วันอังคาร, มิถุนายน 14, 2559

กระบวนการสุมไฟความเกลียดชังอดีตนายกฯหญิงตระกูลชินวัตร มิได้เจือจางลงไปแม้แต่น้อย ความหวังใดๆ ว่าประเทศจะมีการปรองดองนั้นดูจะยากยิ่งและยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ความกินดีอยู่ดีไม่อาจกลับมาได้โดยไว ตราบเท่าที่สังคมยังคอยตั้งหน้าห้ำหั่นกันอยู่





เห็นข่าวนักบินผู้ช่วยนกแอร์ ‘ทำห่าม’ โพสต์ข้อความ “เหยื่อ (มาแล้ว) on board” เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับคณะจะขึ้นเครื่องจากแพร่ และเพื่อนไลน์ นักบินฝึกหัดแอร์เอเชีย ‘ไร้วุฒิภาวะ’ อีกคนโพสต์ตอบให้ทำ ‘ซีฟิท’ (CFIT) หรือ ‘control flight into terrain’ อันเป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการบินในความหมายสะแลงว่า ‘โหม่งโลก’ เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างหนักเมื่อวาน

แล้วได้แต่ปลง

ปลงเพราะประการหนึ่ง กระบวนการสุมไฟความเกลียดชังอดีตนายกฯ หญิง อันต่อเนื่องไปถึงพี่ชายของเธอ อดีตนายกฯ ชาย และตระกูลชินวัตร กับเครือข่ายทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่เรียกกันว่า ‘ระบอบทักษิณ’ มิได้เจือจางลงไปแม้แต่น้อย

ทำให้ความหวังใดๆ ว่าประเทศจะมีการปรองดองนั้นดูจะยากยิ่งและยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ทั้งที่คณะรัฐประหาร คสช. ผู้ครองอำนาจขณะนี้จะสามารถทำให้สถานการณ์สงบราบเรียบได้ในฝ่ายหนึ่ง (เสื้อแดง) ก็เถอะ

สภาพแตกแยกไม่เหือดหายเช่นนี้ส่งผลไปถึงการฟื้นฟูภาวะปากท้องของประชาชนโดยตรง ความกินดีอยู่ดีไม่อาจกลับมาได้โดยไวตราบเท่าที่สังคมยังคอยตั้งหน้าห้ำหั่นกันอยู่

นักบินแสดงอคติออกนอกหน้า บุรุษห่มเหลืองนักก่อม็อบ/ตบทรัพย์คนหนึ่ง ยังสามารถก่อกวนแวดวงศาสนจักรให้ปั่นป่วนไม่ลดละหรือยอมปล่อยวาง ชี้ถึงสภาพสังคมเน่าหมักหมมมีแต่ความไม่ไว้วางใจกัน ไม่ใช่พื้นฐานที่ดีกับการผลักดันให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูได้

ได้ฟัง อจ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในมติชนทีวี วานนี้แล้วยิ่งเห็นแจ้งเข้าไปอีก

(https://www.youtube.com/watch?v=trWFCiBjft8&feature=youtu.be)





ทั้งที่เศรษฐกิจมหภาคในด้านการลงทุนเริ่มตีตื้นขึ้นมาบ้าง ดังที่ อจ.พิชิตชี้ว่า ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศตามสถิติบีโอไอ กลับมาเป็นบวกชัดเจน ๓ เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่การลงทุนในประเทศก็เป็นบวกเช่นกัน ขึ้นมา ๒ เปอร์เซ็นต์ หลังจากดิ่งต่ำและติดลบต่อเนื่องมาสองปีนับแต่คณะประยุทธ์-ประวิตรทำรัฐประหาร

แต่ว่ายังไม่สามารถทำให้เกิดความอุ่นใจได้เพราะจะดีจริงต้องดีกว่านี้หลายเท่าตัว

ดร.พิชิต ยกตัวอย่างช่วงที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีจริงๆ ตอนก่อนรัฐประหาร ๒๕๔๙ ย้อนขึ้นไปนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ ๔-๕ เปอร์เซ็นต์สม่ำเสมอ เพราะการลงทุนอยู่ในเกณฑ์โตมากถึง ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์





