วันพุธ, ตุลาคม 26, 2559

อ่านอีกครั้ง... “ความเป็นไทย” กระแสหลักที่นิยามโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สร้าง “ความจริง” ทางการเมืองอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง? + 'แม่พลอย'





คัดส่วนหนึ่งจาก

“เมืองไทยในเงาคึกฤทธิ์” (ตอนต้น)

Siam Intelligence
http://www.siamintelligence.com/thailand-under-kukrit-shadow-i/
โดย เกษียร เตชะพีระ
คำถาม

“ความเป็นไทย” กระแสหลักที่นิยามโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สร้าง “ความจริง” ทางการเมืองอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง? “ความจริง” เหล่านั้นสามารถนำมาใช้อธิบายสาเหตุและเสนอวิธีการแก้ปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – ปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไร? และท่านเห็นว่าการเสนอคำอธิบายตามแนวทาง “ความจริง” เหล่านั้น สามารถช่วยให้เข้าใจและแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร? หากไม่ ท่านคิดว่าเป็นเพราะอะไร?

คำตอบ

นิยาม

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันได้ดำเนินมาเป็นเวลานานหลายปีแล้วและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ได้มีความพยายามเสนอคำอธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ด้วยกันหลายแบบ อย่างไรก็ตาม คำอธิบายที่พบมากที่สุดคือคำอธิบายตามกรอบ “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คำอธิบายเหล่านั้นได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก “ความจริง” ทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนที่ทรงอิทธิพลในการนิยาม “ความเป็นไทย” มากที่สุด ในที่นี้จึงจะทำการวิเคราะห์ว่า “ความจริง” เหล่านั้นได้ให้คำอธิบายอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้บ้าง และคำอธิบายเหล่านั้นมีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใด

ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงการเสนอคำอธิบาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบคำนิยามศัพท์สำคัญในเรื่องนี้เสียก่อน ได้แก่คำว่า “ความเป็นไทย” กระแสหลัก และคำว่า “ความจริง” ทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยในที่นี้ผู้เขียนจะขออ้างอิงคำนิยามที่ปรากฏใน “บทวิจารณ์ การสร้าง “ความเป็นไทย” กระแสหลักและ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง” (ฟ้าเดียวกัน, ๓: ๔ (ต.ค. – ธ.ค. ๒๕๔๘)

คำว่า “ความเป็นไทย” หมายถึง สิ่งสร้างทางการเมืองวัฒนธรรม เชื้อมูลที่ประกอบสร้างเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย หากเรามีสิ่งนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ เมื่อนำมารวมกับคำว่า กระแสหลัก จึงหมายถึง สิ่งสร้างทางการเมืองวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการทำความเข้าใจว่าอะไรคือไทย

ส่วนคำว่า “ความจริง” นั้น หมายถึง สภาวะนามธรรมที่เป็นจริงโดยตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม “ความจริง” ในที่นี้เป็น สกรรมสภาวะ (transitive reality) เป็นจริงเพราะเราเชื่อ ไม่ได้เป็นจริงโดยตัวมันเอง แต่เรากลับเชื่อว่ามันเป็นจริงโดยตัวมันเอง เมื่อนำมารวมกับคำว่า การเมือง จึงหมายความว่า แง่มุมทางการเมืองที่เราเชื่อว่าถูกต้อง เป็นจริง ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อนำ ๒ คำข้างต้นมารวมกันเป็น “ความจริง” ทางการเมืองที่ “ความเป็นไทย” กระแสหลักสร้างขึ้น จึงอาจให้ความหมายได้ว่าเป็น กรอบการมองการเมืองที่เป็นผลมาจากอิทธิพลของการทำความเข้าใจว่าอะไรคือไทย


%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“ความเป็นไทย” กระแสหลัก

ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นปัญญาชนที่ทรงอิทธิพลในการนิยาม “ความเป็นไทย” ในที่นี้จึงจะทำการวิเคราะห์ว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้สร้าง “ความเป็นไทย” อะไรไว้บ้าง เพราะถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่า “ความจริง” ทางการเมืองนั้นมีที่มาอย่างไร โดยประเด็น “ความเป็นไทย” ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์นิยามที่สำคัญ ๆ มีดังนี้: –

