วันศุกร์, กันยายน 02, 2559

ทำความรู้จักกับ "โรคไข้ซิกา"






ที่มา National Geographic Thailand

ไม่ใช่แค่เราที่ติดเชื้อ

ในผู้ป่วยทั่วไปอาการของโรคคือ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ อยู่ประมาณ 2 – 7 วัน (โรคไข้ซิกาใช้เวลาฟักตัวอยู่ประมาณ 3 – 12 วัน) ในหญิงตั้งครรภ์โรคไข้ซิกามีผลให้เด็กในท้องเกิดมาพร้อมภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาของสมอง ซึ่งส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน ตัวเตี้ย ใบหน้าผิดรูป ปัญญาอ่อน และอาจมีอาการชัก

ยุงลายไม่ใช่ช่องทางเดียวของไวรัส

นอกจากยุงลายบ้านและยุงลายสวนที่เป็นพาหะของโรคมากมายอย่าง ไข้ซิกา ชิคุนกุนยา ไข้เหลือง และไข้เลือดออกแล้ว อีกช่องทางหนึ่งที่สามารถทำให้คุณติดโรคไข้ซิกาได้ก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก กับบุคคลที่มีเชื้ออยู่โดยไม่ป้องกัน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะแสดงอาการอยู่หรือไม่ ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน





หนทางป้องกัน

หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการระบาดสูงและสถานที่ที่คาดว่าน่าจะมียุงลายชุกชุม พยายามเทน้ำขังรอบสถานที่อยู่ทิ้ง และใส่ถุงยางหรือแผ่นยางอนามัย ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) บอกว่า นอกจากจะใส่ทุกครั้งแล้ว ควรใส่ไว้ตลอดเวลาขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่หนทางที่ดีกว่าคือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน

ยารักษา

ณ ตอนนี้โรคไข้ซิกายังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันเป็นของตัวเอง แต่หากมีอาการปวดศีรษะแพทย์แนะนำให้ “รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น”




เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) ได้ระบุว่าประเทศไทยคือหนึ่งในพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้ซิกาอย่างกว้างขวาง