ถึงตอนนี้ใครๆ ก็จะร่วมทุกข์ชาวนา คนล่าสุดไม่ใช่ใครที่ไหน ‘ลุงตูบ’ นายกฯ คนเดิม
“กำลังกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา ให้บรรเทาความเดือดร้อนให้ได้โดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า จะเร่งให้มีการประชุมให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อนำเสนอ ครม. รับทราบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ในทันที”
ขั้นตอนเยอะหน่อย ไม่เป็นไร เห็นว่าวันจันทร์จะประชุม ครม. แล้วก็ได้เรื่อง “แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น คาดจะมีการพิจารณาโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเหนียว ปี ๒๕๕๙/๖๐
หรือการจำนำยุ้งฉางในราคา ๑๑,๐๐๐ บาทต่อตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่สมาคมชาวนาเสนอ ต่อที่ประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”
(http://news.voicetv.co.th/thailand/426774.html)
อ้อ นอกนั้นยังมีมธุรสวาจามาป้อนชาวนาด้วย “ขอขอบคุณเกษตรกรชาวนาที่ได้ต่อสู้ชีวิต ด้วยความอดทน เสียสละ รัฐบาลและประชาชนรับรู้ ความทุกข์ของท่านเสมอ เราจะร่วมทุกข์ไปกับท่าน”
แต่อีกทาง ทั่นนายกฯ สั่งโฆษก ‘ห่านอู’ แถลงเบื้องต้น ‘จวก’ สื่อกับนักการเมือง ไว้ก่อน
“เห็นนักการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชนบางกลุ่ม พยายามใช้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาสร้างกระแสความเข้าใจผิด สร้างข้อมูลเท็จโดยไม่มีการตรวจสอบ ถือเป็นการทำร้ายซ้ำเติมสังคมในช่วงเวลาที่ทุกคนที่มีความทุกข์ใจอยู่แล้ว”
(http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)
ไม่เท่านั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด พูดถึงเทร็นด์ใหม่ที่พวกลูกชาวนาคิดวิธีแก้จนด้วยการตัดพ่อค้าคนกลาง เอาอย่าง บก.ลายจุดโมเดล ‘สีเอง-ขายเอง’ ว่า
“การที่ชาวนาจะสีข้าวแล้วนำออกมาขายตามข้างถนนถุงละสิบบาทยี่สิบบาทนั้น สามารถทำได้ครับ แต่จะเป็นการทำให้เศรษฐกิจไม่สมดุลกัน และเงินที่จะเข้าคลังก็ไม่มี...
ตอนนี้ได้มีการประชุมกัน และในที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรจะเก็บภาษีคนที่นำข้าวออกมาขายตามข้างทาง”
ทั่นโฆษกห่านอูหัวหมอ (วรงค์) ไอเดียปิ๊งว่าภาษีควรเท่ากับการขายข้าวส่งออก “ถ้าไม่ทำแบบนี้รัฐบาลก็ไม่มีเงินเข้าคลัง”
ตานี้เลยมี ‘ทนายคู่ใจ’ เอาไอเดียห่านอูไปขยายผล “เขียนข้อกฎหมายให้ความรู้เกี่ยวกับการขายของบนเฟซบุ๊กหรือโลกออนไลน์ ว่า ขายข้าวสารผ่านเฟซบุ๊คระวังโดนจับนะ...
บ้านเราจะมีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งเรียกว่า พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดี
การโพสต์ขายสินค้าออนไลน์นั้นต้องยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อ สคบ.ก่อน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังเงินที่อุตส่าห์ขายข้าวได้ จะโดนเอามาจ่ายค่าปรับซะล่ะ”
เขาอ้างมาตรา ๒๐, ๒๗ และ ๔๗ ของ พรบ.ขายตรง เสริมว่าโทษปรับรวมถึง “ปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน” ด้วย
(http://www.dailynews.co.th/regional/533078)
เอาละสิ ลูกชาวนาเห็นท่าจะแย่ หากไม่ได้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมออกมาช่วยปรามไว้ทันการ นายธวัชชัย ไทยเขียว ซึ่งควบตำแหน่งโฆษกกระทรวงด้วย เขียนเฟชบุ๊คชี้แจงวันนี้ (๓๐ ต.ค.) ว่า
“เกษตรกรสีข้าวและขายเองไม่ผิดพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕”
ท่านรองฯ อ้างมาตรา ๓ ว่ามีคำนิยามต่างๆ เกี่ยวกับการขายตรง ที่ทำให้การจะขายข้าวบรรจุถุงพล้าสติกของลูกชาวนา ไม่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนและเสียภาษี
“ขายตรง” เป็นการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงถึงบ้าน ถึงที่ทำงาน ไม่ผ่านสถานที่ประกอบการหรือร้านค้า