๑) การปกครองแบบไทย: ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้สร้างให้การปกครองแบบไทยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีสำหรับไทย และเหนือการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตก หลักการปกครองแบบไทยที่สำคัญต้องการเน้นที่อำนาจเด็ดขาดของผู้นำ แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำในรูปแบบนี้ก็มีศีลธรรมพระพุทธศาสนากำกับ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการกดขี่ การปกครองแบบนี้ให้สิทธิการเข้าร่วมการปกครองตามชั้นทางสังคม ผู้ที่อยู่ในระดับล่างไม่มีสิทธิเข้าร่วมการปกครองเนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้ หากให้ร่วมใช้อำนาจด้วยก็จะเกิดความวุ่นวายในสังคมขึ้นได้

๒) พระมหากษัตริย์: ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้เน้นให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นต้นแบบของผู้นำแบบไทยและยังทรงทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากมาย กล่าวได้ว่าไทยเป็นไทยได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีพระ มหากษัตริย์ โดยเฉพาะรัชกาลปัจจุบันที่ทรงบุญญาบารมีสูงสุด พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้พระราชทานอำนาจให้กับประชาชน ดังนั้นการปกครองที่ดีจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลและสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์ แนวความคิดแบบนี้ได้ก่อให้เกิด “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

๓) พระพุทธศาสนา: ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้เน้นที่ศีลธรรมแบบโลกียธรรม พร้อมทั้งได้เน้นว่าผู้นำแบบไทยเป็นผู้นำที่ดีเพราะมีพระพุทธศาสนากำกับ ในส่วนของประชาชนทั่วไป ยังเน้นความสำคัญของ “กรรม” เพื่อให้ประชาชนยอมรับสถานะของตัวเองและให้การสนับสนุนผู้นำแบบไทยซึ่งเป็นผู้ที่มี “กรรม” เก่าที่ดีกว่า

๔) ความสัมพันธ์ของคนในสังคม: ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เน้นให้เห็นว่าสังคมที่รู้จัก “ที่สูง – ที่ต่ำ” เป็นสังคมที่ดี เพราะแต่ละคนทำตามหน้าที่ของตนเอง ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น แม้จะมีความแตกต่างทางชนชั้น แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข เพราะมีระบบอุปถัมภ์ผู้ที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่า

๕) ด้านอื่น ๆ : ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังได้เน้น “ความเป็นไทย” ในด้านอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรม โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้ให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมชั้นสูง (High Culture) ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามและเป็นไทยอย่างที่สุด การเน้นแบบนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้คนในสังคมให้การสนับสนุนคนที่อยู่ใน “ที่สูง” แต่ไม่เห็นค่าของคนที่อยู่ใน “ที่ต่ำ”


%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%


“ความจริง” ทางการเมือง

จาก “ความเป็นไทย” ในแง่มุมต่าง ๆ ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้นิยามไว้ ได้ก่อให้เกิด “ความจริง” ทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การมองว่า “ความเงียบทางการเมือง” หรือ “สังคมที่ไม่มีการเมือง” เป็นอุดมคติสูงสุดสำหรับการเมืองไทย

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะเป็นการไปทำลายระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมแต่เดิมลง ทำให้คนที่อยู่ใน “ที่ต่ำ” เข้ามามีอำนาจในการปกครอง ทั้งที่คนกลุ่มนี้ไม่มีหน้าที่อย่างนั้น การปกครองโดยคนที่ไม่สมควรได้ปกครองจึงทำให้ประเทศมีแต่ความวุ่นวายขัดแย้ง อิทธิพลจากแนวความคิดนี้ทำให้คนไทยมองการเมืองเพียงในแง่มุมของการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวเท่านั้น พร้อมกันนั้นคนไทยก็เชื่อว่าหากสามารถกำจัดนักการเมืองออกไปได้ บ้านเมืองก็จะดีขึ้นเป็นแน่ “ความเงียบทางการเมือง” จึงกลายมาเป็นอุดมคติสำหรับคนไทย

