ว่าด้วยการทำประชามติ
เมื่อวาน (9 มิย.59) ได้เข้าร่วมเสวนา “เหลียวประชามติสากล แลประชามติไทย” เนื่องในวันครบรอบ18 ปี คณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอนำประเด็นที่พูดมาแบ่งปันในนี้ เนื้อหาแบ่งเป็น 3 ส่วน
1.ประสบการณ์การออกเสียงประชามติในต่างประเทศ
1A. ประชามติเรื่องนโยบาย สวิตเซอร์แลนด์เพิ่งทำประชามติว่าจะให้มีหลักประกันด้านรายได้ขั้นต่ำเดือนละประมาณ 90,000 บาทต่อหัวสำหรับผู้ใหญ่และประมาณ 22,000 ต่อหัวสำหรับเด็กหรือไม่ ผู้ออกเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
1B. ประชามติในระดับท้องถิ่น ประชามติสำหรับชาวสวิสสามารถทำได้ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น เช่น ประชามติว่าควรยกเลิก “กฎหมายฆ่าตัวตายโดยมีผู้ช่วย” (assisted suicide) หรือไม่ เกิดขึ้นในมลรัฐซูริค
1C. ประชามติเพื่อถอดถอนบุคคล ในปี 2004 เวเนซูเอล่า ทำประชามติถามว่าจะถอดถอนประธานาธิบดี Hugo Chavez หรือไม่ ชาวเวเนซูเอล่าประมาณ 59% ลงประชามติไม่ถอดถอน โดยมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนสูงถึง 30%
1D. ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุทางการเมือง ปี 2016 ชาวโบลิเวียทำประชามติว่าเห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประธานนาธิบดีและรองประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 จากเดิมมีวาระเพียง 2 สมัยหรือไม่ ผลประชามติคือ ไม่เห็นชอบ
1E. ประชามติเพื่อการปฎิรูปการเมือง (Political Reform Referendum) สเปน ในปี ค.ศ. 1976 ถามว่าเห็นชอบกฎหมายปฎิรูปการเมืองที่จะเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการหลังยุค Francisco Franco มาเป็นระบอบ Constitutional Monarchy หรือไม่ ชาวสเปน เห็นชอบมากถึง 94 %
1F. ประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวในอียิปต์ หลังการโค่น Mubarak ในปี 2011 และล้มประธานาธิบดี Morsi ที่มาจากการเลือกตั้ง นายพล Abdel Fatah al-Sisi จัดให้มีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในปี 2014 Transparency International รายงานว่าการทำประชามติเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม สื่อทุกแขนงสำนักถูกระดมให้สนับสนุนการโหวตรับร่าง ขณะที่ฝ่ายค้านถูกจับกุม และมีคนตาย ถึงแม้จะมีการบอยคอตโดยฝ่ายต่อต้านและมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 38.6 % แต่ผลลัพธ์คือ 98% เห็นชอบ (ผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปประมาณ 50%) ต่อมา Sisi ลงสมัครรับเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีในปัจจุบัน
1G. ขั้นตอนทำประชามติในสหรัฐอเมริกา ทำได้เฉพาะในระดับมลรัฐ เมือง และท้องถิ่น ไม่มีการทำประชามติในระดับชาติ โดยรัฐต้องจัดทำประชาพิจารณ์ (Public Hearings) ในทุกเขตเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งไม่เกิน 8 อาทิตย์ และเผยแพร่เนื้อหาที่จะทำประชามติในหนังสือพิมพ์อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ก่อนการเลือกตั้งเป็นเวลา 3 อาทิตย์ ผลประชามติผูกมัดและบังคับใช้ภายใน 30 วัน**
การกำหนดจำนวนคะแนนเสียงชี้ขาด ทำได้หลายลักษณะเช่น เสียงข้างมากธรรมดา เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง เสียงข้างมากธรรมดาแต่ผู้มาใช้สิทธิต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ใช้เสียงข้างมากของประชาชนทั้งในระดับชาติ และประชนในระดับมลรัฐมากกว่าครึ่งหนึ่งของมลรัฐทั้งหมด เรียกว่าเสียงข้างมาก 2 ระดับ (Double Majority) เช่นในสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย หรือ ใช้เสียง 2 ใน 3 ส่วนการใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เคยปรากฎ (ยกเว้นที่เป็นข้อถกเถียงในประเทศไทย)
2.การอออกเสียงประชามติ มาจากฐานคิดว่า เนื่องจากประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึง “มอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไวที่ประชาชน” มีหลักการสำคัญคือ
