บุคคลแห่งปี 2016: ‘นริศราวัลถ์’ จากพลทหารวิเชียรสู่ทหารเกณฑ์คนอื่นๆ
Thu, 2016-12-29 14:01
ที่มา ประชาไท
คุยกับหลานสาวพลทหารวิเชียรที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายทหารอย่างทารุณ จากจุดเริ่มต้นการต่อสู้ทวงความเป็นธรรมให้ครอบครัว สู่ความต้องการเห็นชีวิตที่ดีของพลทหารทุกคน เพื่อที่จะเกิดโศกนาฏกรรมเช่นกรณีน้าชายของเธออีก
วันเวลาตามปฏิทินบอกกับเราอย่างไม่โกหกว่า อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นสุดปี 2559 ตลอดปีที่ผ่านมาเราผ่านเรื่องราวหลายเรื่อง มีหลายคนที่ปรากฏบนหน้าข่าวแล้วสร้างความสั่นสะเทือนให้กับผู้คนในสังคม นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หรือ เมย์ หญิงสาวอายุ 25 ปี หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม คือหนึ่งในนั้น
เธอต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชายมาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากที่เขาเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2554 เพียงเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังจากที่เขาไปเป็นทหารเกณฑ์ ทางบ้านได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ว่า พลทหารวิเชียรเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง ร่างกายถูกของแข็งกดทับ และมีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย ต้นเหตุของความสูญเสียเกิดจากการสั่งทำโทษของร้อยโท 1 นายร่วมกับพวกรวม 10 คน โดยบรรดาครูฝึกทหารใหม่อ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง แน่นอนว่านี่คือการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่แทนที่จะมีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ กลับกลายเป็นว่ามีนายทหารเข้ามาเสนอขอคลุมธงชาติให้กับศพของพลทหารวิเชียร และพระราชทานเพลิงศพ พร้อมทั้งเสนอเงินเยียวยา
เรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมที่ยาวนานมากว่า 5 ปีของเมย์ เริ่มต้นจากจุดนั้น แม้เวลาปีหนึ่งสำหรับหลายคนจะค่อนข้างสั้น แต่เวลาที่กว่าจะผ่านไปแต่ละปีของหญิงสาวคนหนึ่งอาจยาวนานกว่านั้นหลายเท่าตัว ทั้งความเศร้าสะเทือนใจจากการสูญเสียน้าชายในสภาพอันทารุณโหดร้ายยิ่ง ความหวาดกลัวการคุกคามของเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี และความท้อแท้ต่อกระบวนการยุติธรรมที่คืบหน้าอย่างเชื่องช้า ถึงตอนนี้จากผู้ถูกกระทำก็พลิกผันให้ตกเป็นผู้ต้องหาเสียเองในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเข้าแจ้งความของร้อยโท (ยศปัจจุบันคือ พันตรี) ซึ่งเป็นผู้สั่งทำโทษพลทหารวิเชียร มากไปกว่านั้นเธอถูกควบคุมตัวตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน ทั้งหมดนั้นเธอเผชิญหน้าและก้าวผ่านมันมาในทุกๆ ปี
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของต่อสู้เรียกร้องจากเรื่องของความสูญเสียของครอบครัว แต่ถึงวันนี้เธอมองไปไกลกว่าตัวเอง “ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณชีวิตของพลทหารดีขึ้น เพื่อที่จะต้องไม่มีใครตายแบบน้าอีก” นั่นคือโจทย์ใหม่ พร้อมกับการแก้ไขโจทย์เก่าที่ยังไม่สิ้นสุด
ท่ามกลางบุคคลหลากหลายในข่าวที่ล้วนสร้างผลกระทบ ผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อสังคมในมิติต่างๆ กองบรรณาธิการประชาไทยกย่องให้นริศราวัลถ์เป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2016 ด้วยเหตุที่เธอกำลังต่อสู้กับโครงสร้างที่ใหญ่ยิ่งของประเทศ ด้วยประเด็นที่แหลมคมและสำคัญอย่างยิ่ง (และอย่างไม่น่าเชื่อ) สำหรับยุคสมัยนี้ เช่น การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความโปร่งใสของกองทัพ กระทั่งสังคมอาจต่อยอดคำถามไปเองได้ไกลถึงขั้นว่ามีความจำเป็นเพียงใดกับระบบการเกณฑ์ทหาร อำนาจและที่ทางของกองทัพควรจัดสรรอย่างไร ที่สำคัญ มาตรฐานที่ได้จากเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะไม่ว่าครอบครัวไหนต่างก็ต้องเผชิญกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเป็นภาพสะท้อนของคนธรรมดาที่กล้าลุกขึ้นเผชิญกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม และการคุกคามรูปแบบต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5 ปี แม้ในช่วงแรกจะยังมองไม่เห็นเค้าลางของความยุติธรรม แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เธอหยุดตามหามัน หากย้อนกลับไปวันแรกที่เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้ หลายคนคงอยากรู้ว่าในใจของหญิงสาวอายุ 20 ปี (เมื่อปี 2554) กำลังส่งเสียงกับตัวเองว่าอย่างไร และทั้งหมดนี้คือสัมภาษณ์พิเศษบุคคลแห่งปีของเรา
