วันพุธ, สิงหาคม 03, 2559

กรณี‘หีบแตก’ เป็นการชี้แนะว่าหีบบัตรไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงดั่งคุย มันอาจถูกทุบแตก และเปลี่ยนแปลงผลลัพท์ภายในได้ ในมุมมืดปลอดจากสายตาสื่อมวลชน





คิดอย่างพวกที่เชื่อโชคลางงมงาย รายการหน้าแตกเพราะ ‘หีบบัตรแตก’ ของ กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร น่าจะเป็นลางร้ายได้ทั้งสองทาง กับ คสช. และประชาชนไทย

(อ่านข่าว สมชัยโยนหีบบัตรแบบใหม่ลงกับพื้นพิสูจน์ราคาคุย แต่ปรากฏว่าหีบพล้าสติกฝ้าแตกต่อหน้า เจ้าตัวอ้างว่า “ผมทุ่มแรงไปหน่อย” ได้ที่ http://www.matichon.co.th/news/233762)

ด้าน คสช. ที่พยายามผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บอกว่าร่างอย่างสุดฤทธิ์ สุดฝีมือ นี้ผ่านฉลุยด้วยการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ในทางร้ายทุกอย่าง พร้อมทั้งใช้วิธีการจับกุม ฟ้องร้อง และสกัดกั้น ผู้แสดงความเห็นต่อต้านดะไปหมด

จนทำให้เห็นว่าจะแจ้งยิ่งขึ้นทุกวันเมื่อใกล้กำหนดการออกเสียงประชามติวันที่ ๗ สิงหาคมเข้ามา ว่ากระแส ‘ไม่รับ’ ชักจะกลบลบเสียงตอบรับเสียแล้ว

ดูจากเหตุชี้เบาะแสในช่วงสองวันที่ผ่านมา เรื่องหนึ่งวันที่ ๒ สิงหาคม จังหวัดแพร่จัดเวทีแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยครู ก ข ค แต่ครู ก. บางรายถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม มีการตรวจสกรีนผู้เข้าฟังอย่างเข้มงวด ใช้กำลังตำรวจรักษาการเต็มพรึ่บกว่า ๔๐ นาย

จนปรากฏว่าทั้งงานมีผู้เข้าฟังไม่ถึงร้อย จนต้องเกณฑ์นักศึกศึกวิทยาลัยเทคนิคแพร่ไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ

มิหนำซ้ำมีการห้ามสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว ไม่อนุญาตให้ทำการบันทึกเสียง และสั่งปิดระบบถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งไว้ให้ประชาชนภายนอกรับชมกันไปเสียสิ้น

(http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php…)







นับว่าเป็นผลงานการจัดทำประชามติของบรรดากรรมการออกเสียงประชามติที่ ไม่โปร่งใส ขาดแคลนสมรรถภาพ และภววิสัยสั้นอย่างยิ่ง

แม้กระทั่งการจัดทำคู่มือการออกเสียงในภาคภาษาอังกฤษ ก็มีคนรายงานประจานว่า ในสมุดพกหนา ๑๐๒ หน้านั้น เป็นหน้าว่างเปล่าปราศจากข้อความเสีย ๖๓ หน้า จนเป็นที่น่าสงสัยว่าผู้รับเหมาพิมพ์แถมกระดาษเหลือตัดให้อีกเกือบสี่สิบหน้าหรือไร

อีกกรณี จากการที่นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ไปแถลงข่าวร่วมกับ ๑๖ องค์กร ๑๑๗ คน

“ให้การลงประชามติโปร่งใส ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างครบถ้วน” เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม อีกทั้งเรียกร้องให้ “ประกาศต่อประชาชนเพื่อความชัดเจนได้ว่าหากประชามติไม่ผ่านจะมีกระบวนการอะไรต่อเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ” นั้น

กลับกลายเป็นเหตุให้ กกต. “ส่งหนังสือตักเตือน” ไปยังอธิการบดี ม.มหิดล ว่า “หน่วยงานในสังกัดวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง” และ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล “ได้ตักเตือน และขอให้ยุติการกระทำแล้ว”

(http://www.matichon.co.th/news/230168)

แม้จะมีเสียงสะท้อนออกมาทางสื่อไซเบอร์ว่า นพ.อุดม มีพื้นภูมิเป็นผู้สนับสนุน กปปส. ซึ่งร่วมในการ ‘เป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ’ เบิกทางให้คณะทหารออกมายึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง เมื่อครั้งยังเป็นคณะบดีแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ตาม







แต่การลุกล้ำเข้าไปกีดกั้นการแสดงความเห็นต่างๆ นานาต่อร่าง รธน. ที่ไม่ได้มาจาก กรธ. หรือฝักฝ่ายของ คสช. ก็สามารถบ่งบอกทิศทางของผลประชามติได้ไม่มากก็น้อย ในเมื่อพยายามที่จะอุดรูรั่วพัลวัลเช่นนี้ เห็นทีจะกำลังหมดท่าเสียทีเป็นแน่

ลางร้ายอีกอย่างในทางไม่ดีนักสำหรับประชาชน เมื่อ ‘หีบแตก’ เป็นการชี้แนะว่าหีบบัตรไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงดั่งคุย มันอาจถูกทุบแตก และเปลี่ยนแปลงผลลัพท์ภายในได้

ในเมื่อ คสช. ออกกฎเป็น พรบ. ให้ กกต. กำกับการออกเสียงอย่างจำกัดจำเขี่ย (ภาษาปะกิตว่า rigid) ไปเสียหมด ห้ามผู้สื่อข่าวทำนายผลหน้าคูหา (ที่เรียกในโลกตะวันตกว่า exit polls) จนกว่า กกต. จะแถลงเองในอีก ๓ ชั่วโมงหลังจากปิดคูหา

การสั่งปิดสถานี ‘พี้ชทีวี’ ของ นปช. ที่เตรียมการตรวจสอบผลประชามติโดยตั้งศูนย์ปราบโกง ก็ชี้ให้เห็นเจตนาของ คสช. ผู้จัดทำประชามติครั้งนี้ว่ามุ่งหมาย ‘กำจัด’ ผู้ที่ต้องการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส

ถ้าคราวนี้ผ่าน ไม่ใช่เพราะประชาชนหลงเชื่อว่าผ่านไปก่อนแล้วแก้ทีหลังได้เหมือนครั้งก่อน

ครั้งนี้ผ่านแล้วผ่านเลย ทางแก้ยากลากเลือด แล้วยังไว้ใจการนับคะแนนไม่ได้

ขนาดหีบพล้าสติกสีขาวฝ้ายังแตก นับประสาอะไรกับการนับคะแนนในมุมมืดปลอดจากสายตาสื่อมวลชน