2A.เรื่องที่จะจัดทำประชามติต้องมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชน ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย เท่านั้น เป็นเรื่องนโยบายหรือโครงการก็ได้
2B.ข้อความที่จะขอความเห็นต้องชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถตัดสินใจ ประชามติสหราชอาณาจักรที่จะจัดในวันที่ 23 มิถุนานี้ ถามกันตรง ๆ ว่า เห็นชอบให้สหราชอาณาจักรอยู่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อ หรือให้ออกจากสหภาพยุโรป? (อังกฤษปิดหีบเลือกตั้ง 4 ทุ่ม และรัฐให้เงินสนับสนุนทั้งฝ่ายโหวต Yes และ No อย่างเท่าเทียมกัน ใช้งบประมาณรณรงค์ทั้งหมดไม่เกิน 7ล้านปอนด์)
**คำถามพ่วงของไทย ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" อาจแปลงให้ง่ายขึ้นด้วยการถามว่า>>>“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าให้วุฒิสภาที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
2C.ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน **องค์กรที่เป็นผู้จัดไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการเผยแพร่ รณรงค์ ให้ความรู้ หรือชักจูงให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ
เพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ซึ่งเผยแพร่โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากมีเนื้อหาเชิงสั่งสอนดูแคลนว่าอย่าให้เขาหลอก อย่าให้เขาชี้นำแล้ว ข้อความ “รัฐธรรมนูญเป็นกติกา นำมาซึ่งรากฐานแห่งการปรองดอง รักกันฉันท์พี่ ฉันท์น้อง สังคมปรองดองมั่นคงอบอุ่น บ้านเมืองจะก้าวรุดไป เราต้องร่วมมือร่วมใจค้ำจุน” อาจถูกวิจารณ์ได้ว่าเป็นการโน้มน้าวจูงใจให้รับร่างรัฐธรรมนูญ กกต. ซึ่งเป็นผู้จัด ก็จะสูญเสียความเป็นกลาง
นั่นคือ เหตุผลว่า ในสากลประเทศ องค์กรจัดการเลือกตั้งจะไม่แสดงตนเป็นผู้รณรรงค์ แต่จะจำกัดบทบาทเป็นเพียงผู้จัดการเลือกตั้งโดยแท้
2D.ต้องให้ประชาชนทราบทางเลือกและผลที่ตามมาของการตัดสินใจ **ถ้าไม่รับจะเกิดอะไรขึ้น??
2E. ผลของประชามติมีทั้งแบบให้คำปรึกษา และมีผลผูกมัด หากมีผลผูกมัด ควรมีผลโดยเร็ว **หลัง รธน ผ่านประชามติ บทเฉพาะกาลมาตรา 265 ยังคงอำนาจ คสช.ตาม รธน.ชั่วคราว (2557 และ แก้ไขเพิ่มเติม 2558) อยู่เต็ม จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะรับหน้าที่ ผลก็คือ รธน และ คำสั่งของ คสช. เช่น มาตรา 44 และ 13/2559 จะดำรงอยู่คู่กัน ดังนั้น การผ่านประชามติไม่ได้ทำให้ รธน. 2559 มีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาดในทันที
2F. ข้อเสียของการทำประชามตินอกจากจะใช้ระยะเวลานาน (สวิตเซอร์แลนด์และอีกหลายประเทศกำหนดชัดเจนว่าต้องมีเวลารณรงค์ 18 เดือน) และสิ้นเปลืองงบประมาณแล้ว ยังอาจทำให้เกิดเผด็จการเสียงข้างมาก (Tyranny of the Majority) เช่น การไม่ให้สร้างหอเรียกคนสวดมนต์ในสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นการละเมิดสิทธิชาวมุสลิม หรือการที่สิทธิเลือกตั้งของสตรี สวิสเพิ่งได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติในปี 1971
3.บทวิเคราห์ประชามติไทย
ประชามติปี 2550 มีผู้ใช้สิทธิ์ 57% ต่ำกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2548 (72%) เลือกตั้งปี 2550 (74%) และ เลือกตั้งปี 2554 (75%)
ภาคเหนือไปใช้สิทธิมากที่สุด (62%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้สิทธิน้อยที่สุด (54%)
ผลการลงประชามติ เห็นชอบ 56% ไม่เห็นชอบ 41% บัตรเสีย 1.9% ภาคใต้เห็นชอบมากที่สุด 86% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นชอบน้อยที่สุดเพียง 36%
งานวิจัยที่ผู้เขียนทำ พบว่าประชามติปี 50 ประชาชนที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่าอยากให้เลือกตั้งโดยเร็ว 78.6% เพราะทำหน้าที่พลเมือง 52% และสนับสนุนรัฐประหาร 19%
ส่วนผู้ไม่รับ ให้เหตุผลหลักคือต่อต้านรัฐประหาร 52.5% และไม่ชอบเนื้อหารัฐธรรมนูญ 46%
ผู้โหวตไม่รับ เลือก พลังประชาชน 70% เลือก ปชป 17%
Siripan Nogsuan Sawasdee