00000
ประชาไท: ทราบมาก่อนไหมว่าน้าชายได้เข้าไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์
นริศราวัลถ์: เราไม่ได้ทราบเรื่องมาก่อน ตอนเขาไปเกณฑ์ทหารไม่ได้แจ้งใครเลย แจ้งแค่ว่าขอสึก 6 เดือนจะไปทำงาน ตอนนั้นเขาเพิ่งจบปริญญาโทและสมัครเรียนเอกไว้แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าทำงานเกี่ยวกับอะไร ต้องบอกเลยว่าหลังจากเขาบวชก็ไม่ค่อยสนิทกัน เพราะเวลาเจอเขาก็จะเทศน์ตามประสาเขา น้าเรียนเก่งปริญญาตรีได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ปริญญาโทก็ได้ดีเยี่ยมอีก แต่เราเป็นเด็กกิจกรรม เราไม่ชอบเรียน มันทำให้ห่างกันมากขึ้น พอมาเป็นพระไม่ได้คุยกันมากแต่ทราบข่าวคราวกันตลอด ทราบว่าท่านมาเรียนธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเราก็ติดธรรมศาสตร์แล้ว น้าจบหนูก็เข้า สวนทางกัน
โดยปกติท่านกลับบ้านตลอดเจอกับแม่ (ยายของเมย์) ตลอด หลังจากนั้นหายไปประมาณ 7 วัน แม่ก็โทรมาบอกว่าน้าหายไป ไม่สบายใจ เราก็บอกว่าคงไม่มีอะไรหรอกให้ไปแจ้งความไว้ก่อน ตอนนั้นทางบ้านก็ยังไม่รู้เลยว่าน้าเป็นทหารเกณฑ์ กว่าจะรู้เรื่องก็ประมาณวันที่ 9 ที่หายไป ครูฝึกโทรมาถามว่าพลทหารวิเชียรหลบหนีกลับมาบ้านไหม ก็เลยได้รู้ว่าเขาไปเป็นทหารเกณฑ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้แล้วหลบหนีออกจากค่าย
วันเดียวกันนั้น ครูฝึกก็โทรบอกใหม่ว่าได้ตัวกลับมาแล้ว ทางบ้านก็สบายใจ มีการเซฟเบอร์ครูฝึกไว้ ชีวิตดำเนินปกติจนช่วงวันที่ 4 มิถุนายน 2554 ญาติของผู้ป่วยเตียงข้างๆ กับน้าโทรมาบอกกับที่บ้านว่า พลทหารวิเชียร เผือกสม นอนอยู่ห้องไอซียูนะ ให้มาเยี่ยมด้วยที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ เราบอกยายว่าให้โทรไปถามที่ครูฝึกที่ค่ายก่อนว่าพลทหารวิเชียรยังฝึกอยู่ไหม พอโทรไปเขาบอกว่าพลทหารวิเชียรอยู่ในค่าย ที่อยู่โรงพยาบาลเป็นคนละวิเชียรกัน พอเราขอคุยเขาก็บอกว่าติดฝึกอยู่เดี๋ยวค่อยให้มาคุย ตัวเมย์เองไม่ได้คิดอะไร เราเคยเรียน รด. มาและไม่เคยเจอแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่กองทัพห้ามมาตลอด จนกระทั่งยายขอเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อความสบายใจในวันที่ 5 มิถุนาก็เห็นอยู่ห้องไอซียู และทราบจากคุณหมอว่าอาการหนัก ไม่ตอบสนองแล้ว
พอเห็นเขาครั้งแรกยายบอกว่าจำลูกไม่ได้ เพราะสภาพบาดแผลมันทำให้ไม่เหมือนกับคนเก่าที่รู้จัก แล้วน้าก็เสียชีวิตในวันนั้นเลย เราทราบแค่ว่าโดนซ้อมมาแต่ยังไม่รู้ว่าเกิดเรื่องอะไร โดนครูฝึกซ้อมหรือพลทหารทะเลาะวิวาทกัน จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นทางทหารขอคลุมธงชาติและพระราชทานเพลิงศพ แล้วยังเสนอตัวเงินเยียวยาให้มากกว่าจะหาผู้กระทำความผิด มันจึงเป็นเรื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้
พอทราบไหมว่าทำไมน้าจึงตัดสินใจไปเป็นทหารเกณฑ์
คุยกับสัสดีจังหวัดสงขลาพบว่าเขาไปสมัครเอง ตอนแรกสัสดีให้ลงสงขลาค่ายตัวเมือง แต่น้าบอกว่า เรียนจบปริญญาโทแล้ว บวชมา 8 ปีแล้ว สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือเกณฑ์ทหาร จะขอลงใต้อย่างเดียว ตอนนั้นอายุ 26 ปี
คนที่จบปริญญาตรีถ้าสมัครเป็นทหารเกณฑ์จะเป็นแค่ 6 เดือน ฝึกประมาณ 3 เดือนจากนั้นก็ส่งไปตามกรมกองต่างๆ กรณีของน้าชายเข้าไปเป็นทหารนานไหมจนกว่าจะเกิดเรื่อง
ก่อนเกิดเหตุนี้ก็เป็นพลทหารแค่เดือนเดียว เขาสมัครด้วยวุฒิปริญญาโท ถ้าฝึกก็อาจฝึกแค่เดือนสองเดือน แล้วที่เหลือไปช่วยธุรการหรืออะไรทำนองนั้น แต่เราอาจเรียกว่า กรรมเก่าหรืออะไรก็ตาม เพราะแม้สัสดีจะให้ลงสงขลาแต่ก็ยังเลือกลงไปค่ายนี้เอง ไม่ได้มีใครบังคับเขาเลย มันคงเป็นดวงของเขา ชะตาเขา แต่สิ่งที่คิดตลอดคือ จะทำยังไงให้หนึ่งชีวิตที่เสียไปมีคุณค่า เราจึงเรียกร้องความเป็นธรรมให้เขา เมื่อมาเจออะไรที่มันไม่ชอบธรรม ถ้าเราปล่อยไปหรือรับการเยียวยาโดยไม่ต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมมันก็ต้องเกิดแบบนี้กับคนอื่นๆ อาจเป็นญาติคุณ ลูกคุณในวันหนึ่ง ถ้าตายในหน้าที่เรายังรู้สึกว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิต เป็นเกียรติกับครอบครัว แต่อันนี้ตายด้วยลำแข้งของคนที่กระทำความผิด โดยที่กองทัพบกเองไม่ได้สนับสนุน ก็ต้องแก้ให้ตรงจุด ทำยังไงไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทำยังไงให้ชีวิตพลทหารดีขึ้น ตอนนี้น้องชายเราก็สมัครใจเกณฑ์ทหารอยู่แต่อยู่ในพื้นที่สงขลา
