วันพุธ, พฤศจิกายน 16, 2559

คำ ผกา : ชังกันบ่อแลเหลียว





ไม่รู้ว่าใครเคยมีคำถามคล้ายๆ กับฉันบ้าง กับการมีชีวิตอยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ
.
เพราะมันเป็นเมืองที่เราเห็นคนขึ้นรถเมล์ขมุกขะมอม ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่เราเห็นรถหรูหราราคานับสิบล้าน วิ่งฉิวๆ ให้ได้เป็นบุญตา ในย่านที่หรูหราราคาแพงที่สุดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ก็มีทั้งมนุษย์ซึ่งอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมราคาหลายสิบล้าน และในซอยเดียวกันก็มีสลัมซอมซ่อซ่อนตัวอยู่
.
ในซอยที่มีร้านอาหารที่ราคาต่อหัวต่อมื้อนับหมื่นบาท ใกล้กันนั้นก็มีเพิงขายลาบ ข้าวเหนียว ขายไก่ปิ้ง ของคนรายได้น้อยที่ใบหน้าโชกเหงื่อ
.
คำถามของฉันคือ ผู้คนที่หรูหราร่ำรวยเหล่านั้น เมื่อเดินออกมาจากบ้านราคาร้อยล้านของเขามาเจอสลัม เมื่อขับรถราคาหลายสิบล้านอยู่บนถนน แล้วเห็นคนหน้าแห้ง ยืนรอรถเมล์อยู่อย่างอดทน
.
สิ่งที่ฉันอยากรู้มาโดยตลอดคือ อยากรู้ว่าเขาคิดอะไร?


Matichon Weekly - มติชนสุดสัปดาห์


ooo


คำ ผกา : ชังกันบ่อแลเหลียว


โดย คำ ผกา
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายน 2559


ไม่รู้ว่าใครเคยมีคำถามคล้ายๆ กับฉันบ้าง กับการมีชีวิตอยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ

เพราะมันเป็นเมืองที่เราเห็นคนขึ้นรถเมล์ขมุกขะมอม ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่เราเห็นรถหรูหราราคานับสิบล้าน วิ่งฉิวๆ ให้ได้เป็นบุญตา ในย่านที่หรูหราราคาแพงที่สุดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ก็มีทั้งมนุษย์ซึ่งอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมราคาหลายสิบล้าน และในซอยเดียวกันก็มีสลัมซอมซ่อซ่อนตัวอยู่

ในซอยที่มีร้านอาหารที่ราคาต่อหัวต่อมื้อนับหมื่นบาท ใกล้กันนั้นก็มีเพิงขายลาบ ข้าวเหนียว ขายไก่ปิ้ง ของคนรายได้น้อยที่ใบหน้าโชกเหงื่อ

คำถามของฉันคือ ผู้คนที่หรูหราร่ำรวยเหล่านั้น เมื่อเดินออกมาจากบ้านราคาร้อยล้านของเขามาเจอสลัม เมื่อขับรถราคาหลายสิบล้านอยู่บนถนน แล้วเห็นคนหน้าแห้ง ยืนรอรถเมล์อยู่อย่างอดทน

สิ่งที่ฉันอยากรู้มาโดยตลอดคือ อยากรู้ว่าเขาคิดอะไร?

เขารู้สึกแปลกแยก หรือรู้สึกแปลกบ้างไหมว่า ทำไมเขามีมากจัง แล้วทำไมคนอื่นถึงมีน้อย, ไม่มี, ไม่แม้กระทั่งจะเอาวางเทียบเคียงกันได้ หรือแท้จริงแล้วพวกเขาไม่เคยตั้งคำถาม เพราะคนที่ “ไม่มี” เหล่านั้นที่เคลื่อนไหว และหายใจอยู่รอบๆ ตัวเขา ล้วนแต่มีชีวิตและเคลื่อนไหวผ่านไปมา ไม่ต่างจากเวลาที่เราเห็นแมลงหวี่ แมลงวัน บินผ่าน

เห็น รู้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ไม่มีความหมาย และอาจสร้างความรำคาญหากมีมากเกินไป




AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT


เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วารสาร Psychological Science ตีพิมพ์งานวิจัยของทัมวิจัยมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่แสดงผลการทดลองออกมาว่า “บรรดาคนที่มั่งคั่งนั้น มีความสนใจต่อคนอื่นน้อย” ในเว็บไซต์ Quartz ถึงกับพาดหัวว่า Science confirms rich people don’t really notice you – or your problem หรือ “คนรวยๆ เขาไม่ได้สังเกตเห็นคุณ หรือปัญหาของคุณหรอกนะ”

การทดลองนี้ทำเป็นซีรี่ส์เลยทีเดียว ทั้งทำในห้องทดลอง และทำในภาคสนาม

มิหนำซ้ำยังบอกกลุ่มตัวอย่างที่นำมาทดลองว่า “นี่เป็นการทดลองเพื่อทดสอบสมรรถนะของเทคโนโลยีกูเกิลกลาส และกูเกิล สตรีตวิว”

แต่จริงๆ แล้ว ผู้ทดลองได้เก็บผลการทดลองว่า ระหว่างผู้มีอันจะกิน กับคนธรรมดา ใครใส่ใจกับเรื่องราวรอบตัวมากกว่ากัน

โดยวัดจากข้อมูลที่ถูกบันทึกผ่านกูเกิล กลาส และการใช้กูเกิล สตรีตวิว นั่นเอง

ส่วนการทดลองในห้องทดลองนั้น ให้กลุ่มตัวอย่างดูรูปภาพ คน สิ่งของ ผลไม้ ฯลฯ โดยที่แต่ละรูปจะเกือบเหมือนกันทุกประการ แล้วบันทึกว่ามีใครสังเกตเห็นจุดที่แตกต่างบ้าง (capacity to rapidly and spontaneously summon visual attention.)

งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็มีข้อมูลคล้ายๆ กันว่า ยิ่งร่ำรวยมากเท่าไหร่ ความสามารถในการอ่านอารมณ์คนอื่นก็น้อยลงเท่านั้น

ความน่าสนใจของงานวิจัยเหล่านี้ มันทำให้เราเห็นว่า ชนชั้นทางสังคม กับการรับรู้ทางสมอง (cognitive) นั้นสัมพันธ์กัน ชนชั้นแรงงาน มีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง และมีสไตล์ของการรับรู้ทาง cognitive ที่เป็น holistic ในขณะที่ชนชั้นกลางขึ้นไป มีการรับรู้หรือ cognitive ในแบบที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่แคร์คนอื่น

(http://qz.com/816188/science-shows-the-richer-you-get-the-less-you-pay-attention-to-other-people/

https://broadly.vice.com/en_us/article/wealthy-people-dont-notice-other-human-beings-study-says)




AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT


งานวิจัยนี้คงไม่สามารถใช้ฟันธงว่า คนยิ่งรวยยิ่งใจดำ เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกนำมาอยู่ในการทดลอง เช่น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ช่วงวัย

แต่อย่างน้อย มันบอกความเป็นไปได้ และมีเหตุผลที่น่าฟังว่า การที่คนมั่งมี ไม่ค่อยแคร์คนอื่น ไม่ค่อยสังเกตเห็นใคร สามารถเดินไปบนถนนโดยไม่ได้ฉุกเห็นว่า เอ๊ะ ตรงนั้นมีขอทาน เอ๊ะ ตรงนั้นมีเด็กเร่ร่อนนอนอยู่ เอ๊ะ ตรงนั้นมีเพิงขายก๋วยเตี๋ยวผุๆ ประจันหน้ากับร้านอาหารมื้อละหมื่น

ทำไมเป็นเช่นนั้น เอ๊ะ เราอยู่คอนโดฯ ห้องละร้อยล้าน เดินออกมาเจอคนอยู่สลัมไม่ไกลจากคอนโดฯ เรา

ทำไมเขาไม่มีเงินอย่างเรานะ? ทำไมเรามีเงินมากกว่าเขา?

ผลการทดลองทางจิตวิทยาบอกว่า คนรวยๆ เหล่านั้นแทบไม่เห็นคุณ ความจนและผู้คนเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นไม่อยู่ในสายตา ไม่ใช่ว่าเขาใจดำ แต่เขา “ไม่เห็น” – “ไม่สังเกต” เห็นคุณจริงๆ

ทำไมเขาไม่เห็นล่ะ?

นักจิตวิทยาอธิบายว่า เหตุที่คนมีอันจะกิน ไม่ค่อยมีคนอื่นอยู่ในสายตาก็เพราะเขาไม่ต้อง “พึ่งพา” ใคร พูดให้บ้านกว่านี้คือ “มีเงินเสียอย่างก็ไม่ต้องง้อใคร” (จริงๆ แล้ว เหตุผลแบบนี้ไม่ต้องใช้นักจิตวิทยามาบอกก็ได้นะ)

ไม่ง้อใครนี่คือยังไง?

เช่น วันนี้ต้องทำโอที ไม่มีใครช่วยดูลูกให้ สงสัยต้องไหว้วานให้ลูกไปอยู่บ้านเพื่อนบ้านสัก 3-4 ช.ม. แต่ถ้าคุณเป็นผู้มีอันจะกิน คุณคงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ คือ ทั้งไม่ต้องทำโอที และทั้งไม่ต้องไปรบกวนเพื่อนบ้านให้มาช่วยดูลูก เพราะคุณสามารถจ้างพี่เลี้ยง หรือใช้ “เงิน” แก้ปัญหาได้

เมื่อคุณไม่มีความจำเป็นในชีวิตที่ต้องไปไหว้วานใครเลย คุณก็ไม่จำเป็นต้องสังเกตสังกาอะไร ไม่จำเป็นต้องมาใส่ใจว่า วันนี้เพื่อนบ้าน หรือคนรอบๆ ตัวเป็นยังไงบ้าง

นั่นแสดงว่า การที่คน “จน” ใส่ใจคนอื่น หรือแคร์อารมณ์ ความรู้สึกของคนอื่น ก็ไม่ใช่เพราะจน และจิตใจดีกว่า แต่จำเป็นต้องใส่ใจ เพราะเอาไว้เผื่อพึ่งพา ขอความช่วยเหลือกัน

เราจำเป็นต้องรู้ว่า วันนี้เพื่อนบ้านเราไปไหน สบายดีไหม มีญาติจากต่างจังหวัดมาพักที่บ้านหรือเปล่า หงุดหงิดหรือเปล่า ฯลฯ เพราะทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่า หากวันนี้ต้องทำโอที เราจะฝากลูกของเราไว้ให้เขาช่วยดูแลได้ไหม?