โดยเฉพาะการกระตุ้นภายใน (ที่ก่อนหน้านี้ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะบดีเศรษฐศาสตร์ มธ. ให้สัมภาษณ์มติชนทีวีเช่นกันว่า ภาครัฐอัดเงินลงสู่กระแสหมุนเวียนเศรษฐกิจแล้ว ๗ แสนล้านบาท) จะไม่ได้ผลเต็มที่ตราบเท่าที่ต่างประเทศยังแคลงใจ ไม่กล้าตัดสินใจลงทุน

(https://www.youtube.com/watch?v=e6spfiRj7GE)

สภาวะเศรษฐกิจภายในซึ่ง “ในด้านหนึ่งแบงก์ต้องเผชิญปัญหาสภาพคล่องล้น แต่ภาคธุรกิจกับส่งสัญญาณว่ากำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องฝืด” กับแผนการขึ้นอัตราภาษีหักที่จ่าย VAT เป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เว้นแต่จะเลือกจ่ายทาง อี-เพย์เม้นต์ของรัฐบาล

ยิ่งเป็นสภาพที่เรื่องการกระตุ้นภายในยังเป็นไปไม่ได้ ส่วนที่ คสช. ดึงเงินออกมาอัดฉีดไปแล้วอย่างดีก็ละลายแม่น้ำ อย่างร้ายสูญเปล่า







จากรายงาน น.ส.พ.มติชนเรื่อง “การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็แทบไม่มีการเติบโต โดยเฉพาะหลังจากที่ช่วงไตรมาส ๑/๒๕๕๙ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายต่างเผชิญกับปัญหาตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยับพุ่งขึ้นมา จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างคุมเข้ม”

(http://www.matichon.co.th/news/172516)

ส่งผลไปถึงการลงทุนภายในไม่ขยับ “สองปีได้พิสูจน์แล้วว่า มันไปได้แค่นี้ คือโตแค่ ๒-๓ เปอร์เซ็นต์” ดร.พิชิตกล่าวตอนหนึ่ง

ปัจจัยถ่วงอันสำคัญในกรณีประเทศไทยขณะนี้ ที่ ดร.พิชิต และ ดร.พรายพล เห็นพ้อง อยู่ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในสายตาของต่างประเทศ ทำให้ยังไม่มีการลงทุนกลับเข้ามา แม้จะมีคำร้องขอลงทุนอยู่บ้างก็ต้องใช้เวลาเป็นปีหรือกว่า จึงจะปรากฏตัวเงินลงมาจริง

นั่นก็คือภาวะทางการเมืองที่ต่างชาติหวั่นเกรงว่าประเทศไทยจะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งแท้จริงได้เมื่อไรแน่

เพียงแต่ คสช. เสนอร่าง รธน. ให้มีประชามติประทับตรารับรอง และอ้างว่าพร้อมจัดเลือกตั้ง ไม่เพียงพอในเมื่อร่าง รธน. ไม่ได้แสดงว่าจะไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงจัง แถมการเลือกตั้งถ้ามีก็ยังเปิดช่องให้ คสช. และคนในกลุ่มกุมอำนาจต่อไปอีก

ดร. พิชิต ยกตัวอย่างกรณี คสช. ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่มี ม.๔๔ ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ตัวเอง ไม่ได้ทำให้ต่างชาติเห็นหรือแม้แต่เชื่อว่าวิธีการปกครองอย่างเผด็จการของ คสช. หมดไป

(ซ้ำร้ายการจับกุมนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ การตั้งข้อหาร้ายแรง ม.๑๑๒ ต่อผู้แสดงความเห็นค้าน คสช. ล้วนเป็นหลักฐานฟ้องชัดเจน)

“ความสงบอย่างเดียวไม่พอ เขาต้องมองอนาคตอีกปีหรือสองปี” ดร.พิชิตกล่าวตอนหนึ่ง “ณ ขณะนี้ ต่างชาติไม่ได้ดูว่าเลือกตั้งแล้วจบ เขาดูว่าจะต่อไปอย่างไร”

ซึ่งตรงกับที่ ดร.พรายพลแนะว่า คสช.ควรแจ้งให้ชัดเจนว่าถ้าประชามติไม่ผ่านแล้วรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะทำอย่างไรต่อไป ที่จะกลับไม่สู่การเลือกตั้งและรัฐบาลอันมาจากประชาชนโดยเร็วได้

ไม่เช่นนั้นต่างชาติก็จะยังคงไม่มีความมั่นใจที่จะกลับมาลงทุนใหม่ “เพราะได้มีการเลื่อนมาแล้วหลายอย่าง” ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และรัฐบาลจากพลเรือน