วันที่ทราบเรื่องการยื่นข้อเสนอว่าจะให้คลุมธงชาติและเงินชดเชย ญาติรู้สึกอย่างไร
ระดับกองพันที่เป็นคนเสนอ ตอนแรกที่บ้านก็เลือกรับเพราะเป็นชาวบ้าน ไม่รู้จะต่อสู้ยังไง แต่เราก็คุยกันว่าถ้าน้ายังอยู่เขาอยากจะรับเงินนั้นไหม แล้วดูสภาพศพ ความทรมานที่เขาได้รับก่อนตายมันขนาดไหน ถ้ารับเงินคนเป็นมันสบายจริงแต่คนตายก็ตายอย่างไร้ค่าไร้ศักดิ์ศรีเลย ตรงกันข้ามถ้าเราสู้เพื่อความถูกต้อง คนเป็นอาจจะลำบากแต่คนตายเขาจะตายอย่างมีคุณค่าและเพื่อให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น ที่บ้านก็เลยเลือกความถูกต้อง
ตอนนั้นเขาเสนอเงินชดเชยมาเท่าไร
ตอนนั้นเขา(นายทหารซึ่งมารู้ตอนหลังว่าเป็นผู้สั่งทำโทษ) เสนอตัวเลข 3 ล้าน 5 ล้าน ตอนนั้นเรายังไม่แน่ใจว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้เรามั่นใจว่าไม่ถูกต้องเลย ระดับผู้บังคับบัญชาเขาก็ไม่ต้องการให้ทำแบบนี้
ก่อนหน้าจะเกิดเหตุกับน้าชายเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาก่อนไหม
เราได้ยินแต่ไม่เชื่อ แล้วเรียน รด.มาไม่เคยเจอแบบนี้เลย อาจจะเตะบ้าง แต่เรารับรู้ได้ว่ามาจากความหวังดี ไม่ได้ทำเพราะลุแก่อำนาจ แต่ถึงอย่างนั้นการลงโทษด้วยกำลังก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น เราอยากสะท้อนตรงนี้ให้กองทัพแก้ไข ไม่ต้องการให้มีการซ้อมหรือทำร้ายพลทหาร เพราะนโยบายของกองทัพก็ไม่ต้องการให้ทำแบบนี้อยู่แล้วแต่มันต้องไปสู่ระดับล่างให้ได้
คิดว่าต้นตอของปัญหาการทำโทษในลักษณะรุนแรงมาจากอะไร
เราไม่ทราบต้นตอเลย เราทราบแค่ว่าพลทหารวิเชียรหลบหนีออกจากค่าย 2 ครั้ง และอาจเป็นกรณีที่มีคนบอกว่าพลทหารวิเชียรไปเรียกทหารระดับร้อยโทว่า โยม เรียกตัวเองว่า อาตมา อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ แล้วอีกอย่างวันที่สองก็เป็นลม ทำให้ครูฝึกคิดว่าสำออย จึงตัดสินใจหนี พอหนีก็โดนหมายหัวแล้วก็โดนเล่นมาตลอด คนเป็นพระมา 8 ปีเขาก็ไม่ค่อยได้ใช้ร่างกายอาจจะปรับสภาพไม่ทัน เราอยากให้กองทัพมีการคัดกรอง สืบภูมิหลังด้วยว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร
หลังเกิดเรื่องใหม่ๆ มีการตรวจสอบความจริงไหม
เขาบอกว่าจะรับไปตรวจสอบ แต่ไม่มีการตรวจสอบจริง มีแต่ข้อเสนออย่างที่เล่า จนกระทั่งเมย์ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) จึงได้มีการสอบสวนและลงโทษพลทหาร ผู้พันค่าย โดนหมดในทางวินัย แต่ในคดีอาญาไม่เป็นแบบนั้น เพราะผู้กระทำความผิดนั้นมีพ่อเป็นทหารยศใหญ่ก็เลยทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องกันมาก กว่าจะได้ความเป็นธรรม
ยื่นหนังสือให้พลเอกเปรมตอนไหน
ประมาณ 9-10 วันหลังเสียชีวิต จริงๆ เรายื่นหนังสือก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ ผบ.พล.ร.15 ที่น้าสังกัด แล้วก็ยื่นแม่ทัพภาค 4 แล้วก็ยื่นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในเวลานั้น แต่หนังสืออาจโดนสกัดกั้น เพราะตอนยื่นหนังสือให้ป๋าเปรม แม่ทัพภาค 4 ก็อยู่ด้านหลัง ท่านบอกว่าท่านไม่ทราบเรื่องเลย ท่านไม่เห็นหนังสือนี้
อะไรทำให้รู้สึกว่าต้องไปยื่นหนังสือกับพลเอกเปรม
ป๋าเปรมเคยเป็นอดีตผบ.ทบ. และท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และยังเป็นรุ่นพี่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ซึ่งเป็นโรงเรียนของเมย์และพลทหารวิเชียร ตอนนั้นไปยื่นขอความเมตตาในฐานะรุ่นน้องท่านเลย เพราะตอนนั้นทุกคนที่ช่วยเราเป็นรุ่นพี่มหาวชิราวุธหมด เราเคยมาร้องสื่อ ทำหนังสือถึงสื่อต่างๆ แล้วแต่ไม่มีใครเล่นข่าว มีแค่รายการประเด็นเด็ด 7 สีซึ่งมีรุ่นพี่มหาวชิราวุธทำงานอยู่ หลังจากยื่นหนังสือให้พลเอกเปรมทำให้เริ่มมีการสอบสวน และทางคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มจุดประเด็นนี้ขึ้นมาโดยการจัดเวทีเสวนาทำให้เจอคณะกรรมการสิทธิฯ หน่วยงานอื่นๆ ทำให้เรารู้ว่าจะต้องทำยังไง
ตอนแรกเราทำได้อย่างเดียวคือ ไม่เผาศพ เราเก็บศพไว้ตราบใดที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายตัดสินใจเผาคือ 30 มิ.ย. 2554 ก่อนหน้านั้นคณะสังคมสงเคราะห์จัดเสวนา ความรุนแรงในสังคมไทยที่ต้องเร่งแก้ไข ก็ได้เจอ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิตอนนั้น ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเก็บศพไว้ก็ได้ แต่ให้ไปผ่าพิสูจน์ก่อนเผา เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ให้หมดก่อน ทำให้เราเดินได้ถูกทาง ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้ผ่าชันสูตรศพมีหลักฐานทางการแพทย์ไว้ ทุกวันนี้เราคงไม่สามารถเอาผิดกับใครได้
หลังจากนั้นเราก็ยื่นหนังสือมาเรื่อยๆ เรื่องเข้าสู่พนักงานสอบสวน ไปถึงอัยการทหาร อัยการทหารก็ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้วก็มาอยู่ใน ป.ป.ช. กับ ป.ป.ท. รวม 4 ปีกว่า จน ป.ป.ท. ชี้มูลว่าทหารยศร้อยโทร่วมกับคนอื่นทั้งหมดรวม 10 นาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 290, 183 และประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา 30(2) ทำให้เราลุกขึ้นมาสู้อีกทีหนึ่งในรอบปี 2558 เราพอเข้าใจ ป.ป.ท. ว่าที่นานเพราะพลทหารบางส่วนก็ปลดประจำการไปแล้วทำให้ตามหลักฐานยาก คดีเขาก็เยอะ แต่ของเราแม้กองทัพบกจะลงโทษทางวินัยและให้พักราชการไปแล้ว 9 นาย แต่เรามองว่าทหารยศร้อยโทคนนี้ที่เป็นคู่กรณีเกี่ยวข้องด้วย เราได้เอกสารมาจากคนใน ทบ. เองที่ระบุว่าคนนี้เป็นคนสั่ง และคำสั่งเสียของพลทหารวิเชียรก่อนตายเขาก็แจ้งว่าร้อยโทเป็นคนสั่ง
พระวิเชียร เผือกสม ก่อนหน้าที่จะเข้าสมัครเป็นทหารเกณฑ์
คำสั่งเสียของน้าชายได้มาอย่างไร
จากทางโรงพยาบาล เพราะพอมาถึงโรงพยาบาล น้าก็ให้เบอร์โทรศัพท์ให้ช่วยติดต่อที่บ้านแล้วแจ้งด้วยว่าโดนครูฝึกซ้อมมามีร้อยโทคนนี้เป็นคนสั่ง พอเรามาอ่านการสอบสวน การกระทำไม่ใช่วิสัยของการฝึกทหาร เป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย มันย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลายๆ อย่าง เลยมองว่ามันต้องแก้ไข ยังคุยกับผู้ใหญ่หรือนักกฎหมายเลยว่า ถ้าได้ขึ้นศาลจะขอให้ตรวจสอบสภาพจิตของทั้ง 10 นายที่เป็นคนกระทำ เพราะแต่ละอย่างถ้าเป็นวิสัยคนปกติก็ไม่น่าจะทำได้ขนาดนั้น เช่น เอาเกลือทาแผล ให้นั่งบนก้อนน้ำแข็งนานๆ กระทืบ คนยังไม่เสียชีวิตให้เอาผ้าขาวมัดตราสังแห่รอบโรงอาหาร มันป่าเถื่อนและโหดร้ายมาก
ผลชันสูตรเป็นอย่างไรบ้าง
เขาแจ้งว่ากล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนส่งผลให้ไตวายฉับพลัน และระบุร่องรอยบาดแผลโดยละเอียด แต่การสอบสวนก็ระบุชัดว่าโดนกระทำอะไรมา ที่ช้าเพราะ ป.ป.ท. ชี้เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558 ไว้ว่าผิด มาตรา 290 ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต แต่กรณีที่เราอ่านจากการสอบสวนของ ทบ.เองหรือของตำรวจระบุว่ามีการทารุณทรมานจนถึงขั้นเสียชีวิต เราจึงร้องขอให้เป็นความผิดตามมาตรา 290(2) ผิดฐานเจตนาฆ่า ซึ่งหากเป็นมาตรา 290 เฉยๆ จะลงโทษจำคุก 3-15 ปี แต่ถ้าเป็นมาตรา 290(2) โทษจำคุกจะเป็น 3-20 ปี ตอนนี้จึงเป็นประเด็นที่เราร้องขอให้ตรวจสอบว่าเป็นเจตนาฆ่าหรือเปล่า และหากเข้ามาตรา 289(5) เรื่องเจตนาฆ่าโดยทารุณกรรม โทษจะเป็นจำคุกตลอดชีวิตจนถึงประหารชีวิต
ที่สำคัญ ตอนที่โดนซ้อมน้าขอไปโรงพยาบาลก็ไม่มีใครส่งไป เขาร้องขอวันนี้แต่ต้องรอถึงอีกวันถึงจะส่งตัวไป พอส่งตัวไปก็ยังมีความพยายามดึงตัวกลับมาอีก หมอที่โรงพยาบาลวินิจฉัยว่าไม่ให้เอาตัวกลับ ทางนั้นเขายังยื้อว่าจะเอาตัวกลับค่ายให้ได้ เหมือนพยายามจงใจที่จะทำให้เขาตายให้ได้
แล้วกระบวนการในการสืบสวนเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้อัยการทหารได้สั่งให้ ป.ป.ท. ไปสอบเพิ่มกับคุณหมอ ในประเด็นว่าถ้าทำแบบนี้จะมีผลให้เสียชีวิตหรือไม่ และรู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าถ้าซ้อมตรงนี้ ตีตรงนี้ ตีไปที่ท้ายทอยจะทำให้ตายได้ ซึ่งนั่นแปลว่าเป็นการจงใจฆ่า
ในฐานะที่ออกมาเรียกร้องต่อสู้อย่างไม่ลดละ ถูกคุกคามอะไรบ้างไหม