พูดง่ายๆ ว่า คนจนต้องใส่ใจคนอื่นก็เพราะมันเป็น “ความจำเป็น”




AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA


นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ยังมี “ช่องว่าง” หรือความเหลื่อมล้ำทางความเห็นอกเห็นใจอยู่ด้วย แม้จะโดยไม่รู้ตัว ถ้าบรรดาคนที่มั่งคั่ง ไม่เคยเห็น “คนจน” หรือ “คนอื่น” อยู่ในสายตา ก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่รู้ว่าในสังคมที่มีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งนั้น มีปัญหาอะไรบ้าง และไม่วันรู้เลยว่า ในปัญหาเหล่านั้น อาจมีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย

ตัวอย่างของความไม่รู้ เช่น มีการ์ตูนิสต์คนหนึ่งที่เขียนเรื่องชาวนา “เสี้ยน” การอุดหนุนจากรัฐบาล – มีนัยว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหล่อเลี้ยงอำนาจและความชอบธรรมของตนเองด้วยการดึงงบประมาณมาซื้อเสียงจากคนจนผ่านนโยบาย “ประชานิยม” เช่น การจำนำข้าว

ผลก็คือ เราได้รัฐบาลฉ้อฉล ตั้งหน้าตั้งตามากอบโกยผลประโยชน์ ส่วนคนจนก็กลายเป็นมนุษย์ที่หวังแต่จะเกาะ “รัฐ” กิน พอไม่ได้ ไม่มี ก็ออกมาโวยวาย

ผู้มั่งมีบางคน ก็โวยวายว่าชาวนายากจนเพราะทำนาแบบมักง่าย เอะอะอะไรก็ “จ้าง” จ้างไถ จ้างปลูก จ้างเกี่ยว ฯลฯ จะต้องขายข้าวเกวียนละเท่าไหร่ถึงจะคุ้ม โง่จังไม่รู้จักลดต้นทุน

นี่คือความ “ไม่รู้” อันเกิดจากการ “ไม่เห็น”




AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI


คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปบังคับให้คน “มั่งคั่ง” มานั่งสังเกต หรือเข้าใจใจ “คนยาก” ที่มีชีวิตอยู่รอบๆ ตัวเขา และในบริบทแบบสังคมไทย

ผู้มั่งคั่งทั้งหลายสามารถล้างบาปให้กับความร่ำรวยอันวิปริตของพวกเขาได้ด้วยการ ทำบุญ ทำทาน ได้ล้านแปดวิธี ทั้งทำทานจริง ทำทานเอาหน้า ทำบุญเพื่อลดหย่อนภาษี ทำความดีแต่ปาก

และมีไม่น้อยที่ตั้งหน้าตั้งตาบริจาคให้ทานอย่างบ้าคลั่งอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่านั่นคือ “บุญ” ที่จะย้อนกลับมาปกปักรักษาความร่ำรวยของพวกเขาให้ตั้งมั่นอยู่ตลอดไป

การทำบุญ ทำทาน ของคนไทยจำนวนมาก จึงเหมือนการเติมน้ำมันหล่อลื่น เหมือนการชาร์ตแบตเตอรี่ ทำเพราะเชื่อว่าอำนาจบุญจะช่วยหล่อเลี้ยงให้พวกเขารวยยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ยิ่งทำบุญมาก ก็ยิ่งจะมีเงินมีทองไหลกลับเข้ามาหาตัวมากขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งได้

ในสายตาของคนมั่งมีในสังคมไทย คงเห็น “คนจน” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ เหมือนเราเห็นจอกเห็นแหนในสระน้ำ ถึงเห็นก็เหมือนไม่เห็น เพราะมันไม่มีความหมายอะไรกับเราเลย วันดีคืนดี จอกแหนเหล่านี้ถูกกวาดไปทิ้งจนเกลี้ยง เราก็แทบจะไม่รู้ว่ามันหายไป

ยิ่งเราปล่อยให้โครงสร้างทางการเมืองจรรโลงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไว้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องอยู่ในสังคมที่ “คนจน” จำนวนมากในสังคมจะค่อยๆ กลายสภาพเป็นจอกแหน ที่ไม่มีใครเห็น จะเจ็บ จะตาย จะถูกทำร้าย จะถูกกระทำย่ำยี จะถูกลากไปเตะไปต่อย ก็ไม่ได้สามารถไปสะกิดต่อมมนุษยธรรมของใครในสังคมได้ เพราะมันเป็นแค่จอกแค่แหน

ยิ่งนานวันก็ยิ่งไร้ความหมาย ไร้อำนาจ ไร้ศักดิ์ศรีลงเรื่อยๆ