“ตลาดแบบตรง” คือการทำตลาดด้วยการสื่อสารให้ผู้ต้องการซื้อสินค้าติดต่อกลับโดยตรง
“ผู้จำหน่ายอิสระ” เป็นผู้รับสินค้าไปจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค และ
“ตัวแทนขายตรง” คือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงอีกต่อหนึ่ง เอาไปขายตรงกับผู้บริโภค
รวมความท่านรองปลัดฯ สรุปว่าเกษตรกรที่สีข้าวเองเอาไปจำหน่ายเองไม่เข้าข่ายผู้จำหน่ายอิสระตามนิยาม พรบ. และไม่ใช่ตัวแทนขายตรง
“นายธวัชชัยยังได้ระบุข้อความเพิ่มเติม ว่า #การเร่ขายข้าว___ไม่ใช่การขายตรง#ชาวนาขายข้าวทาง_FACEBOOK #ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์”
(http://www.matichon.co.th/news/340284)
อีกรายที่เห็นใจชาวนาขึ้นมาทันใด ทั้งที่เคยต่อต้านโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเป็นตัวยง แม้กระทั่งเมื่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ทำการบรรจุข้าวสารใส่ถุงพล้าสติกจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภคเพื่อช่วยชาวนาอย่างได้ผล เป็นที่นิยมอยู่พักใหญ่
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ก็ต่อต้าน โจมตี และพยายามขัดขวางอย่างสุดลิ่ม
มาบัดนี้เปลี่ยนท่าทีมาโหนกระแสสงสารชาวนาบ้าง เสนอให้รัฐบาลจัดมาตรการเร่งด่วน “จ่ายเงินส่วนต่างช่วยชาวนา เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้า ให้มีเงินใช้จ่าย"
(http://www.thairath.co.th/content/766921)
ก็เลยถูกอดีต ส.ส.พิษณุโลกอีกคนสะกิดให้ “รู้สึกสมเพชแกมเศร้าใจที่หมอวรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลนี้หางบประมาณอุดหนุนชาวนา
ทั้งๆ ที่หมอวรงค์เป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งที่ใช้ทุกวิธีการทำลายโครงการรับจำนำข้าว เพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น แม้จะหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นลูกสมุนเผด็จการเพราะโต้แทนรัฐบาลทุกเม็ดก็ยอม”
นายนคร มาฉิม กล่าวอีกว่า “สุดท้ายรัฐบาลก็จำเป็นจะต้องอุดหนุนชาวนา อาจจะเรียกชื่อโครงการแตกต่างกันไปบ้างก็ไม่ว่ากัน
และสิ่งนี้จะได้เป็นข้อพิสูจน์ให้สาธารณชนและกระบวนการยุติธรรมเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการอุดหนุนเกษตรกรรูปแบบต่างๆ จะคิดกำไร ขาดทุนไม่ได้”
(https://www.facebook.com/komkhaoTV24/photos/a.388426021304555.1073741828.388396157974208/719841641496323/?type=3&theater)
ย้อนไปที่มาตรการของรัฐบาล คสช. ที่ว่าจะรับจำนำยุ้งฉางตันละ ๑๑,๐๐๐ บาท ถ้าดูจากการดำเนินงานปัจจุบันในโครงการประมูลข้าวรัฐโดยผุ้ส่งออกข้าวแล้ว ก็น่าห่วงอย่างยิ่ง
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเกิดอลหม่าน มีทหารไปห้ามนักข่าวเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบข้าวที่ประมูลแล้ว ในโกดังคลังสินค้าสุดใจ จ.ชัยนาท
(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477396479)
อันเนื่องมาจากผู้ประกอบการส่งออกข้าวที่ชนะประมูลข้าวขาว ๕ เปอร์เซ็นต์ จากโครงการรับจำนำข้าวปี ๒๕๕๖/๒๕๕๗ ปริมาณสองแสนกว่าตันในราคาตันละ ๑๐,๙๐๐ บาทต่อตัน พบว่าข้าวในคลังไม่ตรงกับชนิดที่ประมูล แต่เป็นข้าวในโครงการจำนำปี ๒๕๕๔/๕๕ ที่ราคาเพียงตันละ ๕-๖ พันบาทเท่านั้น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทร่วมเจริญพัฒนาการข้าว เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมการตรวจข้าวในโกดังว่า
“ภายหลังจากที่ตนเข้าไปตรวจสอบสภาพข้าวในคลังสินค้าสุดใจ จ.ชัยนาท โกดังที่ ๕ แล้วพบว่าข้าวมีสีเหลือง เสื่อมสภาพอย่างมาก ไม่สามารถรับประทานได้ และผิดประเภทจากที่ประมูลซื้อโดยสิ้นเชิง”
นี่หมายความอย่างไร ไหนคุยกันนักว่าสมัย คสช. โปร่งใส ไม่มีทุจริตไงล่ะ