ช่วงแรกๆ มีคนส่งกระสุนปืนใส่ซองธูปมาให้ที่บ้าน แต่แม่เพิ่งจะมาบอกหลังจากเกิดเรื่องได้ครึ่งปีแล้ว ตอนช่วงที่จัดงานศพเราก็ขอกำลังตำรวจมาช่วยดูแล หลังจากนั้นก็มีคนปลอมตัวมาเป็นคนขายไอศกรีมแล้วก็ไปเจอกับแม่พอดี คือที่บ้านเรามันเป็นชนบท เขาก็จะรู้กันหมดว่าใครเข้ามาในหมู่บ้าน เขาเข้าขายไอศกรีมแล้วบังเอิญมาเจอแม่กับพี่สาวเราพอดี แล้วเขาก็ดันมาถามแม่เราว่าบ้านพลทหารวิเชียรอยู่ที่ไหน
นอกจากนี้ก็มีการให้คนอื่นเข้ามาคุกคาม มาคุยว่าให้เรารับเงินไปเถอะ พูดประมาณว่าคนก็ตายไปแล้ว คนเป็นอยู่รับเงินไปก็จะได้สบาย แต่ถ้าไม่รับ คนเป็นอาจจะตายตามคนตาย อีกกรณีหนึ่งก็คือการขับรถตาม ช่วงที่เราจัดงานศพ แม่จะจดทะเบียนรถที่ทหารขับมาทุกคัน แล้วหลังจากนั้นประมาณ 4-5 เดือนก็มีรถเลขทะเบียนเดียวกันกับที่จดไว้โผล่มาขับตามเราตอนเราขับรถอยู่ในตัวเมือง เหมือนเขาติดตามความเคลื่อนไหวเราอยู่ตลอด
เราก็เลยโทรคุยกับแม่ทัพภาค 4 เพราะท่านให้เบอร์โทรไว้ตอนมางานศพ ให้ประสานท่านโดยตรง มันก็ทำให้เราอุ่นใจว่าอย่างน้อยก็มีผู้ใหญ่คอยดูแล หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยเจอแล้ว แต่เราก็ระวังตัวอยู่ตลอด
ตอนนั้นรู้สึกกลัวไหม
ตัวเราไม่กลัวนะ แต่กลัวอย่างเดียวคือเขาจะไปทำอะไรครอบครัวเราหรือเปล่า เราถึงขั้นประกาศท้าเลยว่าถ้าจะทำให้ทำเราคนเดียว ครอบครัวเราไม่เกี่ยว แต่ถ้าทำครอบครัวเราเมื่อไหร่ เราไม่ปล่อยไว้ และจะไม่ปกป้อง ทบ.อีกแล้ว เราพร้อมแลกทุกอย่างถ้ามาทำครอบครัวเราอีก แม้ว่า ทบ.ข้างบนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ กับครอบครัว เราก็พร้อมจะสู้
คิดว่าคนที่เข้ามาคุกคามรู้ไหมว่าคุณเป็นคนเดินเรื่องร้องเรียนทั้งหมด
น่าจะรู้ แต่เขาไม่ได้เข้ามาคุกคามเราโดยตรง แต่เข้ามาคุยกับแม่ซึ่งก็เข้าใจว่าต้องการสื่อสารกับเราด้วย ทางคนที่ทำเขาไม่ได้มาเอง แต่ให้คนที่เรานับหน้าถือตามาพูดว่าให้เรารับเงินเถอะ คือเราก็บอกกับที่บ้านไว้เลยว่าเวลามีใครเข้ามาเจรจาแบบนี้ให้บอกเขาไปเลยว่า ที่บ้านไม่มีสิทธิตัดสินใจ คนที่จะตัดสินใจมีเราคนเดียว
แล้วตอนนี้คดีความเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้คดีแพ่งจบไปแล้ว ตอนฟ้องเราฟ้องฐานการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และเราฟ้องหน่วยงาน ไม่ได้ฟ้องตัวบุคคลที่กระทำความผิด เราฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นผู้บัญชาการกองทัพคือพลเอกประยุทธ์ ก็ได้สั่งพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมด 7 ล้านให้กับครอบครัว เราก็จบในประเด็นนั้นแล้ว เพราะไม่มีการไต่สวนในชั้นศาล เป็นการประนีประนอมกันเพราะกองทัพบกก็ทราบดีว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นจริงและผิดจริง ก่อนหน้านั้นทางกองทัพบกก็ช่วยเหลือเรามาตลอด ตอนนั้นก็เป็นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ทางสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นใช้เวลาพิจารณานานถึง 2 ปี จนท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งว่า ถ้าครั้งต่อไปยังไม่มีคำตอบ ศาลจะสั่งสอบพยาน นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งว่าให้พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้พิจารณาชดเชยเอง และหลังจากพลเอกประยุทธ์ได้รับหนังสือเพียงครึ่งเดือนก็ได้ยอมชดเชย มันก็ทำให้รู้ว่าทาง ทบ. เองก็ไม่ได้นิ่งเฉย
แล้วทางคดีอาญาเป็นอย่างไรบ้าง
คดีอาญาจริงๆ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสังเกตคือช่วงแรกๆ เราไม่ได้ทำงานเลย เราต้องการจัดการเรื่องคดีให้จบไป จน ป.ป.ท. ชี้มูลความผิด แล้วเราขอให้ทำหนังสือให้พักราชการร้อยโทที่สั่งทำโทษ แต่ทาง ทบ. ตอบมาว่าไม่พักราชการ ตอนนั้นก็คิดว่าจะสู้ยิบตา แต่พอได้คุยกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็บอกให้รอการตัดสินในชั้นศาลเลย เพราะเมื่อศาลมีคำตัดสินถ้าผิดจริงก็ต้องปลดออกเลย เราจึงตัดสินที่จะมาทำงานก่อน
ช่วงก่อนที่ตัวเราจะโดนแจ้งความ เราก็พยายามรื้อคดีขึ้นมารอบหนึ่ง แล้วก็เงียบไปเพื่อที่จะทำงาน แต่เขาก็บุกมาจับเราในที่ทำงาน เพราะนายทหารที่สั่งทำโทษพลทหารวิเชียรเป็นผู้เข้าแจ้งความ จากเหตุที่เราโพสต์และแชร์สเตตัสเฟซบุ๊กเปิดเผยชื่อและใบหน้าของผู้กระทำผิด เราถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาท และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ความจริงคือเราไม่ได้โพสต์เราแค่แชร์มา แต่เขาระบุว่าเราเป็นคนโพสต์เอง ตอนที่เราแชร์มาก็เป็นช่วงหลังจากที่ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ชี้มูลความผิดแล้ว แต่ตอนนั้น ทบ.ยังไม่ได้สั่งพักราชการเขาทั้งยังได้เลื่อนยศอีก และเรื่องที่ระบุว่าเขามีพ่อเป็นนายพลก็เป็นเรื่องจริงเช่นกัน
