วันศุกร์, ธันวาคม 16, 2559

ชะตากรรม "อาจารย์มหาวิทยาลัย" ในกระแสไร้ธรรมาภิบาล





ชะตากรรม "อาจารย์มหาวิทยาลัย" ในกระแสไร้ธรรมาภิบาล

ทีมล่าความจริง
ที่มา

14 ธันวาคม 2559
NOW 26

แม่ของ กิติญาภัช ผาดี อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี ถึงกับร่ำไห้เมื่อเปิดปากเล่าถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัว หลังจากลูกสาวซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยแบบไม่ทันตั้งตัว

เธอเล่าว่าเพิ่งผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าได้เพียง 3 เดือน ก็ต้องออกมาช่วยลูกสาวขายหมูทอดเพื่อความอยู่รอด

กิติญาภัช อดีตอาจารย์ที่วันนี้ต้องกลายเป็นแม่ค้าขายหมูทอด เล่าว่า ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะถูกไล่ออก มีเพียงโทรศัพท์จากทางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าให้ไปรับหนังสือเลิกจ้าง แม้ขณะนี้ผ่านมาถึง 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากมหาวิทยาลัยว่าเลิกจ้างเธอเพราะสาเหตุใด เข้าใจว่าเป็นดุลพินิจของผู้บริหาร แต่หากมองในเรื่องของการทำงาน ที่ผ่านมาเมื่อมีการประเมิน ก็ได้รับผลประเมินดีมาตลอด

ความเป็นไปได้ประการเดียวที่เธอนึกออกก็คือ เธอเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มักไปขอคำปรึกษากับอาจารย์ที่สอนวิชานิติศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งอาจารย์คนนี้เป็นหนึ่งในคณะทำงานของสภามหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตภายใน แต่กลับโดนไล่ออก จึงอาจเป็นไปได้ว่าเธอโดนหางเลขเพราะถูกมองว่าสนิทสนมเป็นกลุ่มเดียวกันกับอาจารย์นิติศาสตร์ผู้นั้น

คำพิพากษาที่รวดเร็วแบบไม่ทันได้ตั้งตัว และไม่ได้รับเงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว ทำให้เธอต้องนำเงินที่เหลือติดตัวอยู่เพียง 500 บาท ไปซื้อหมูมาทอดขาย

กิติญาภัช เล่าว่า ทุกวันต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเตรียมตั้งร้านตอน 6 โมงเช้า โดยมีแม่มาคอยช่วย หลังจากขายเสร็จก็ไปรับจ้างพิมพ์งานต่อ

แต่ภาระของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้หนักมากกว่านั้น เพราะเธอเพิ่งกู้เงินสร้างบ้าน ผ่อนรถ หนำซ้ำบ้านยังไม่มีน้ำประปาใช้ ทุกเช้าต้องออกไปตักน้ำที่เหลือใช้จากการทำนาในละแวกใกล้เคียงมาใช้ในครัวเรือน ส่วนไฟฟ้าต้องขอพ่วงจากบ้านข้างๆ ที่ทำเกษตรกรรม และต้องเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมกับสุนัขอีก 13 ตัว

บุตรบุญธรรมคนนี้ เป็นลูกของแม่วัยใสซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเธอเอง เธอห้ามปรามไม่ให้ลูกศิษย์ทำแท้ง และสัญญาว่าจะเลี้ยงดูลูกให้จนกว่าจะพร้อม แต่เมื่อนักศึกษาคลอดลูกแล้วกลับหนีหายไป เธอจึงต้องรับภาระนี้แทน

การถูกเลิกจ้างแบบกะทันหันเช่นนี้ ยังมีอาจารย์ที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันอีกถึง 13 คน หนึ่งในนั้นคือ ศศิชาล์ รถกล

เดิมที ศศิชาล์ มีชื่อทำงานอยู่ที่ศูนย์บางระจัน ซึ่งเป็นหน่วยจัดการศึกษานอกที่ตั้งของมหาวิทยาลัย แต่ตัวเธอปฏิบัติหน้าที่จริงอยู่ที่วิทยาเขตหลัก ต่อมาได้โอนชื่อตามมาเพราะที่ศูนย์บางระจันมีนักศึกษาน้อย แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงรอยต่อที่ต้องต่อสัญญาจ้าง กลับมีหนังสือแจ้งจากมหาวิทยาลัยว่าไม่ประสงค์ที่จะต่อสัญญา ทั้งๆ ที่เธอมีงานสอนตามเกณฑ์ และมีผลประเมินดีมาตลอด จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีเหตุผลอื่นมากกว่าเรื่องผลงาน

เมื่อถูกเลิกจ้างแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำให้ ศศิชาล์ ต้องเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว เธอบอกว่ารู้สึกเสียใจและเสียดายวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา จะไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะถูกออกเนื่องจากสถาบันไม่ต่อสัญญา ทำให้ไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน

การเลิกจ้างครั้งนี้มีทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่รวม 13 คน ทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อไปร้องเรียนองค์กรต่างๆ เรื่องกลับเงียบหายเหมือนชีวิตพวกเขาและเธอไม่มีค่าอะไร ทั้งๆ ที่การจะต่อสัญญาจ้างหรือไม่ พวกเธอไม่ติดใจ เพียงแต่ต้องมีเหตุผลและคำชี้แจงที่เหมาะสม รวมทั้งบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย