วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 04, 2559

รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ใช่วันสิ้นโลก :ชำนาญ จันทร์เรือง

ในช่วงระยะที่เหลือไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นวันลงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฯ ของคุณมีชัยกับคำถามพ่วง (ภาษาทางการใช้ว่า “ประเด็นเพิ่มเติม”) หรือไม่

หลายคนหน้าดำคร่ำเครียด หลายคนออกแรงผลักดันอย่างสุดกำลัง เพื่อที่จะให้ผลเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ หลายคนวิตกกังวลว่าผ่านแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่ผ่านแล้วจะเป็นอย่างไร ฯลฯ หรือแม้กระทั่งลึกๆ แล้วบางคนยังมีความเชื่อว่าอาจไม่มีการลงประชามมติในวันที่ ๗ สิงหาคมที่จะถึงนี้เสียด้วยซ้ำไป จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่จะนำมาอธิบาย ซึ่งรวมถึงโหราศาสตร์ด้วย

การลงประชามติหรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า การออกเสียงประชามติ (referendum หรือ plebiscite) นั้นเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้ง (election) ที่เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) โดยการออกเสียงประชามติ คือการที่รัฐขอฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าการออกเสียงประชามติเป็นพฤติกรรมทางการเมือง (political behavior) อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลหรือรัฐสภาได้คืนสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงรับรองหรือคัดค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้แก่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าต้องการดำเนินการอย่างไร

การลงประชามติอาจจะเป็นการรับรองกฎหมายสำคัญๆ เช่น รัฐธรรมนูญ หรือเป็นนโยบายที่สำคัญๆ เช่น สก็อตแลนด์จัดออกเสียงประชามติว่าจะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ หรือในบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกาถือโอกาสจัดออกเสียงประชามติควบคู่ไปกับการเลือกตั้งทั่วไปในคราวเดียวกัน เช่น การอนุญาตให้การจำหน่ายหรือเสพกัญกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เป็นต้น ล่าสุดก็คือการลงประชามติของ สหราชอาณาจักรว่าจะยังคงอยู่ต่อไปในสหภาพยุโรปหรือไม่ โดยบางประเทศมีการลงประชามติกันปีละหลายๆ ครั้ง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

สำหรับในเรื่องประชามติในเมืองไทยเรานั้น เริ่มมีบัญญัติไว้อย่างเป็นทางการนับแต่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ แล้วว่า หากร่างไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาให้นำไปลงประชามติ แต่บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ผ่านรัฐสภาจึงไม่ได้มีการลงประชามติ

และคำว่าประชามติก็ได้มีปรากฏในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด จวบจนได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ ซึ่งได้มีการจัดให้ลงประชามติกันจริงๆ ผลปรากฏว่าฝ่ายที่ให้การรับรองมีมากกว่าฝ่ายที่ไม่ให้การรับรอง ผลจึงมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาจนถูกยึดอำนาจโดย คสช. ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป

แน่นอนว่าเมื่อเราเคยได้มีการลงประชามติกันจริงๆ แล้วมีเสียงเรียกร้องให้มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาใช้แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี ๕๗ จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯชั่วคราวให้มีการลงประชามติขึ้น โดยทางฝ่าย คสช.ก็เห็นด้วยเพราะจะถือได้ว่ามีการรับรองความชอบธรรมของตนเองจากประชาชน

แต่น่าเสียดายร่างรัฐธรรมนูญฯ ชุดของคุณบวรศักดิ์ถูกคว่ำกลางสภาปฎิรูปแห่งชาติเสียก่อนจึงไม่ได้เดินต่อไปยังขั้นตอนของการลงประชามติ แต่ก็ได้มีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนุญขึ้นมาใหม่ โดยมีคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวหน้าทีม และจะได้มีการลงประชามติกันในวันที่ ๗ สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งตามกฎหมายประชามติของไทยเราปัจจุบันไม่ได้บังคับว่าเป็นหน้าที่ หากไม่ไปใช้สิทธิก็ไม่มีโทษทัณฑ์แต่อย่างใด(แต่ในมาตรา ๕๐ (๗) ของร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับที่จะไปออกเสียงนี้ หากผ่านจะถือว่าเป็นหน้าที่ครับ)

จึงจะเห็นได้ว่าการลงประชามติไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลกประหลาดต่อการเมืองไทยเราแต่อย่างใด  สิ่งที่แปลกประหลาดนั้นกลับกลายเป็นสิทธิเสรีภาพในการรณรงค์ที่ไม่เปิดกว้างและไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนกันอย่างทั่วถึง ในเนื้อหาของสิ่งที่ตนเองจะต้องไปออกเสียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่มีการให้ความรู้ความเข้าใจกันอย่างทั่วถึงว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากรัฐธรรมนูญผ่านทั้งสองประเด็นหรือประเด็นเดียว หรืออะไรจะเกิดขึ้นหากไม่ผ่านทั้งสองประเด็นหรือประเด็นเดียว

ฉะนั้น สถานการณ์บ้านเมืองของไทยเราในปัจจุบันจึงเกิดการถามกันมากมายว่า “ประชามติคืออะไร สำคัญอย่างไร” “ประชามติต่างจากการเลือกตั้งอย่างไร” “ไม่ไปลงประชามติได้ไหม จะมีโทษหรือไม่” ฯลฯ ซึ่งได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น

แต่เอาเถอะเมื่อมาถึง ณ กาลปัจจุบันที่เลยทางโค้งมาถึงทางตรงและกำลังจะเข้าเส้นชัยกันแล้ว ก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่อยากจะบอกว่าการลงประชามตินั้นมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตทางการเมือง      การปกครองไทย ว่าจะเดินไปทางไหน ทุกพฤติกรรมทางการเมืองหรือทุกคะแนนเสียงมีความสำคัญทั้งสิ้น ซึ่งหมายความรวมถึงการที่ไม่ไปออกเสียงที่ผมก็ถือว่าเป็นสิทธิที่จะไม่ไปใช้สิทธิเช่นกันด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า รักชอบแบบไหนก็ไปหรือไม่ไปใช้สิทธิตามที่ตนเองเข้าใจและชอบ  ผลจะออกมาอย่างไร บ้านเมืองของเราก็ต้องเดินต่อไป จะดีขึ้นหรือแย่ลงเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่แน่ๆ ชาวไทยทั้งปวงจะต้องเป็นผู้รับไปเต็มๆ กับชะตากรรมหรือบาปเคราะห์ที่จะออกมาจากการไปใช้หรือไม่ไปใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยนี้

แต่อย่าเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะผลของการลงประชามติว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านนี้ไม่ทำให้โลกแตกหรือดับสิ้นลงอย่างแน่นอน ครับ

----------------
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๙