ตอนนี้นายทหารที่สั่งทำโทษพลทหารวิเชียรก็ถูกสำรองราชการไปแล้ว คือสั่งให้เขาเข้ามาอยู่ส่วนกลางไม่ได้มีหน้าที่อะไร และเพื่อรอคำตัดสินของศาลจะได้สั่งปลดออกจากราชการต่อไป
ตอนนี้คดีอาญาของพลทหารวิเชียรก็อยู่ในกระบวนการของอัยการส่งฟ้องศาล ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนคดีของที่เรากลายเป็นผู้ต้องหาตอนนี้ก็รออัยการเป็นผู้พิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ อีกด้านหนึ่งเราเองก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนและพนักงานผู้จับกุม เพราะมองว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาเข้ามาจับเราในที่ทำงาน ถ้าเขามาจับเราแล้วมีการทำสำนวนส่งมาย้อนหลังเราจะไม่ว่าอะไร แต่นี่คุณจับเราปุ๊บ แล้วเรามาทราบว่าสำนวนคดีของเรานั้นพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการก่อน 3 เดือน แล้วเพิ่งมาจับเรา พอเรากลับมาค้นดูหมายเรียกตามที่อยู่ต่างๆ ปรากฏว่าไม่การส่งหมายเรียกรายงานตัวมาเลย เหมือนกับว่าคุณตั้งใจไม่ส่งหมายเรียกให้เรา
ในฐานะของผู้ต้องหาคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ เราจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ที่เข้าแจ้งความก็เพราะเรามองย้อนให้กับคนอื่นๆ ด้วย เพราะถ้าตำรวจทำแบบนี้กับคนอื่นๆ เขาไม่ต้องเข้าไปอยู่ในคุกถูกใส่กุญแจมือเลยเหรอ เพราะการประกันตัวมันก็ต้องใช้หลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง ถ้าเป็นชาวบ้านตาสีตาสา เขาจะทำอย่างไร
ที่บ้านเคยมาคุยขอให้หยุดเรียกร้องไหม
ช่วงแรกๆ ไม่มีใครมาขอร้องให้เราหยุด มามีตอนที่เราโดนจับ เขาขอว่าให้เราปล่อยไป เราบอกว่าเราปล่อยไม่ได้ ถ้าปล่อยไปก็เท่ากับเราผิดจริง เพราะสิ่งที่เราแชร์มาเป็นเรื่องจริง เราบอกคนนี้ทำความผิดแต่ยังไม่ถูกลงโทษ
คุณเริ่มเรียกร้องมาแต่ตั้งช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้นคิดอย่างไรถึงออกมาเรียกร้อง
เราคิดว่าถ้าเราเป็นคนตาย เราอยากจะได้อะไร ต้องการให้หยุดหรือต้องการความเป็นธรรม เราคิดว่าเขาต้องการความเป็นธรรมมากกว่า ก็เลยเลือกที่จะต่อสู้ และอีกอย่างชีวิตเขาจะให้ตายอย่างไร้ค่าหรือตายอย่างมีคุณค่าก็อยู่ที่เราจะเลือก
แล้วมันได้พิสูจน์แล้วว่าชีวิตน้าเรา แม้จะตายอย่างทรมานแต่เรื่องของเขามันได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของทหารเกณฑ์คนอื่นๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะค่ายที่น้าเสียชีวิตตอนนี้ก็ได้มีการติดกล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกจุดแล้ว และค่ายอื่นๆ อีกหลายๆ ค่ายก็ได้ทำในแบบเดียวกันโดยเฉพาะในภาคใต้ เราได้มีโอกาสคุยกับ ผบ.พล.ร 15 โดยตรง ท่านก็มีคำสั่งออกมาว่าห้ามครูฝึกแตะต้องตัวทหารเกณฑ์ จะต้องมีการดูแลพลทหาร ทำเป็นข้อปฏิบัติออกมา 10 ข้อ ท่านก็ส่งมาให้เราดู แล้วท่านก็สั่งจริงทุกค่าย ทุกที่ก็มีนโยบายแบบนี้จริงๆ ความเข้มงวดเรื่องซ้อมพลทหาร ทำร้ายร่างกายพลทหาร เป็นเรื่องที่ ทบ. ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
มันเลยทำให้เรามองว่า เราไม่ได้เป็นประเด็นกับ ทบ. ตั้งแต่แรกแล้ว และตอนนี้ ทบ. ก็ต้องการแก้ไขในสิ่งผิด สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็เลยบอกว่าเราพร้อมจะทำงานกับกองทัพ เราไม่ได้มีประเด็นกับกองทัพ ถ้าเรามีประเด็นกับกองทัพเราไม่ก็คงไม่บอกให้น้องชายเราไปเป็นทหารเกณฑ์ เราก็มีน้องชายอยู่คนเดียวเอง เพราะเรายังเชื่อมั่นใน ทบ. ตัวผู้กระทำความผิด 10 นาย ไม่สามารถจะเอามาเทียบทั้งหมดได้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี รู้สึกว่าตัวเองและครอบครัวได้รับความเป็นธรรมในกรณีของน้าชายหรือยัง
