จบกัน ท่องเที่ยวไทยไม่ ‘บูม’ แล้วละ นักวิจัย ‘ไฟแน้นเชียล ไทมส์’ รายงานแย้ง ‘กอบกาญจน์’
แดน กัลลุคชี นักวิจัยเศรษฐกิจของนิตยสาร Financial Times เขียนรายงาน ‘FT Confidential Research’ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคมที่ผ่านมาว่า
“การเติบโตขนานใหญ่ของการท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว อุตสาหกรรมด้านนี้จะยังคงเป็นภาคส่วนธุรกิจที่ดีที่สุดของประเทศต่อไป แต่จะไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างเคย”
“ขณะที่ความต้องการพักผ่อนในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจากจีนยังคงมีมาก แต่ก็จะไม่อาจเทียบเท่าการเติบโตในช่วงปี ๒๕๕๔ ถึง ๒๕๕๘ ได้
อัตราการเพิ่มของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยตกไปอยู่ที่ ๑๓.๒ เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สองของปีนี้ ดึงให้อัตราการเติบโตของทั้งปีต่ำลง ภาคส่วนอุตสาหกรรมด้านนี้ยังต้องอาศัยการผลักดันให้ยอดการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น (เพื่อมาทดแทน) ต่อไป”
“ขณะที่การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอ่อนแรงลง เศรษฐกิจไทยยิ่งเสี่ยงต่อการขาดประสิทธิภาพมากขึ้น
ในเมื่อภาคส่วนธุรกิจชนิดนี้มีผลกระทบมากเกินไปกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยที่ไตรมาสแรกของปีนี้มีขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ ถึงจำนวน ๑๓.๒ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทีเดียว” (GDP=Gross Domestic product)
รายงานชี้ว่า หลังจากที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตของท่องเที่ยวไทยถดถอยไป ในไตรมาสที่สองของปี ๒๕๕๙ จำนวนคนเดินทางเข้าไปเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นในอัตราเฉื่อย ต่ำแค่ ๘.๒ เปอร์เซ็นต์ปีต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเสื่อมคลาย
ไฟแน้นเชียลไทมส์ระบุด้วยว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวหนึ่งในสิบอันดับต้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วไทยอยู่ในอันดับ ๖ ของโลก ด้านรายได้จากการท่องเที่ยว และอันดับ ๑๑ ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
“จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจากปี ๒๕๕๔ สู่ปี ๒๕๕๘ จาก ๑๕.๙ ล้านคนเป็น ๒๙.๙ ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ต่อปีขณะนี้มากกว่า ๑.๔ ล้านล้านบาท หรือ ๔๐.๕ พันล้านดอลลาร์”
(https://next.ft.com/co…/8a71c4b6-599c-11e6-9f70-badea1b336d4)
ขณะที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว. ท่องเที่ยวเพิ่งแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคมนี้ว่า “ปีนี้การท่องเที่ยวเติบโตทุกไตรมาส
เช่นเดียวกับไตรมาส ๒ มีรายได้ ๕.๗๑ แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๑.๘๙% โดยตลาดต่างประเทศมีการเพิ่มเชิงจำนวน ๘.๒๓% เป็น ๗.๕๕ ล้านคน แต่รายได้กลับเพิ่มขึ้นถึง ๑๓.๒% เป็น ๓.๖๒ แสนล้านบาท”
(http://www.posttoday.com/biz/gov/446077)
รัฐมนตรีท่องเที่ยวของไทยอ้างว่า “แนวโน้มไตรมาส ๓ ซึ่งตรงกับนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ก.ค.-ก.ย. คาดว่าจะมีรายได้ทางการท่องเที่ยว ๕.๙ แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๐% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”
ดูเหมือนว่าการทำนายสภาพการณ์เบื้องหน้า หรือ projections จะสวนทางกับการวิจัยของไฟแน้นเชียลไทมส์อย่างเกือบสิ้นเชิง
FT Research ยกเอาตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ชี้ว่าเป็น ‘slower growth’ นั่นคือเพิ่มเพียงจิ๊บจ้อย จาก ๑๖.๔ เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน เป็น ๑๐.๖ ในเดือนพฤษภา และ ๑๓ ถ้วนในเดือนมิถุนายน
การถดถอยลงในอัตราเพิ่มของนักท่องเที่ยวจีน จะไปดึงให้การท่องเที่ยวไทยหงอยลงจากที่เป็นอยู่แล้ว เมื่อการเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีนผ่อนคลายลงในระยะครึ่งปีแรกของปีนี้เหลือ ๘.๓ เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ๘.๘ เปอร์เซ็นต์
ซึ่งดูจะต่างกับข้ออ้างของทางการไทยชนิดหัวกับก้อย “ตลาดหลักอย่างจีนและอาเซียนยังเติบโตสูง โดยจีนเติบโต ๑๓.๓๘% ตลาดยุโรปเติบโต ๑๐.๖๗% อาเซียนเติบโต ๖.๓๔% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” นางกอบกาญจน์อ้างในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒ ส.ค.
“ที่จริงแล้ว ในระยะ ๖ เดือนแรกของปีนี้ รายได้การท่องเที่ยวที่ไทยได้รับโดยตรงจากนักท่องเที่ยวจีน อยู่ที่ ๔ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย” นายแดน กัลป์ลุคชีอ้างไว้ในบทความไฟแน้นเชียลไทมส์ของเขา
อัตราจีดีพี หรือการเติบโตของผลิตผลมวลรวมในประเทศของไทยนั้น ขยายตัว ๓.๒ เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ การที่คณะทหารฮุนต้าทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผลเหนือการคาดหมายของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจนานาชาติ
สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของไทยคาดหมายว่า ปีนี้ทั้งปี จีดีพีของไทยจะโตในระหว่าง ๓ เปอร์เซ็นต์ ถึง ๓.๕ แต่ไฟแน้นเชียลไทมส์กลับทำนายว่า ถึงจะเพิ่มในเกณฑ์ดังกล่าวก็ยังจะอยู่ในจุดต่ำสุดของอัตราเพิ่มที่ทางการไทยอ้าง คือค่อนมาทาง ๓ เปอร์เซ็นต์ถ้วนๆ
“ความเสี่ยงทางการเมืองที่ถูกทำให้สูง ด้วยความไม่แน่นอนของการออกเสียงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคมนี้ จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไม่ยอมโต
เพราะความไม่มั่นคงในทางการเมือง เป็นปัจจัยหน่วงเหนี่ยวความมั่นใจของผู้บริโภค”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พูดเมื่อวานนี้อีกว่า ถ้าประชามติไม่ผ่าน ตนก็จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมใหม่อีกต่อไป อันนี้แหละจะเป็นปัจจัยหน่วงเหนี่ยวความมั่นใจของผู้บริโภค ที่ทำให้เศรษฐกิจจมปลักไม่กระเตื้องได้
ถ้าครั้งนี้ไม่ผ่านอีก ก็เท่ากับพล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวถึงสองครั้งสองครา (ฟังประชาชนเสียหน่อยก็สิ้นเรื่องไปนานแล้ว) ในแวดวงเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นจุลภาค มหภาค ไม่มีที่ไหนทนให้พลาดพลั้งสองครั้ง
ถ้าประยุทธ์บอกว่า ‘ถ้าไม่ผ่านผมไปแน่’ นั่นสิจะสร้างความมั่นใจแก่ภาคเศรษฐกิจไทยมากกว่า