วไปด้วย
ไอดา อรุณวงศ์ ให้ความเห็นในการจัดกิจกรรมวันนี้ว่า “สนุกมากๆ และเห็นด้วยกับทุกอย่างที่ทำให้เกิดกลุ่มแบบนี้ขึ้นมา เพราะคนที่ทำงานในขบวนนี้เหนื่อยล้า และต้องการการดูแลซึ่งกันและกันจริงๆ เป็นกำลังใจและพร้อมสนับสนุนเสมอ”
ทั้งนี้ ร้านมาแชร์ดู เป็นร้านของที่ระลึกของนักกิจกรรม โดยนักกิจกรรมหลายๆ กลุ่มได้นำสินค้าระดมทุนมาวางจำหน่าย นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่เปิดทำกิจกรรมกับชุมชนด้วย สามารถติดตามได้ที่เพจ www.facebook.com/Ma-Share-Do-วังหลัง