ตอนนี้รู้สึกว่าเราได้รับความเป็นธรรมในช่วงหลังๆ ตั้งแต่ได้เจอกับ ผบ.พล.ร 15 แล้วก็หลังจากที่ได้คุยกับแม่ทัพภาค 4 หรือว่า ผบ.ทบ. เองทำให้รู้ว่ากองทัพก็ไม่ได้ต้องการปกป้องคนผิด แต่ไม่ทราบข้อมูล พอท่านเห็นเอกสารต่างๆ ท่านก็สั่งเลยและยอมรับว่าที่ผ่านมามันช้าเพราะท่านไม่ทราบข้อมูล วันนี้รับทราบแล้วก็พร้อมให้ความเป็นธรรม ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้อีกแล้วคนที่ประสบเหตุการณ์ไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาตั้งแต่เริ่มต้น
ไม่คิดว่าเป็นเพราะระบบโครงสร้างของกองทัพที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นหรือ
มองว่ามันเรื่องที่ตัวบุคคล เพราะนโยบายเองก็ชัดเจนว่าการทำแบบนี้เป็นเรื่องผิด แต่กรณีนี้คนกระทำผิดค่อนข้างใหญ่พอดี ส่วนกรณีอื่นๆ ที่รู้มากองทัพก็สั่งปลดเลยทันที มันปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีระบบอุปถัมภ์อยู่ ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความรับผิดชอบของคนที่มีอำนาจว่าเขาจะเลือกความถูกต้องหรือเลือกพวกพ้อง
คิดไหมว่าการที่กองทัพให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกรณีของคุณ เพราะเป็นเรื่องที่สื่อกระแสหลักนำเสนอและโดยตัวเหตุการณ์เองก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอย่างชัดเจน
มันก็มีส่วน แต่ที่เราคุยกับหลายคน เขาก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เหมือนกับว่าเรายืนอยู่ข้างความถูกต้องและมีคนในสังคมเห็นแบบเดียวกับเรา เพียงแค่ว่าก่อนหน้านี้มันยังไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่วันนี้เมื่อเราลุกขึ้นมามันก็เลยทำให้มีคนอื่นกล้าที่จะลุกตาม เมย์เชื่อนะว่าคนหนึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ขอแค่ลงมือทำ ที่วันนี้สังคมเรายังเป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะทุกคนยังไม่ลงมือทำ ช่างมัน ปล่อยมันไป
คุณเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อแท้บ้างไหม
ท้อบ่อยมาก ตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงที่คดีเกิดใหม่ๆ ถึงขั้นร้องไห้ออกมากลางห้องเรียนก็มี หรือบางทีเรียนอยู่มีคนโทรเข้ามาบอกว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งเราต้องไปจัดการ ก็ต้องขออาจารย์ออกไปทำเรื่อง อาจารย์ก็โอเค มีครั้งหนึ่งที่ออกไปแล้วกลับมาเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าอาจารย์กำลังพูดอะไรอยู่หน้าห้อง ไม่รู้ว่าเขาเรียนอะไรกัน เพราะใจมันคิดอยู่เรื่องเดียว พออาจารย์สอนเสร็จแล้วออกไป เพื่อนเริ่มทยอยออกจากห้อง ก็รู้สึกว่ามันเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่ ปกติเวลามีอะไรเราจะเก็บมาร้องไห้คนเดียวที่ห้อง ไม่ชอบร้องไห้ให้ใครเห็น แต่ตอนนั้นมันไม่ไหวแล้วจริงๆ ยังไม่ทันจะได้กลับบ้านก็ร้องออกมาเลย เราไม่ไหวแล้ว มันคิดฟุ้งซ่านไปหมด เราทำแบบนี้เพื่ออะไร ตอนนั้นเรื่องก็ยังไปไม่ถึงไหน ทำไมเราไม่ยอมรับเงินตั้งแต่แรก แต่พอคิดถึงหน้าน้า มันก็รับไม่ได้อีก คิดไปอีกว่าถ้าคนอื่นต้องมาเจอแบบนี้อีก เราก็รับไม่ได้
สิ่งหนึ่งที่เป็นกำลังใจให้เราตลอดคือ แม่ คือครอบครัวชาวนามันก็ไม่ได้รวยมาก แล้วพ่อเราก็เสียตั้งแต่เราอยู่ ม.3 แล้วแม่ก็ต้องดูแลลูกอีก 3 คน ส่งเงินให้เรา ส่งให้น้องอีก 2 คน มันหนักมาสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ยังเลือกที่จะออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวกับคดี ค่ารถไปศาล ไปนั่นไปนี่ มันต้องใช้เงินเยอะ เพราะถ้านั่งรถเมล์ไปกลับก็เสียเวลาทั้งวัน และเราต้องกลับมาเรียน ต้องนั่งแท็กซี่ไปกลับครั้งหนึ่งก็เสียเป็นพัน แม่ถึงขั้นที่ต้องไปยืมเงินร้อยละ 5 มาให้เราสู้เพื่อความถูกต้อง เราก็เลยคิดว่าแม่ยังเข้มแข็งขนาดนี้ แล้วเราจะอ่อนแอได้อย่างไร
อีกเรื่องคือ เราต้องขอบคุณสื่อด้วย เพราะวันที่เราโดนจับ เราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นที่สนใจของคนมากมายขนาดนั้น เพราะตอนแรกมีสื่ออยู่ไม่กี่แห่งที่ตามเรื่องเราถูกจับ แต่พอเราออกมาจากกระบวนการในชั้นสอบสวนก็เห็นสื่อมากันเยอะ ให้ความสนใจกับประเด็นนี้เยอะ ก็ถือเป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้เราพร้อมจะสู้ต่อไป แต่ก็ยังคิดอยู่ว่าถ้าวันนั้นสื่อไม่ได้นำเสนอ ไม่ได้ให้ความสนใจขนาดนั้น เราจะเจอกับอะไรบ้างก็ไม่รู้ ถูกจับเข้าคุก ใส่กุญแจมือหรือเปล่าเราไม่รู้เลย พอสื่อนำเสนอก็ช่วยทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนเข้ามาช่วยเหลือ
