วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 22, 2559

คำถามที่ ‘ลิ่วล้อ คสช.’ ควรจะต้องตอบให้กระจ่าง





ถึงคราพรรคการเมืองที่ไม่ค่อยจะชนะเลือกตั้งอ้อนบ้าง ต่อร่างกฎหมายพรรคการเมืองใน พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังสรรสร้างกันใหม่อยู่

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดถึง ‘โทษประหาร’ สำหรับนักการเมืองซื้อขายตำแหน่ง ว่า “ตนสงสัยว่าทำไมโทษเหล่านี้ถึงเอาผิดแค่คนที่อยู่ในพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ทำไมกฎหมายนี้ถึงไม่ครอบคลุมคนกลุ่มอื่นด้วย”





ไฉนไม่มีโทษอย่างเดียวกันกับ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือรัฐมนตรีที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ที่อาจทำความผิดแบบเดียวกันได้”

(http://www.prachatai.org/journal/2016/12/69344)

เป็นคำถามที่ กรธ. ควรจะต้องตอบให้กระจ่าง มิฉะนั้นสามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานการไม่ยอมรับร่าง กม. ฉบับนี้ ในทำนองเดียวกับที่พลเมืองเน็ตกำลังรณรงค์กดดันให้มีการยับยั้งประกาศใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่ สนช. ดึงดันผ่านออกมา ด้วยการเข้าแทรกแซง (hacking) ระบบคอมพิวเตอร์และเว็บไซ้ท์ของรัฐบาลและราชการหลายแห่ง

ถึงแม้จะคาดหวังอะไรไม่ได้ว่าพรรคการเมือง และนักการเมืองจะกล้าหาญฮึดสู้เฉกเช่นพลเมืองเน็ต ดังที่นายองอาจเองก็ยอมรับในทีแล้วว่า “ที่ผ่านมาไม่ได้ทักท้วง”

อีกทั้งนานาองค์กร (ไม่ว่าจะเป็น กรธ. สปท. หรือ สนช.) ที่ คสช.แต่งตั้งเข้าไปทำการรังสรรค์กฎหมายต่างๆ สำหรับใช้เป็นแม่บทในการครอบงำและกำกับทางการเมืองต่อไปอีกอย่างน้อย ๒๐ ปีข้างหน้า โดยตั้งชื่อให้ดูดีสวยหรูว่า ‘ยุทธศาสตร์แห่งชาติ’ มักจะอ้างกันติดปากเป็นวาทกรรมสำเร็จรูปว่า

“รับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” เรียบร้อยแล้ว แต่แท้จริงกลับทำไขสือหากเป็นการคัดค้านหรือท้วงติงจากฝ่ายที่เห็นต่าง

ดังที่นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. พูดถึงขั้นตอนล่าสุดของการปรับแก้ไขร่าง พรป. เมื่อวันที่ ๒๒ ธ.ค. ว่า “ข้อเสนอแนะของฝ่ายต่าง ๆ นั้น มีประโยชน์ต่อการปรับแก้ไขมาก เพราะหลายฝ่ายมีแนวคิดตรงกับ กรธ.”

(http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=751863)

แม้นว่าถ้อยคำของนายนรชิตจะอิงอยู่กับบริบทที่ว่า “ก็ได้มีการปรับปรุงให้มีความสมดุล และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น” ก็ตามที





หากแต่เป็นการปรับเพียงให้เกิดความราบรื่นภายในแวดวงองค์กรที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็น ‘ลิ่วล้อ คสช.’ ด้วยกันเท่านั้น

แม้กระทั่งการทักท้วงของ คณะกรรมการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะในประเด็นเกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือการที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ไม่เห็นด้วยกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ต้องการให้มีการจัดงบประมาณราชการลับสำหรับ กกต. ใช้สืบสวนสอบสวน

นั่นก็เป็นเพียงข้อถกเถียงย่อยอันอาจทำให้ กกต. ยังมีคุณค่าเหลืออยู่ในสายตา คสช. เพื่อหยุดยั้งความคิดโอนงานกำกับควบคุมการเลือกตั้งไปให้มหาดไทยทำเหมือนก่อน แต่กับประเด็นหนักๆ ที่เป็นการตัดแขนตัดขานักการเมือง กลับลอยชาย

ดูได้จากปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทยต่อร่างบทบัญญัติว่าด้วยโทษประหารนักการเมืองซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งนายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง

“โทษฐานซื้อขายตำแหน่งเป็นข้อหาที่ครอบจักรวาล และค่อนข้างเป็นนามธรรมซึ่งจับต้องได้ยาก ดังนั้นจึงง่ายแก่การกล่าวหา และสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งทำลาย หรือใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง...





ที่ร้ายกว่านั้น จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ ที่จะบอกว่าผู้ใช้บังคับกฎหมายและผู้ตัดสิน จะไม่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ...

การตรากฎหมายเช่นนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖ คือ นอกจากจะขัดต่อหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ”

ข้อตำหนิเช่นนี้ (ทำนองเดียวกับข้อตำหนิที่กลุ่มพลเมืองเน็ตชี้ให้เห็นความไม่เหมาะควรของ พรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมมาแล้ว) เป็นสิ่งที่องค์กรลิ่วล้อ คสช. ไม่ยอมรับฟังเสมอมา

ครานี้จึงเป็นที่น่าจับจ้องว่า กรธ. ของนายมีชัยจะรับฟังคำท้วงติงของพรรค ปชป. เพื่อให้ ‘ดูดี’ ขึ้นมาสักหน่อย บ้างไหม