ที่ว่า “ความเงียบทางการเมือง” หรือ “สังคมที่ไม่มีการเมือง” นั้นก็คือการปกครองแบบไทยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์ หน้าที่ในการปกครองเป็นของคนดี ที่มีความเป็นไทยและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เพราะการเลือกตั้งทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมยุ่งเหยิง) และต้องอยู่ใน “ที่สูง” ด้วย คนในชนชั้นต่าง ๆ กลับไปทำหน้าที่ของตนเองตามที่ชนชั้นของตนเองกำหนด ผู้ที่อยู่ใน “ที่ต่ำ” ก็มีเพียงหน้าที่ทำตามสิ่งที่คนอยู่ใน “ที่สูง” กำหนดเท่านั้น ถ้าทำได้แบบนี้ บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสงบสุข อุดมคติแบบนี้ทำให้คนไทยไม่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย และมีแนวโน้มจะสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมได้ง่าย

“ความจริง” ทางการเมืองอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือการเกิดมโนภาพว่า “เมืองไทยนี้ดี” โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้ทำให้คนไทยเชื่อว่าเมืองไทยดีกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ การปกครองแบบไทย การมีพระมหากษัตริย์ ฯลฯ มโนภาพแบบนี้ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าจะทำให้เมืองไทยแย่ลง อีกทั้งยังปฏิเสธแนวทางของประเทศอื่นเพราะเชื่อว่าแนวทางของไทยดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ไทยอาจจะรับแนวทางจากประเทศอื่นได้ แต่ต้องรับผ่านชนชั้นนำเท่านั้น ชนชั้นอื่นห้ามรับโดยตรง

“ความจริง” ทางการเมืองเหล่านี้ได้กลายมาเป็นกรอบคิดของคนไทยจนถึงปัจจุบัน กรอบคิดนี้เป็นทั้งคำตอบในการมองปรากฏการณ์ต่าง ๆ และก็เป็นทั้งข้อจำกัดในการคิดเช่นกัน เพราะกรอบนี้มีพลัง อิทธิพลอย่างมาก จนคนในสังคมไม่สามารถคิดนอกเหนือไปจากกรอบเหล่านี้ได้ แม้แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากก็ยังมองโดยใช้กรอบ “ความจริง” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นหลัก

(ต่อตอนหน้า – มองความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันผ่านกรอบความคิดคึกฤทธิ์)

(เผยแพร่ครั้งแรกใน : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2553)

.....

เรื่องต่อเนื่อง...





"คึกฤทธิ์ ปราโมช : "คนอ่านส่วนมากก็เป็นคนระดับแม่พลอยเท่านั้น (หัวเราะ) โง่ยิ้มเลยจะบอกให้ สี่แผ่นดิน ถึงได้ดัง (หัวเราะ)"

"แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียกไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนเชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนที่เชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น

พลอยเป็นคนเชยมากนะครับ เป็นคนที่อยู่ในกรอบ ใจดี ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานก็รักคุณเปรมได้ ตามคติโบราณนั้นไม่เป็นไรหรอกแต่งไปก่อนแล้วรักกันเองทีหลัง แม่พลอยก็เป็นอย่างนั้นทุกอย่าง ทีนี้คนอ่านคนไทยปลื้มอกปลื้มใจเห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐ - เลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นคนระดับแม่พลอยเท่านั้น (หัวเราะ) 

โง่ยิ้มเลยจะบอกให้ สี่แผ่นดิน ถึงได้ดัง (หัวเราะ)"

[โดยดู บทสัมภาษณ์ "คึกฤทธิ์คิดลึก ทศกัณฐ์วรรณกรรม" ใน ถนนหนังสือ ๓, ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘, หน้า ๑๙.]

"คนไทยนั้นหลอกง่าย เขียนหนังสือหลอกง่าย อยากมีชื่อมีเสียงง่ายที่สุด คนไทยนี่ ขอให้ไทยดี ไทยเก่ง รักชาติไทย พอแล้ว อะไรๆ เป็นชาติไทยหมด ชกมวยก็เป็นชาติไทย"
[โดยดู บทสัมภาษณ์ "คึกฤทธิ์คิดลึก ทศกัณฐ์วรรณกรรม" ใน ถนนหนังสือ ๓, ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘, หน้า ๑๘.]
________________________
แหล่งที่มา : สายชล สัตยานุรักษ์. "คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เล่ม ๑". กรุงเทพ : มติชน, ๒๕๕๐. หน้า ๑๙๘ - ๑๙๙."

#มิตรสหายท่านหนึ่ง

ที่มา เพจ

วิวาทะ V2