ก่อนหน้านี่คุณบอกว่าทางกองทัพมาชวนคุณไปร่วมงานด้วย ถ้าได้ร่วมงานกับกองทัพในอนาคต ในเรื่องของทหารเกณฑ์ มีอะไรบ้างที่คุณต้องการจะเปลี่ยนแปลง
เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพลทหาร คือทำอย่างไรก็ได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากันทุกค่าย เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของกองทัพและรัฐบาลอยู่แล้ว ทำอย่างให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนและเป็นธรรม เราก็ยังไม่แน่ใจว่าถ้าเข้าไปทำจริงเราจะทำได้ไหม เพราะเราเป็นคนไม่ยอมคนง่ายๆ ตรงอย่างเดียว ไม่คดไม่งอ มันก็อาจจะทำงานได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการเข้าไปเปลี่ยนแปลงในระบบ
ถ้าเราได้เข้าไปทำงานกับกองทัพจริงก็อยากเข้าไปดูเรื่องการตรวจสอบ เพราะหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีกเราจะขอรับผิดชอบในส่วนนั้น อยากให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรมตามกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องมีความรวดเร็วคนที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่อยู่เหนือกฎหมาย เราไม่ต้องการเห็นอะไรที่ผิดแล้วกลายเป็นเราที่ต้องออกมาแก้ต่างให้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราทำไม่ได้ แต่ถ้าแก้ไขเราทำให้ได้
ระบบอำนาจนิยมของกองทัพอย่างสโลแกนที่ทหารชอบพูดกันคือ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” หรือ “คำสั่งนายถือว่าเด็ดขาดแต่ไม่แน่นอน” กับระบบการตรวจสอบที่เราต้องการเห็น เมื่อสองสิ่งนี้มาอยู่รวมกันจะไปด้วยกันได้ไหม
ก็คิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างก็อยู่ที่ความพยายาม กรณีน้าชายเรา เราก็สามารถลบคำพูดที่ว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ได้แล้ว ทุกอย่างกำลังเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม มันอยู่ที่เราจะพยายามทำมันมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกวันนี้เราคิดว่ามันทำยาก มันทำไม่ได้ มันก็จะไม่มีวันทำได้ แต่ถ้าเราพยายามทำและไปต่อให้ได้ วันหนึ่งมันก็สำเร็จ คดีของน้าผ่านมาจะ 6 ปีแล้ว ตอนแรกก็ไม่มีใครคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ทุกคนบอกให้หยุดตั้งแต่ต้น แต่ทุกสิ่งที่อย่างอยู่ที่ใจเรา ถ้าเราไม่ท้อ แล้วทำตามความคิดผิดชอบชั่วดี ตามมโนธรรมสำนึกแห่งความถูกต้อง เราเชื่อว่ามันเปลี่ยนได้
นอกเหนือจากที่ทุกคนมองคุณเป็นผู้หญิงแกร่งที่กล้าออกมาต่อสู้เรียนร้องความเป็นธรรม คุณมองเห็นตัวเองในมุมอื่นๆ อย่างไรบ้าง
เมื่อก่อนไม่ได้เป็นคนที่จะออกมาสู้อะไรแบบนี้ เราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก เน้นการเรียนอย่างเดียว ตั้งแต่ประถมจนจบมาก็ 4.00 ตลอด เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งทุกอย่าง ไม่ให้เพื่อนลอกการบ้านเลย แต่พอมาอยู่มหาวชิราวุธ มันเปลี่ยนและทำให้เราเห็นแก่ส่วนรวม มันเปลี่ยนไปทุกอย่าง จากเกรดแรกเข้า 3.53 สุดท้ายจบมาด้วยเกรด 2.53 เพราะมัวแต่ทำกิจกรรม แต่ก็ไม่คิดมากเรื่องเกรด เพราะมันไม่ได้ตัดสินทุกอย่าง สุดท้ายมาสอบตรงธรรมศาสตร์ติดอันดับต้นด้วย มันก็ทำให้รู้สึกภูมิใจ ที่อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้หลายๆ คนได้เห็น
พอมาเรียนอยู่ธรรมศาสตร์คิดว่าจะกลับมาตั้งใจเรียน แต่ก็มาเจอเรื่องนี้อีก มันเลยทำให้หยุดสู้ไม่ได้ คล้ายๆ กับว่าทุกครั้งที่คิดจะหยุดก็จะมีอะไรมาแทรกตลอด ตอนช่วงที่เริ่มทำงานก็หยุดเรื่องคดีไว้ รอให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ก็มาถูกจับเสียเองอีก มันก็เลยทำให้ต้องกลับมาสู้ต่อ เพราะทุกอย่างมันต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและความยุติธรรมเท่านั้น เราก็เลือกที่จะทำแบบนี้
โดยนิสัยตัวเองปกติเป็นคนชอบสวดมนต์ นั่งสมาธิ ถ้ามีงานก็จะบ้าทำงานไปเลย ทุกวันนี้ทำงานข้าราชการอยู่บางวันกลับเที่ยงคืนก็มี บางทีมีงานต้องเตรียม ต้องจัดการให้เสร็จ ตอนนี้ก็ให้ทุนการศึกษาอยู่ด้วย ตรงไหนที่พอจะช่วยสังคมได้ก็ช่วย
นี่ก็ใกล้ปีใหม่แล้ว ถ้าขอของขวัญได้ คุณอยากได้อะไร
ไม่อยากได้อะไรเลยนอกจากเห็นคนทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย และขอให้มีการพักราชการออกมาเถอะ จะได้จบประเด็นกันซะทีกับกองทัพ